ภารกิจฟื้นชีพ ‘โดโด้’ (3) | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

แม้ว่าน้อนนนนนจะเป็นไอดอลแห่งวงการสัตว์สูญพันธุ์ แต่รูปลักษณ์น้องโดโด้นั้นอาจจะ “ไม่ตรงปก”

ในความเป็นจริง น้อนนนนอาจจะเป็นนกธรรมดาๆ ไม่ได้อ้วนล่ำดำเตี้ย หน้าตาเอ๋อเป๋อ ดังที่หลายคนเคยจินตนาการ

จูเลียน ฮูม (Julian Hume) ศิลปินและนักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอนเชื่อว่าภาพโดโด้อ้วนล่ำที่เห็นกันจนเป็นภาพจำในปัจจุบันนั้น อาจจะไม่ตรงปก…

ในเวลานี้ น้อนนนที่สภาพดูเหมือนจะเก็บรักษาไว้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ยังพอจะมีหนัง ขน และเนื้อเยื่ออ่อนหลงเหลืออยู่บ้างก็คงมีแค่ “โดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด (The Oxford Dodo)”

ในวงการวิจัย โดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ดถือว่าเป็นโดโด้ในตำนาน เพราะข้อมูลองค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับชีววิทยาของโดโด้ก็มักจะได้มาจากตัวอย่างนี้ รวมทั้งงานวิจัยแรกๆ ของเบธ ชาปิโร (Beth Shapiro) ผู้เชี่ยวชาญโดโด้ที่อยู่ในทีมฟื้นชีพโดโด้ของโคลอสซัล (Colossal) ที่บอกว่าที่แท้แล้ว โดโด้ไม่ใช่นกกระจอกเทศแคระ แต่เป็นพิราบยักษ์ ก็มาจากตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้จากโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ดนี่แหละ

เบธเผยว่าที่เธอตื่นเต้นและอยากทำวิจัยโดโด้ในตอนแรก ก็เพราะได้เห็นหน้าตาปุ๊กลุกของน้อนนนนในตู้โชว์ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่สมัยเธอยังเรียนอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ดอยู่ และจากวันนั้น เบธก็มุ่งมั่นอยากจะฟื้นชีพโดโด้ให้ได้ จนในที่สุด เบธก็หาลำดับพันธุกรรมหรือจีโนมของโดโด้เป็นผลสำเร็จในปี 2022

และข้อมูลจีโนมนี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของโครงการฟื้นชีพโดโด้

ภาพโดโด้ในเรื่องอลิซในแดนมหัศจรรย์ โดยอาร์เธอ แรคแฮม (Arthur Rackham) ปี 1907

โดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เบธให้ทุ่มเททำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างสกัดดีเอ็นเอจากสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเกือบ 400 ปี จนซากแห้งจนแทบจะเป็นมัมมี่มาศึกษาได้จนสำเร็จเท่านั้น

แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ลิวอิส คาร์รอล (Lewis Carroll) สรรค์สร้างตัวละคร “โดโด้” ออกมาโลดแล่นในหนังสือ “การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventure in Wonderland)” ของเขาด้วยในปี 1865

ว่ากันมาขนาดนี้ ถ้าจะถามว่า “โดโด้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดอยู่ที่ไหน?” คงตอบไม่ยาก มีน้อนนนนนที่พอจะเข้าข่ายได้อยู่แค่ตัวเดียว

ตามบันทึกเชื่อกันว่าที่ซากตัวอย่างโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ดสมบูรณ์มากนั้นเป็นเพราะว่าซากนี้เป็นของน้อนนนที่ถูกกวาดต้อนมาจากเกาะเมาริเทียสแบบเป็นๆ เอามาแห่โชว์เป็นตัวประหลาดในลอนดอน พอตายก็เลยถูกสตัฟฟ์เอาไว้ในสภาพที่ค่อนข้างดีและถูกซื้อไปสะสมอยู่ในคอลเล็กชั่นของพ่อลูกตระกูลแทรเดสคันต์ (John Tradescant the Elder & the Younger) ในลอนดอน

ต่อมาพอจอ์หน ทราเดสแคนต์ คนลูกตาย ซากโดโด้ก็เลยเปลี่ยนมือไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเอเลียส แอชโมล (Elias Ashmole) ในออกซ์ฟอร์ด และส่งต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในที่สุด

มีคนมาชม แต่ไม่ค่อยมีใครดูแล ร่างสตัฟฟ์ของน้อนนนนก็ค่อยๆ โดนมอดกัด ไรแทะจนแทบไม่เหลือสภาพ ในปี 1775 หลังการสังคายนาครั้งใหญ่ ก็มีการทำความสะอาด จัดเก็บ ตัดส่วนเสียหายทิ้งไป ท้ายสุด ร่างโดโด้ที่สมบูรณ์ที่สุดก็เหลือแค่หัวกับขาแห้งๆ หน้าตาละม้ายคล้ายมัมมี่

และนั่นคือซากที่สมบูรณ์ที่สุดของน้อนนนนน

ภาพตัวอย่างโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด – Image credit : Museum of Natural History, University of Oxford)

ซากของน้อนนนนกลายเป็นต้นแบบของนกโดโด้สตัฟฟ์ทั่วโลก ขนสีอ่อน หน้าตาเหวอๆ ดูขาวสะอาด

แต่เดี๋ยวนะ…ถ้ามองให้ดีกับนิทรรศการโดโด้ของออกซ์ฟอร์ด สรุปแล้ว น้อนนนนมีขนสีอะไรกันแน่ เพราะในแผ่นนิทรรศการข้างหลัง น้อนนนนนมีขนสีน้ำตาล แต่แบบจำลองนกสตัฟฟ์ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นกลับมีขนที่ขาวจั๊วยังกับนกเผือก…

เพราะสภาพแบบตัวเป็นๆ ของน้อนนนนั้น ไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเคยเห็น เลยบอกยากว่าหน้าตาน้อนนนนที่แท้จริงนั้นจะเป็นเช่นไร แค่สีขนก็เป็นประเด็นได้

“จากที่ผมรู้นะ ซากโดโด้สตัฟฟ์นั้นเริ่มสร้างขึ้นเลยโดยโรว์แลนด์ วาร์ด (Rowland Ward) หนึ่งในนักสตัฟฟ์สัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุควิกตอเรีย และถูกนำมาจัดแสดงในช่วงราวๆ ปี 1890s ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ พวกมันถูกทำขึ้นมาจากปูนปลาสเตอร์และขนของพวกห่านและหงษ์” จูเลียนกล่าว “ซึ่งก็อยู่ระหว่างข้อเท็จจริงกับนิยาย ครึ่งหนึ่งมาจากชีววิทยา อีกครึ่งหนึ่งเป็นผลมาจากจินตนาการ”

ถ้ามองในประเด็นที่ว่าขนโดโด้สตัฟฟ์ส่วนใหญ่มาจากห่านและหงส์ ก็คงพอเดาได้ไม่ยากว่าสีของน้องทำไมถึงได้ขาวจั๊วเป็นนกเผือกเช่นนั้น

แน่นอนว่าเป็นไปได้เหมือนกันว่าสตัฟฟ์ผิด อาจจะคิดว่าเป็นนกชนิดอื่น อย่างนก Rodrigues Solitaire (ญาติใกล้ชิดของโดโด้ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน) ก็เป็นได้

แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าตัวที่เคยมีคนจับและนำเข้ามาที่อังกฤษอาจจะเป็นโดโด้เผือกจริงๆ

อย่าลืมว่าพวกนักสะสมมักจะนิยมของแปลก

ภาพนิทรรศการโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด – Image credit : Museum of Natural History, University of Oxford)

อย่างไรก็ตาม ภาพจำของโดโด้ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดนั้นกลับเป็นภาพโดโด้ขนสีน้ำตาลอมดำ ปลายปีกขาวที่เรียกว่าภาพโดโด้ของจอร์จ เอ็ดเวิร์ด (George Edwards) ที่เรียกว่าภาพ Edwards’ Dodo ผลงานของศิลปิน โรแลนต์ แซฟเฟรี (Roelant Savery) ที่วาดขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1620s

ภาพนี้แหละที่ทำให้น้อนนนนนมีสภาพเป็นนกอ้วนล่ำดำเตี้ยของจริง คอก็อ้วน ขาก็สั้น ขนก็ดำ ก้นก็ใหญ่ เป็นนกที่หน้าตาประหลาด

สำหรับจูเลียน ภาพนี้เป็นภาพที่ดูผิดเค้าความเป็นจริงไปมาก เพราะถ้ามองในแง่ภายวิภาคศาสตร์ของนกที่บินไม่ได้อย่างน้อยตรงคอก็ต้องเรียวกว่านี้ ขาก็ควรจะยาวกว่านี้ แม้อาจจะหลีกหนีความก้นใหญ่ไม่ได้ แต่อย่างน้อย ทรวดทรงก็ควรระหงกว่านี้อยู่พอสมควร

จูเลียนวัดอัตราส่วนต่างๆ ของนกในภาพของโรแลนด์ แล้วเริ่มร่างภาพนกโดโด้ของตัวเองขึ้นมา ก่อนที่จะใช้ความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์และปักษีวิทยา ค่อยๆ ปรับให้เหมาะสมในเชิงวิทยาศาสตร์โดยใช้ข้อมูลนกปัจจุบันที่รู้กันมาเทียบ แล้ววาดเป็นนกโดโด้ภาพใหม่ขึ้นมา

ดูเผินๆ เหมือนไม่ค่อยต่างกันมาก แต่ที่ชัดเจนคือทรงหัวเล็กลง คอตั้งมากขึ้น ความอ้วนลดลง และขายาวขึ้น ดูแอ๊กทีฟกว่าเดิมอยู่มากโข ไม่ใช่หุ่นกลมๆ กลิ้งๆ เหมือนของโรแลนด์

ภาพโดโด้ของเอ็ดเวิร์ด ที่เป็นหนึ่งในภาพจำสำคัญของนกโดโด้ (Image credit : Wikipedia/Julian Hume)

ในปี 2015 จูเลียนและทีมก็ได้สแกนโครงกระดูกโดโด้เป็นสามมิติ แล้วลองโมเดลรูปร่างของโดโด้ใหม่ขึ้นมา ซึ่งผลที่ได้น่าสนใจ เพราะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับของโรแลนด์

โดโด้ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้ตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยอย่างที่คิด พวกมันมีรูปร่างที่ปราดเปรียว และมีวิวัฒนาการที่เพอร์เฟ็กต์อย่างมากกับถิ่นที่อยู่ของมันในเกาะเมาริเทียส (อย่างน้อยก็ก่อนที่จะมีมนุษย์เข้ามา)

และในปี 2018 ทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งออกซ์ฟอร์ดก็มีแผนการที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีววิทยาและพฤติกรรมการกินอาหารของโดโด้ คราวนี้ จะทำ micro-CT Scan เพื่อสร้างแบบจำลองสามมิติที่ความละเอียดสูง และทีมวิจัยที่ถูกเลือกให้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันศึกษาก็คือทีมวิจัย WMG ที่นำโดยมาร์ก วิลเลียมส์ (Mark Wiliams) จากมหาวิทยาลัยวอร์วิก (University of Warwick)

แต่เมื่อผลการสแกนกะโหลกที่เหลืออยู่ของโดโด้ชื่อดังออกมา ทุกคนก็ประหลาดใจ

ภาพสแกนสามมิติแสดงให้เห็นเม็ดตะกั่วจากกระสุนลูกซองที่ยิงจากระยะใกล้ในหัวกะโหลกโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด (Image credit : WMG/University of Warwick)

“ในตอนที่เราได้รับการไหว้วานให้ช่วยสแกนโดโด้ เราหวังที่จะศึกษากายวิภาคที่อาจจะบ่งชี้ได้ว่าพวกมันดำรงชีวิตกันยังไง” มาร์กเล่า “แต่แม้จะเป็นในฝันที่หลุดโลกที่สุด เราก็ยังไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเราจะได้เจอในสิ่งที่เราพบ”

พวกเจอเม็ดตะกั่วในหัวกะโหลกของโดโด้ในตำนาน เป็นไปได้มั้ยว่าโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ดอาจจะไม่ได้เป็นนกอ้วนที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามา แต่เป็นนกที่ถูกล่าเลยมีเม็ดกระสุนปรายติดกระจายอยู่ในกะโหลก

ก็เลยเป็นปริศนาขึ้นมาอีกรอบ ใครกันแน่ที่ฆ่าน้อนนนนนน???

แล้วที่จริงแล้ว โดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด เคยมาเหยียบประเทศอังกฤษตอนมีชีวิตอยู่หรือเปล่า? เพราะถ้าเคยจริง และถูกเอาเข้าไปโชว์เป็นตัวประหลาด แนวๆ สัตว์แปลกในละครสัตว์ที่ทำเงินได้ทุกครั้งที่มีคนมาดู เจ้าของจะมีเหตุผลอะไรที่จะยิงมันให้ตาย…เพราะถ้ามันตายไป ก็เท่ากับทำลายตัวทำเงินของตัวเองทิ้งไปมั้ย?

“ก้าวต่อไปที่เราจะทำคือทำการวิเคราะห์ทางเคมีของกระสุนปรายที่เจอในหนังและในกระดูกของตัวอย่าง จากการวิเคราะห์ทางเคมี เราอาจจะพอบอกได้ว่าตะกั่วนี้น่าจะมาจากเหมืองแร่ไหน และบอกได้ว่ามาประเทศไหน และบอกได้ว่าใครฆ่าโดโด้” พอลล์ สมิธ (Paul Smith) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติกล่าว

สรุปแล้ว ใครฆ่าน้อนนนน?? อยากรู้คงต้องรอผลการชันสูตรขั้นต่อไป!

ดูเหมือนว่าทุกอย่างเกี่ยวกับโดโด้ก็ยังดูคลุมเครือ แม้แต่ตัวอย่างที่มีบันทึกประวัติละเอียดยาวนาน และสมบูรณ์มากที่สุดอย่างโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด

แต่คำถามที่ควรต้องถามก่อนที่จะฟื้นชีพน้องกลับมาก็คือถ้าเรายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับน้อนนนนเลย เราจะช่วยประคบประหงมและปล่อยน้องกลับคืนสู่ธรรมชาติได้จริงหรือ?…และปล่อยไปแล้วจะรอดได้จริงมั้ย

นี่คือคำถามที่คงจะต้องรอดูต่อไป…