ทำไมการเลือกตั้งปี 2566 ประชาชนควรสนใจพรรคเล็กมากขึ้น | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

หากไม่มีข้อผิดพลาดใด การเลือกตั้งทั่วไปน่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

สิ่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคเริ่มเดินหน้าคือแนวคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง

การหมกมุ่นว่าจะทำอย่างไรให้ได้คะแนนเสียง และจำนวน ส.ส.มากที่สุด นับเป็นเรื่องปกติ

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ พรรคการเมืองเริ่มลดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคม ลดเป้าหมายในการผลักดันนโยบายที่แหลมคม เหลือเพียงพูดในสิ่งกลางๆ ที่จะไม่โดนวิจารณ์และกลัวการเสียคะแนนคนกลางๆ

จนเป็นเรื่องน่าคิดว่า สุดท้ายพรรคการเมืองที่เป็นภาพสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมือง พากันลดเพดานกันหมดเพื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

แล้วประชาชนเราจะเหลือเศษอะไรที่ได้จากการเลือกตั้ง

 

สภาพปัจจุบันหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “การเกิดพรรคกลางใหญ่” ขึ้นหลายพรรค ซึ่งมีโอกาสการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่มีความน่าจะเป็นน้อยกว่า 30% ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ที่ลดขนาดจากพรรคใหญ่ลงมา)

พรรคกลางใหญ่มีแนวโน้มในการออกนโยบายที่มีความท้าทายต่อคนกลางๆ น้อยลง เพราะฐานผู้สนับสนุนอาจจะยังไม่ชัดเจน

ขณะที่พรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ อาจมีนโยบายที่ชัดเจน แต่ก็อาจเลี่ยงในการปะทะเพราะตนเองก็มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้ง

แต่ถ้าเส้นทางการเมืองพัฒนาไปทางนี้ ก็จะพบว่า สุดท้ายแนวนโยบายก็อาจไม่ต่างกันมากนัก ความแหลมคมย่อมหายไป

เช่นนั้น เราในฐานะประชาชนทั่วไป หากต้องการให้สนามการแข่งขันทางการเมือง มีความแหลมคมมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่ตื่นตัว สนใจการเมืองเป็นทุนเดิม

เรามีทางเลือกอะไรมากกว่าการเป็นแค่ “แฟนคลับ” ของพรรคการเมืองเหมือนเชียร์ฟุตบอลได้หรือไม่

 

ผมเสนอว่าการทำให้สมการเปลี่ยนแปลง สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ควรให้พื้นที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก ทั้งในแง่ของการติดตาม สนับสนุน และนำข้อเสนอสู่การถกเถียงมากขึ้น

จะทำให้สมการหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

โดยผมลองฉายภาพให้เห็น พรรคเล็กที่น่าสนใจในประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ ที่พรรคใหญ่ยังพูดอย่างกล้าๆ กลัวๆ แต่ถูกนำเสนอโดยพรรคเล็กไปอย่างชัดเจนมาก่อนหน้า

พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แม้หัวหน้าพรรคจะเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในปี 2562 แต่การตั้งพรรคใหม่เอง ก็นับว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย

พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคแรกที่ชูนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ล้อกับข้อเสนอของภาคประชาชน ที่ถูกปัดตกโดยรัฐบาล โดยพรรคชูให้เป็นนโยบายหลักของพรรค

แม้จะยังมีข้อถกเถียงว่า นโยบายดังกล่าวมีลักษณะถ้วนหน้า หรือยังพิสูจน์ความจน ซึ่งเชื่อว่าไม่นานพรรคน่าจะมีความชัดเจนเรื่องการสื่อสารนโยบายจุดนี้

พรรคประชาชาติ มี ส.ส.ในสภา 7 คน โดยมีฐานคะแนนความนิยมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยวันมูหะมัดนอร์ มะทา และทวี สอดส่อง มีจุดยืนที่ชัดเจนอย่างมากเรื่องการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี พร้อมค่าครองชีพ รวมถึงเรื่องการทบทวนและล้างหนี้ กยศ.

โดยผลักดันให้เป็นนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน โดยใช้หลักการการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี แบบในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

และการล้างหนี้ตามแนวทางที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตามแนวทางของโจ ไบเดน

พรรคเพื่อชาติ ได้มีการรีแบรนด์และตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง นำโดยปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช อดีตประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด โดยมีนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนหนึ่งเข้าร่วมก่อร่างสร้างพรรค

ไม่ว่าจะเป็น รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ นักเคลื่อนไหวที่ผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

พรรคเพื่อชาติมีแนวนโยบายสำคัญในการมุ่งผลักเพดานที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องเด็ก ครอบครัว การศึกษา ทั้งในมิติสวัสดิการและคุณภาพสำหรับแม่ เด็กแรกเกิด และนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคเป็นธรรม ที่เปิดตัวรองโฆษกพรรค อย่างยามารุดดิน ทรงศิริ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผลักดันประเด็นการล้างหนี้ กยศ. รัฐสวัสดิการ และสันติภาพ

โดยนโยบายหลักของพรรคมุ่งไปที่ประเด็นสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

 

เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงพรรคเล็ก จึงไม่ใช่แค่เรื่องคะแนนตกน้ำ ไม่ถูกนำมานับ

แต่การที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนต่างๆ ใส่ใจนโยบายของพรรคเล็ก จะช่วยทำให้เกิดการถกเถียงของเรื่องนั้น

ซึ่งแม้อาจไม่ได้นโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดตามที่พรรคเล็กเสนอ แต่จะเป็นการเขย่าเพดานของผู้คนในสังคม ให้เกิดการถกเถียง และรัฐบาลย่อมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อรับข้อเสนอนั้นก็เป็นได้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณานอกจากการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ คือการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจในสังคมตามมิติต่างๆ ในระยะยาว

และเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน