สถานการณ์พลิก | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

“สภาผู้แทนราษฎร” ชุดปัจจุบัน อยู่ในโซนสุดท้าย อีกแป๊บเดียวจะครบเทอม 4 ปี “รัฐสภา” จะเหลือแต่ “วุฒิสภา” ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 250 คน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียงส่วนเดียว ซึ่งมีที่ไปที่มา 3 ประเภท

องค์ประกอบของ “วุฒิสมาชิก” มีที่ไปที่มา 3 ช่องทางด้วยกัน

1. เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ “ผู้บัญชาการทหารบก-ผู้บัญชาการทหารอากาศ-ผู้บัญชาการทหารเรือ-ผู้บัญชาการทหารสูงสุด-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ-ปลัดกระทรวงกลาโหม”

2. “ส.ว.” ที่มาจากการคัดเลือกกันเองจำนวน 50 คน โดยมีกระบวนการได้มาคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดรับสมัครบุคคลจาก 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ แล้วเลือกกันเองจนเหลือ 200 คน

จากนั้น กกต.จะส่งรายชื่อทั้ง 200 คนให้ “คสช.” หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 50 คน

3. “ส.ว.” ที่ คสช.คัดเลือกโดยตรงตามบทเฉพาะกาล ในมาตรา 90 ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า “ให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว.คณะหนึ่งซึ่ง คสช.แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางด้านการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่ควรเป็น ส.ว.มาจำนวนทั้งสิ้น 400 คน จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 400 คนนี้ให้ คสช.เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 194 คน โดยคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 ในขณะนั้นจำนวน 10 คน ประกอบด้วย

1. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2. “นายพรเพชร วิชิตชลชัย” 3. “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” 4. “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” 5. “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” 6. “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” 7. “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” 8. “นายวิษณุ เครืองาม” 9. “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” 10. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา”

โดย ส.ว.ที่ได้รับแต่งตั้ง ที่ คสช.ปั้นมาเองกับมือ มีนายทหาร-ตำรวจ และอดีต รวมแล้ว 104 คน ที่เหลือจับคนเก่ามาเวียนเทียน “ตีนบวม” กันใหม่ จากอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. 71 คน สมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ 24 คน และคณะรัฐมนตรี 20 คน

“บทบาท-หน้าที่ของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล” ติดตามเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การจัดทำดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ-การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้

และ “การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ในการคัดเลือกวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ยกเว้นโดยตำแหน่ง 6 ที่นั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศส่งชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคำรบ กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และผู้ท้าชิงนายกฯ คนที่ 30 ที่ต้นสังกัดพลังประชารัฐส่งเข้าประกวด มีบทบาทเชิงประจักษ์สูงมาก

2 ป. ชิงเอง ชิมเอง แต่งตั้งมากับมือ

 

บัดนี้โลกตาลปัตร สถานการณ์พลิกข้ามสาย “2 พี่น้อง” ที่รู้ความลับ ความอ่าน รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ระหว่าง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ร่วมเป็นร่วมตายกันมายาวนาน ใกล้ชิดกันมากที่สุด อำนาจทางการเมืองเป็นปฐมเหตุ มิตรแปรสภาพเป็นศัตรู เข้าตำรา “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” ซึ่งทั้งคู่ได้ประกาศเจตนารมณ์ แยกกันเดินชัดเจน เพื่อตะกายคว้าดาวดวงเดียวกัน คือ “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป

ตาม “บทเฉาะกาล” ล็อกกระดานไว้ชัดเจน ถึงบทบาท-หน้าที่ของ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเต็มเพื่อร่วมด้วยช่วยกัน “การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ศึกเลือกตั้งครั้งที่แล้ว “ส.ว.ชุดนี้” โชว์พลังไฮเพาเวอร์ให้ดูชมมาแล้วจะจะ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 อานุภาพร้ายกาจมาก ส.ว.ทั้งคณะมีมติโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรีอีกวาระสมัย ด้วยการเอาชนะ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” จากอนาคตใหม่ไป 500 ต่อ 244

แต่กับศึกเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2566 โชคดีของนักเลือกตั้งฝั่งประชาธิปไตย เพราะ “พี่น้อง 2 ป.” เกิดสภาพ “คงคาแห้งเหือด สายเลือดเหือดหาย” ตัดสินใจแยกกันเดิน ก่อมรรคผลให้ “ส.ว.” 250 เสียง ที่เคยทรงพลัง ขมังเวทย์ ขาดเอกภาพ อ่อนยวบลงไปในบัดดล เกิดรายการแตกแถว แยกย่อยซอยยิก เป็น 2-3 กอง ระหว่าง “ขั้วประยุทธ์” กับ “ซีกประวิตร” และน่าจะมี “ฝั่งอิสระ”

มีการประเมินขุมกำลังของ “สภาสูง” ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” น่าจะสูสีก้ำกึ่ง “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช.เก่า-ผู้นำรัฐประหาร ดูดีกว่า เป็นต่อเล็กน้อย เพื่อนร่วมรุ่น อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาเก่า ถูกดึงมาเป็นฐานที่มั่นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน “บิ๊กป้อม” แม้จะเป็นแค่รองหัวหน้า คสช. และรองนายกฯ แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ได้รับฉันทานุมัติให้เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดนี้ และอาศัยคอนเน็กชั่น แต่งตั้งคนกันเอง ทั้งอดีตข้าราชการ ผู้บริหารภาคเอกชนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดมานั่งเก้าอี้ ส.ว.จำนวนมาก

“บิ๊กป้อม” แกจึงเด็ดขาด และทรงพลังมากในสภาสูง อีหรอบเดียวกับ “องค์กรอิสระ” อีกหลายองค์กร ที่ “พี่ป้อม” ได้รับความไว้วางใจจาก “น้องตู่” แล้วค่อยๆ ใช้อำนาจที่ได้รับ แต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้ามา สะสม ดำเนินมา แบบเหนือเมฆกว่า “พล.อ.ประยุทธ์”

จึงไม่ต้องดูอะไรอื่นมาก แค่ผู้มีอำนาจใน “วิป ส.ว.” ขณะนี้ สาย “พล.อ.ประวิตร” เข้มแข็งกว่า “น้องตู่” มาก

มีการประเมินฐานที่มั่น “วุฒิสมาชิก” ระหว่าง “พี่น้อง 2 .ป.” ออกมาคร่าวๆ ว่ากันว่า “สาย พล.อ.ประยุทธ์” 120-150 ขณะที่ “สาย พล.อ.ประวิตร” วิ่งอยู่ที่ 100-120 ที่เหลือ ส่วนน้อยเป็น “สายอิสระ”

ยกยอด “ส.ว.” ที่จะไปร่วมโหวต “ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ได้

กรณีที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” กับ “พลังประชารัฐ” ต้นสังกัดของ “น้องตู่-พี่ป้อม” ได้รับเลือกเสียงออกมาเท่ากันที่ 30-40 ที่นั่ง

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พลิกมาได้เปรียบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อเอายอด ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งไปบวกกับ “ส.ว.” ที่อยู่ในสังกัด

“บิ๊กป้อม” ตะกายดาวไม่ถึงนายกรัฐมนตรีก็จริง แต่พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมแน่นอน