เสื้อทีมแพ้ Super Bowl จัดการยังไง?

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เสื้อทีมแพ้ Super Bowl

จัดการยังไง?

 

การแข่งขันชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอล ลีก NFL หรือซูเปอร์โบลว์ (Super Bowl) ครั้งที่ 57 มีขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทีมแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ (Kansas City Chiefs) ได้แชมป์ซูเปอร์โบลว์ปีนี้เอาชนะทีมฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ (Philadelphia Eagles) ไปอย่างตื่นเต้น 38-35

เฉพาะในอเมริกามีคนกว่า 100 ล้านคนชมการแข่งขันซูเปอร์โบลว์ จากประชากรในประเทศ 330 ล้านคน

ประมาณตัวเลขทั่วโลกมีคนกว่า 200 ล้านคนชมการแข่งขันซูเปอร์โบลว์

 

ตามธรรมเนียมของการแข่งขัน Super Bowl ทันทีที่การแข่งขันจบและทราบว่าทีมใดได้แชมป์ ผู้เล่นทีมที่ได้แชมป์จะสวมเสื้อยืด พร้อมหมวกที่พิมพ์สกรีนว่า Super Bowl Champions พร้อมมีชื่อทีมและตราของทีมสกรีนด้วย

เสื้อเหล่านี้ผลิตล่วงหน้าไว้แล้วเพื่อให้กับแฟนๆ ซื้อมาสวมทันทีที่ทราบผลว่าทีมไหนได้แชมป์ Super Bowl และมีการโฆษณาขายเสื้อทีมแชมป์ Super Bowl ทางโทรทัศน์ทันที

ทาง NFL จะผลิตเสื้อและหมวกที่เขียนว่า Super Bowl Champions พร้อมสกรีนชื่อทีมและตราของทีมที่เข้าชิงทั้ง 2 ทีม โดยจะผลิตเสื้อยืดทีมละ 150 ตัว และหมวกอีก 150 ใบ

นอกจากนี้ ยังผลิตเสื้อเตรียมไว้ทีมละ 1 แสนตัวล่วงหน้า ทันทีที่ทราบผลว่าทีมใดได้แชมป์ แล้วนำเสื้อแชมเปี้ยนและหมวกแชมเปี้ยนวางขายทันที

ส่วนเสื้อของทีมที่แพ้อีก 1 แสนตัวนั้น จะส่งให้กับผู้ยากไร้ในทวีปแอฟริกา และประเทศที่ยากไร้อื่นๆ

 

นับตั้งแต่ปี 2015 Super Bowl 7 ครั้งล่าสุด มูลนิธิ Good360 รับผิดชอบเรื่องการบริจาคเสื้อและหมวกทีมแพ้ไปยังประเทศยากไร้ทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิ World Vision หรือที่เมืองไทยรู้จักกันในชื่อมูลนิธิศุภนิมิต รับผิดชอบเรื่องการบริจาคเสื้อและหมวกทีมแพ้ไปยังประเทศยากไร้ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1994

ซึ่งเสื้อที่พิมพ์ทีมแพ้ Super Bowl ว่าเป็น Champions นั้น ไม่มีใครที่ไหนในอเมริกาซื้อใส่ เพราะเป็นเรื่องน่าขบขัน อับอาย

แต่ทางเจ้าหน้าที่ของ World Vision บอกว่าสำหรับคนในทวีปแอฟริกาที่ยากไร้ ไม่เคยมีเสื้อใหม่ใส่เลยในชีวิต การได้เสื้อใหม่เอี่ยมจากอเมริกา มีความหมาย มีคุณค่าอย่างมาก

 

สําหรับเสื้อทีมฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก เวลานักฟุตบอลสวมลงแข่งขันเสร็จแล้ว มีคนสงสัยว่าจะมีการกลับนำไปซักเพื่อเอามาใช้แข่งขันนัดต่อไป หรือใส่แข่งเสร็จแล้วทิ้งเลย

ในอดีต เสื้อทีมฟุตบอลหลังนักเตะใส่แล้ว ทางทีมจะซักรีดเพื่อกลับมาสวมอีกในนัดต่อไป

แต่มาในสมัยปัจจุบัน นักเตะพรีเมียร์ ลีก สวมเสื้อตัวใหม่เอี่ยมลงแข่งแทบทุกนัด

เพราะพอแข่งเสร็จแล้วจะมีมูลนิธิต่างๆ มากมายติดต่อขอให้ทีมบริจาคเสื้อให้กับมูลนิธิ เพื่อนำไปประมูลหารายได้เพื่อการกุศลเข้ามูลนิธิ

 

ในการแข่งขันฟุตบอลในพรีเมียร์ ลีก ทุกทีมจะเตรียมเสื้อแข่งขันให้นักเตะคนละ 3 ตัว ตัวแรกใช้สวมแข่งครึ่งแรก ตัวที่สองใส่แข่งขันครึ่งหลัง ส่วนตัวที่สามเป็นตัวเผื่อฉุกเฉิน หากเสื้อขาดระหว่างการแข่งขัน

แกรม เลอโซ (Graeme Le Saux) อดีตนักฟุตบอลในพรีเมียร์ ลีก และอดีตทีมชาติอังกฤษ วัย 54 ปีที่เล่นให้กับทีมเชลซี ระหว่างปี 1989 ถึง 1993 ย้อนอดีตเล่าถึงการซักเสื้อทีมไว้น่าสนใจ

เลอโซบอกว่าสมัยก่อน หากไม่ได้อยู่ในพรีเมียร์ ลีก หรืออยู่ลีกระดับรองลงมา นักฟุตบอลต้องเอาเสื้อที่ใส่แข่งขันกลับไปซักเองที่บ้าน รวมถึงเสื้อที่ใส่ฝึกซ้อมก็ต้องซักเอง

แต่เมื่อทีมขึ้นมาอยู่ระดับพรีเมียร์ ลีก เวลาแข่งขันเสร็จ หรือซ้อมเสร็จ เข้าล็อกเกอร์ รูม เพื่ออาบน้ำเปลี่ยนชุด แค่ถอดเสื้อ กางเกงกองกับพื้นก็หมดหน้าที่ เพราะมี Kit manager หรือผู้จัดการแผนกเครื่องแต่งกายของทีม มีหน้าที่เก็บไปซัก

วันรุ่งขึ้น ชุดที่สวมสกปรกเมื่อวาน ก็จะสะอาดเหมือนใหม่ พับเป็นระเบียบเรียบร้อยรออยู่ในล็อกเกอร์ รูม