ประวัติ “ย่านศาลาแดง” และพัฒนาการของเมืองของกรุงเทพฯ

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพประกอบ : สถานีศาลาแดง /MNXANL

หลายคนรู้จัก ทางแยกศาลาแดง ทางแยกหรือสี่แยก ถนนพระรามที่หนึ่ง กับถนนสีลมและถนนราชดำริ ทางแยกหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่การจราจรคับคั่งตลอดทั้งวันทั้งคืน

แต่ที่แน่ๆ คงไม่มีใครรู้ที่มาและความหมายของนาม ศาลาแดง ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน และเกี่ยวเนื่องกับเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะพัฒนาการของเมืองของกรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปช่วงเวลาปลายกรุงศรีอยุธยา ในเวลานั้น ธุรกิจการค้าทางทะเลทวีความคึกคัก ทำให้มีการพัฒนาเรือเดินสมุทร ให้มีกำลังมากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้น

จึงเป็นสาเหตุหนึ่งในการย้ายราชธานีจากอยุธยา ลงมาธนบุรีและกรุงเทพฯ เป็นลำดับ เพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถแล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปไกลได้เช่นเดิม

 

ด้วยสภาพพื้นที่ราบเรียบภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณใกล้ปากน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีสภาพคดเคี้ยว ทำให้เดินเรือใหญ่ยากลำบากและล่าช้า จึงมีการขุดคลองลัดหลายแห่งหลายครั้ง เพื่อย่นระยะเวลา และระยะทาง

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็มีคลองลัดทางทิศใต้ของพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้ตลาดน้อย ย่านการค้าคนจีนและตะวันตก ช่วยให้เรือที่จะเข้าพระนคร ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมคุ้งน้ำบางคอแหลม

เพียงแต่ว่า คลองลัดหรือ คลองช่องนนทรี (ใต้) มาจากปรับแต่งทางน้ำธรรมชาติเดิม จึงไม่สะดวกในการเดินเรือใหญ่ หรือแม้แต่เรือเล็กในช่วงฤดูแล้ง

จึงมีการขุดคลอง จากปาก คลองพระโขนง มาจนถึงบริเวณ ทางแยกคลองช่องนนทรี กับ คลองผดุงกรุงเกษม คลองขุดใหม่นี้ นอกจากจะมีขนาดกว้างและลึกแล้ว แนวคลองยังตรง ด้วยใช้วิธีส่องกล้องในการกำหนดแนวคลอง จนคนเรียกขานคลองใหม่นี้ว่า คลองตรง

ขณะเดียวกัน ดินที่ขุดขึ้นมา เมื่อนำมาถมพื้นที่ริมฝั่งคลองแล้วอัดแน่น ชาวบ้านจึงอาศัยใช้เป็นทางสัญจรไปมา โดยเฉพาะชาวตะวันตก พากันมาขี่ม้า มีการเรียกขานทางดินนี้ว่า ถนนตรง

 

แม้ว่าถนนตรง เสมือนว่าเป็นถนนสายแรกในพระนคร แต่เมื่อเป็นถนนที่ได้มาจากการขุดคลอง ถนนเจริญกรุง จึงเป็นถนนสายแรกของประเทศ เพราะมาจากการวางแผนและก่อสร้างถนนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ยังมีการขุดคลองเชื่อมกับคลองตรง เพื่อการสัญจรและระบายน้ำ ได้แก่ คลองสีลม ทางทิศใต้ และ คลองอรชร ทางทิศเหนือ

คลองสีลมจะแยกจากคลองตรง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านถิ่นที่อยู่ของชาวจีนและฝรั่งย่านบางรัก ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองข้างวัดสวนพลู ส่วนคลองอรชร จะแยกจากคลองตรง ไปทางทิศเหนือ ไปจนถึงคลองแสนแสบ มีการปรับพื้นที่ริมฝั่งคลอง เป็นถนนสีลม และถนนสนามม้า (ปัจจุบันคือถนนอังรีดูนังต์)

การขุดคลองที่กล่าวมา ทำให้พื้นที่ที่เคยรกร้าง ด้วยอยู่ไกลจากพระนคร เริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งกิจการค้าและโรงงาน ที่ขยายจากถนนเจริญกรุง โดยเฉพาะชาวตะวันตกนิยมสร้างบ้านพักเป็นตึกแบบฝรั่ง

ย้อนอดีตไปไกลจนหมดพื้นที่ แต่ก็ยังไม่ถึง ศาลาแดง จึงขออนุญาตมองอีกครั้งในฉบับต่อไป •