โอกาสแลนด์สไลด์เพื่อไทย ปี66 เทียบกับเลือกตั้งปี54 เป้าหมายแลนด์สไลด์ คือ 375 หรือ 265 เสียง

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

ฝ่ายค้านหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเปลี่ยนรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมีสิทธิ์เลือกนายกฯ ในรัฐสภา งานนี้จึงทั้งยากและซับซ้อน

ดังนั้น เป้าหมายของฝ่ายค้านคือจะต้องหาเสียงสนับสนุนรวมกันให้ได้ถึง 375 เสียง

เคยมีครั้งเดียวในประเทศไทยที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.ถึง 377 คนในปี 2548

แต่ในครั้งนั้นการเมืองมีลักษณะเป็น 2 ขั้วคือไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ และไทยรักไทยกุมอำนาจรัฐ ที่บริหารมานาน 4 ปีเต็ม แถมมีผลงานเด่น เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน อีกทั้งยังควบรวมพรรคอื่นเข้ามาหลายพรรค การโจมตีนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เพิ่งมีเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ยังเป็นเสียงชื่นชม ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมาแบบนั้นมิได้เกิดขึ้นในปี 2566

ดังนั้น การแลนด์สไลด์ที่เป็นจริงของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ คือการให้ได้ ส.ส.เกินกว่า 265 คน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ โดยเปรียบเทียบกับสมัยที่ผลักดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป้าหมายรวม 375 หมายถึงจะต้องรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ นั่นคือการสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางพอสมควร

มิฉะนั้น การหักด่าน ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าจะประเมินความเป็นไปได้ของเป้าหมายแลนด์สไลด์ 265 เสียง ก็ต้องเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก่อนเลือกตั้งปี 2554 และปี 2566

 

สถานการณ์และแรงกดดันทางการเมือง
ก่อนการเลือกตั้ง 2554

การเลือกตั้ง 2554 เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองที่มีกลุ่มมวลชนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองเคลื่อนไหวสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งมีมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 แม้หลังรัฐประหาร ผู้ชนะเลือกตั้งปี 2551 คือพรรคพลังประชาชน แต่ก็กุมอำนาจรัฐได้เพียงบางส่วน ได้เป็นรัฐบาล มีเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในฝ่ายตุลาการ ทั้งศาลและองค์กรอิสระ มีแรงกดดันที่หนักถึงขั้นฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นหลุดตำแหน่ง หรือต้องติดคุก การรัฐประหาร และตุลาการภิวัฒน์ ยังมีอำนาจเหนือคะแนนเสียงของประชาชน

การล้มรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และการตั้งรัฐบาลนายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งหมดจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่ 3 ปี

เมื่อประชาชนออกมาต่อต้านทวงอำนาจคืนก็ถูกล้อมปราบและสังหารกลางกรุง ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั่นคือการนำพาประเทศสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลงลึกถึงกระดูก และแผ่กระจายไปทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกคือการรัฐประหาร 2519 ที่มีการล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเกิดสงครามจรยุทธ์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 ปี)

หลังจากปราบประชาชน ประมาณ 1 ปี กลุ่มอำนาจเก่าคิดว่าสู้ในเกมเลือกตั้งได้ จึงมีการยุบสภาในเดือนพฤษภาคม และเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554

 

เปรียบเทียบสถานการณ์
ยุคปัจจุบัน 2566

จะพบว่าแรงกดดันทางการเมืองยุคนี้ ก็เริ่มมาจากการรัฐประหาร 2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. และครองอำนาจต่อเนื่องนานกว่ายุค 2554 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เองเมื่อทำการรัฐประหารเสร็จยาวนานเกือบ 5 ปี และได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ได้เปรียบ ดังนั้น จึงสามารถสืบทอดอำนาจต่อได้อีก 4 ปีหลังเลือกตั้ง 2562

ตลอดเวลาเกือบ 9 ปี ก็ประคองอำนาจรัฐโดยใช้ทั้งกลไกราชการ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ องค์กรอิสระ และอำนาจนิติบัญญัติ ที่มี ส.ว. และ ส.ส.ซึ่งสามารถซื้อตัวมาได้ ไม่มีผลงานที่ดีเด่นในรอบ 8 ปี มีปัญหาการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย การทรุดตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ไม่มีใครสามารถล้มรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการรัฐประหารชุดนี้ได้ ใครคัดค้านก็ถูกจับขังคุก

ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงมั่นใจว่าจากที่มีอำนาจบริหารมานานเกือบ 9 ปีคุมกลไกราชการได้ มีการโยกย้ายวางคนในตำแหน่งต่างๆ ทั้งปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าฯ และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ รวมถึงตำรวจทั่วประเทศ

ดังนั้น คงจะมีจำนวนหนึ่งเป็นกำลังสนับสนุนทางการเมืองได้

 

กรรมการ กฎกติกาการเลือกตั้ง
และพรรคการเมือง

ปัจจุบันใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 และเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100

แต่ในปี 2554 เลือกตั้งเขตมีแค่ 375 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มี 125 ต่างกันเล็กน้อย

พรรคการเมืองในสภาพปัจจุบันที่มิได้เป็นการเมืองแบบ 2 ขั้ว เหมือนปี 2554 และสถานการณ์การเมืองที่แปรเปลี่ยนไปมากในรอบ 12 ปี ผลจากการบริหารงานเกือบ 9 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำให้ทัศนะและความนิยมทางการเมืองในฝ่ายอนุรักษนิยมก็เปลี่ยนไป มีการแตกค่ายย้ายขั้วของพรรคการเมืองต่างๆ

และที่สำคัญคือการอัดเงินเข้ามาสนับสนุนการหาเสียงของ ส.ส.เก่า ทำให้เกิดการดูด ส.ส.เก่าไปยังพรรคต่างๆ ไม่สนใจว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือคู่แข่ง

ขณะนี้ความสามัคคีของฝ่ายอนุรักษนิยมทำไม่ได้เพราะต้องแย่งเสียงกันเองเพื่อหนีตาย พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแข่งกันเองบ้างเหมือนกัน

ส่วนองค์กรอิสระ ยังไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งในยุคปี 2554 และปี 2566 ฝ่ายประชาธิปไตยยังเสียเปรียบ

ที่ต้องระวังคือ การใช้อำนาจนอกระบบ ซึ่งจะมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย แม้ปัจจุบันจะมีการจับตา และต่อต้านอำนาจนอกระบบมากขึ้นก็ตาม แต่การยุบพรรค แจกใบแดง สามารถเกิดได้ตลอดเวลา ทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

 

ปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ
ต่อการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป

การสื่อสารของประชาชนในยุค 2566 ดีกว่า 2554 เพราะผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถเสนอความจริงได้ทั้งภาพและเสียงอย่างรวดเร็ว ดูย้อนหลังได้ จับโกหกได้ กระจายกว้างไปเรื่อยๆ นี่จะมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนอย่างมาก

การต่อสู้นอกสภาของเยาวชน ยังคงมีอยู่ และส่งผลต่อการเลือกตั้ง 2566

คนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเพิ่มจำนวนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นผู้ที่อายุ 18-25 ปี มีประมาณ 6 ล้าน และอายุ 25-40 ปี ประมาณ 15 ล้านคน

ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ประชาชนยากลำบาก หนี้สินท่วมตัว จึงไม่พอใจต่อรัฐบาลเก่าอย่างมาก

การแจกเงินเล็กน้อยของรัฐบาล ไม่อาจซื้อใจประชาชนได้ แม้ทุกพรรคจะเสนอนโยบายเศรษฐกิจ แต่เพื่อไทยได้เปรียบที่คนเชื่อมั่นว่าทำได้

 

ความเป็นไปได้ของแลนด์สไลด์ 265 เสียง

ในปี 2554 เกิดจากความโกรธแค้นและปัญหาการเมืองเป็นหลัก แต่ในปี 2566 คะแนนที่จะเทให้จนเกิดแลนด์สไลด์ จะมาจากความต้องการเปลี่ยนผู้บริหารอย่างนายกฯ ประยุทธ์ ความเข็ดขยาดต่อการบริหารที่ทำให้คนจนลง และปัญหาคอร์รัปชั่นเต็มเมือง

ผลการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเขตเลือกตั้ง 204 เขตจาก 375 ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 15.75 ล้านเสียง ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต์ 61 คน พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง 115 เขต ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 11.4 ล้านเสียง ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 41 คน พรรคภูมิใจไทยชนะเลือกตั้ง 29 เขต ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 คน พรรคอื่นๆ ได้ ส.ส.รวมกัน 40 กว่าคน

ถ้าประเมินการเลือกตั้ง 2566 จากกระแสการเมืองและปัจจัยต่างๆ เสียงของฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะเพิ่มจาก 15 ล้านเสียง ในปี 2554 ขึ้นไปสู่หลัก 20 ล้านเสียง

แต่จะประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และอาจมีพรรคเล็กอื่นๆ

โอกาสที่เพื่อไทยจะชนะ ส.ส.เขตมากกว่า 204 เขตก็มีความเป็นไปได้สูง แต่จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะไม่ได้เท่าเดิมเพราะคะแนนจะต้องแบ่งไปให้ก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทยพอสมควร แต่ก้าวไกลจะชนะ ส.ส.เขตเท่าไรประเมินยากมาก

การที่ประยุทธ์อยากเป็นนายกฯ ต่อ และมาลงแข่งในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ กลายเป็นแรงผลักให้เพื่อไทยมีโอกาสทำแลนด์สไลด์เกินกว่า 265 เสียง และเสียงแนวร่วมฝ่ายค้านจะเกิน 300 มีผลให้จะไม่มีนายกฯ ชื่อประยุทธ์ในครั้งหน้า