ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พ่อแก่ พระฤๅษีตาไฟ ก็คือ “พระอิศวร” ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ตามคติพราหมณ์ชมพูทวีป “พระศิวะ” หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากคนไทยมากกว่าว่า “พระอิศวร” มีบทบาทที่โดดเด่นหลากหลาย เช่น อยู่ในฐานะของเทพเจ้าผู้ทำลายล้างความชั่วร้ายในสัญลักษณ์รูปอสูรต่างๆ ก็จะเรียกว่า สังหารมูรติ ส่วนจะสังหารใครก็เอาอสูรตนนั้นไปใส่ไว้ทางด้านหน้า

เช่น สังหารอสูรรูปช้าง ก็ชื่อปางคชาสูรสังหาร ถ้าอยู่ในฐานะเทพเจ้าผู้โปรดสัตว์จะเรียกว่า อนุครหมูรติ (ตรงกับคำว่า อนุเคราะห์) เช่น ตอนกำราบทศกัณฐ์ที่มาเกี้ยวพาราสีพระแม่อุมาไว้ใต้เขาไกรลาส ก็เรียก ราวณนุครหมูรติ (คืออนุเคราะห์ท้าวราพณ์) เป็นต้น

บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระอิศวรคือ การเป็นครูแห่งสรรพศาสตร์เรียกรวมๆ กันว่า ทักษิณามูรติ เช่น เป็นครูของเหล่าโยคี ก็เรียกปางโยคะทักษิณามูรติ

เป็นครูแห่งดนตรีการก็จับพระองค์มาทรงเครื่องสายอย่างวีณาแล้วเรียกว่า วีณาธรทักษิณามูรติ

รูปพระอิศวรทรงวีณานี้ไม่ค่อยพบในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะภาคผืนแผ่นดินใหญ่ จะมีอยู่บ้างก็แต่ในงานช่างของพวกจาม ที่สร้างบ้านแปงเมืองอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามช่วงก่อน พ.ศ.1800 แต่ก็ดูจะเป็นเครือข่ายของพวกการค้าข้ามสมุทรเสียมากกว่า เพราะพวกจามพูดภาษาตระกูลมลายู เหมือนผู้คนส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะ และพวกที่อาศัยอยู่ทางบริเวณภาคใต้ของไทยเรื่อยไปจนถึงส่วนปลายของแหลมมลายู และในเครือข่ายของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมลายูที่ว่าก็พบรูปพระวีณาธรอยู่ไม่มากนักเช่นกัน

ในคติพราหมณ์แบบไทยๆ โดยเฉพาะในชั้นหลังจึงไม่รู้จักพระวีณาธร และไม่มีพระวีณาธร ในฐานะครูแห่งดนตรีการอยู่บนหิ้งพระของครู หรือนักดนตรีทั้งหลาย เพราะไม่ได้เป็นที่นิยมอยู่ก่อนในชั้นต้น

 

ที่น่าประหลาดใจอีกอย่างคือ พราหมณ์อินเดียไม่นับรวมพระอิศวรในปางที่เป็น “ราชาแห่งการฟ้อนรำ” ที่เรียกกันอย่างเคยปากว่า “ศิวะนาฏราช” ไว้ว่าเป็น “ครู” แห่งศาสตร์ของการระบำรำฟ้อน คือไม่นับรวมอยู่ใน “ทักษิณามูรติ” แต่แยกหมวดหมู่ไว้ต่างหากว่าเป็น “นฤตตมูรติ”

การจำแนกแยกหมู่ปาง หรือการจัดประเภทหน้าที่ของเทวรูปของพราหมณ์อินเดียเหล่านี้ จัดแยกจากข้อมูลในกลุ่มตำราศิลปศาสตร์โบราณ คำว่า “ศิลปศาสตร์” หมายถึง “วิชาความรู้” ที่มักจะกล่าวกันว่ามีทั้งหมด 18 แขนง (แต่ที่มีมากกว่านั้นก็พบ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด) วิชาช่างที่ว่าด้วยรูปแบบของเทวรูปก็ถือว่าเป็นความรู้แขนงหนึ่ง

วิธีการจำแนกประเภทของเทวรูปให้เป็นหมวดหมู่อย่างที่ว่าตรงกับวิชา “Iconography” ของฝรั่ง ที่มีการควงศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “ประติมานวิทยา” วิชาดังกล่าวว่าด้วยขนบการเล่าเรื่องผ่านภาพ ข้อดีของการศึกษา หรือจัดหมวดหมู่ทางประติมานวิทยาที่ว่านี้นอกจากจะช่วยให้ทราบว่ารูปสัญลักษณ์ หรือเทวรูปที่เห็นอยู่นี้หมายถึงอะไร?

ยังช่วยจำแนกหน้าที่ของเทวรูปว่ามีคุณค่าสำหรับการบูชาทางด้านใด?

พระศิวะนาฏราช จัดอยู่ในหมวด นฤตตมูรติ ที่แยกออกมาต่างหากจากหมวด ทักษิณามูรติ ตามทัศนคติของพราหมณ์อินเดียจึงไม่ได้มีคุณค่าสำหรับการบูชาในแง่ของ “ครู” แน่ และคติของพราหมณ์อินเดียก็ไม่มีพิธีไหว้ครูตามอย่างที่มีในไทย

 

Elements of Hindu Iconography ตำราทางประติมานวิทยาเกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฉบับคลาสสิคของ T.A. Gopinatha Rao ได้รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระศิวะนาฏราชไว้ โดยอ้างว่าจากคัมภีร์ปุราณะฉบับต่างๆ มีฉากตอนพระอิศวรฟ้อนรำครั้งสำคัญทั้งหมดสามครั้ง แต่ก็มีที่กล่าวถึงอยู่ประปรายกระจายอยู่ในตอนอื่นๆ ด้วย

ฉากพระอิศวรร่ายรำตอนสำคัญ ครั้งที่ 1 พบอยู่ในหนังสือกถาสริตสาคร และศิวะประโทษสโตตระ กล่าวถึงการร่ายรำบนเขาไกรลาศในยามเย็น มีหมู่เทพเจ้าทำดนตรีทั้ง พระสรัสวตีทรงวีณา พระอินทร์ทรงขลุ่ย พระพรหมทรงกระดิ่งคอยกำกับจังหวะ พระลักษมีเป็นผู้ขับร้อง โดยมีพระนารายณ์ทรงกลอง ห้อมล้อมไว้ด้วยนักสิทธิ์วิทยาธร และคนธรรพ์ต่างๆ

ฉากที่ 2 เรียกว่า “ตาณฑวะ” พระอิศวรในรูป 10 กร จะร่ายรำอยู่ในสุสานร่วมกับเทวี โดยมีเหล่าภูตผีปีศาจตัวน้อยๆ ร่วมวงอยู่ด้วย Rao ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ฉากตาณฑวะนี้มีพื้นเพดั้งเดิมมาจากความเชื่อในยุคก่อนอารยันที่นับถือผีซึ่งมีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งปีศาจ ในชั้นหลังพระอิศวรบางครั้งก็ร่ายรำในฐานะพระเทวี แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในไศวนิกายที่ผสมปนเปเข้ากับความคิดในลัทธิศักติ คือกลุ่มผู้บูชาพลังของเพศหญิง ฉากตาณฑวะนี้เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเป็นต้นแบบให้กับพระอิศวรในรูปดุร้ายคือ พระไภรวะ หรือพระวีรภัทร แต่ไม่ใช่ตอนเดียวกัน

ฉากที่ 3 พระอิศวรฟ้อนรำที่ติลไลย หนังสือโกยิลปุราณัมที่เล่าเรื่องพระอิศวรตอนนี้อ้างว่าติลไลยเป็นศูนย์กลางของโลก เรื่องมีอยู่ว่า พระอิศวรได้ชักชวน พระนารายณ์ และอาทิเศษะ (หมายถึงนาคที่เกิดมาตัวแรก ในไศวนิกายว่าคือนาควาสุกรี แต่ไวษณพนิกายว่า อนันตนาคราช) มาปราบเหล่าฤๅษีนิกายมีมางสาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมในป่าตารกะ

พระอิศวรจำแลงกายเป็นฤๅษีหนุ่มรูปงาม ในขณะที่พระนารายณ์ก็จำแลงเป็นนักบวชสาวสวย เข้ามาเย้ายวนเหล่าฤๅษีทุศีล เมื่อรู้ว่าถูกหลอก เหล่าฤๅษีต่างโกรธจึงเสกเสือขึ้นจากกองไฟบูชายัญเข้าทำร้ายพระอิศวร พระอิศวรจึงจับถลกหนังใช้เป็นเครื่องทรงตลอดมา

คราวนี้พวกฤๅษีจึงเสกงูเข้าทำร้าย พระอิศวรก็จับมาทำเป็นสังวาลย์ประจำพระองค์อีก จากนั้นพระองค์ก็เริ่มร่ายรำ (ถ้าอ่านแล้วรู้สึกไม่สมเหตุสมผล ก็ลองจินตนาการว่ากำลังดูหนังแขกที่ทั้งรำ ทั้งวิ่งมันทั้งเรื่องดูสิครับ)

สิ่งสุดท้ายที่พวกฤๅษีเสกเข้าทำร้ายพระอิศวรคือ อสูรแคระที่ชื่อ มูลยกะ (ไทยเรียก มูลคินี)

พระอิศวรท่านก็จับเอาอสูรแคระเป็นฟลอร์ขึ้นไปรำเซิ้งอยู่บนหลังของเจ้าอสูรนี่แหละ เราจึงเห็นรูปประติมากรรมพระอิศวรฟ้อนรำอยู่บนอสูรแคระเป็นปกติ

 

อาทิเศษะผู้บูชะพระอิศวร (ความตรงนี้แน่แล้วว่าในที่นี้หมายถึง นาควาสุกรี) เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าก็ประทับใจความงามที่พระอิศวรร่ายรำออกมา จึงขอให้พระอิศวรฟ้อนรำให้ดูอีกครั้ง พระอิศวรท่านก็เมตตาสัญญาว่าจะร่ายรำอีกครั้งที่ติลไลย

“ติลไลย” ที่ว่าปัจจุบันคือเมือง “จิทัมพรัม” อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีวัดชื่อ “นาฏราช” สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.1450 ที่โคปุระคือ ซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่มีรูปพระอิศวรฟ้อนรำ 108 ท่า ในหนังสือไศวาคม ซึ่งเป็นคัมภีร์ในไศวนิกายพระอิศวรมีท่วงท่าในการฟ้อนรำ 108 ท่า

จำนวนเลขเดียวกันนี้ยังตรงกับจำนวนท่ารำในตำราแม่บทของการฟ้อนรำในอินเดียที่ชื่อว่า “นาฏยศาสตร์” ของภรตมุนี บางทีจึงเรียก “ภรตนาฏยศาสตร์” ชาวอินเดียจึงพากันถือว่า ท่ารำ 108 ท่าในนาฏยศาสตร์คือท่ารำของพระอิศวร ภรตมุนีก็พลอยได้อานิสงส์เป็นพระภาคหนึ่งของพระอิศวรไปด้วย

คนไทยเรารู้จักพระภรตมุนีในชื่อของ “พ่อแก่” และรู้จักพระอิศวรในอีกชื่อหนึ่งว่า “ฤๅษีตาไฟ” เพราะปกรณ์อินเดียท่านว่าพระอิศวรมีตาที่สามซึ่งจะหลับอยู่ตลอด หากลืมตาขึ้นเมื่อไหร่จะมีไฟล้างโลก ทั้งพ่อแก่ และพระฤๅษีตาไฟจึงกลายเป็นครูของนาฏศิลป์ และดนตรีการของไทยไปอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้