สภาสูง-สภาเตี้ย | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

สภาสูง-สภาเตี้ย

 

การซักฟอกโดยไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

แม้เป็นเรื่อง ของสภาผู้แทนราษฏร

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วุฒิสภาถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพันเป็น”ตัวเอก”ในการซักฟอกอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ทั้งในแง่บุคคล

และในแง่วุฒิสมาชิกาโดยตำแหน่ง อันประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดยในส่วนบุคคล มีบุคคลอย่างน้อย 2 คน คือ ส.ว.ทรงเอ และส.ว.น้องชายของคนใหญ่โตในบ้านเมือง ที่ถูกสปอร์ตไลท์ฉายส่อง

คนแรกเกี่ยวพันกับ “ทุนสีเทา” ที่โยงใยทั้งเรื่องระหว่างประเทศ เรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด

และเชื่อมโยงไปถึงคอนเนกชั่นกับพรรคการเมือง ที่ควร”ต้องพิสูจน์” อย่างยิ่ง

ส่วนคนที่สอง เป็นเรื่องของ “ทายาท” ที่ถูกตั้งข้อสงสัย ว่าใช้ “นามสกุล”ของผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมือง ไปหาประโยชน์จากการประมูลโครงการต่างๆขอรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ

ยิ่งกว่านั้นยังถูกจับโยงไปถึง ทุนจีนสีเทา ว่าร่วมกันแสวงหาประโยชน์และร่วมสร้างอิทธิพลเป็นเกราะคุ้นกันการทำมาหากิน

ส่วนวุฒิสมาชิกาโดยตำแหน่งอันประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั้น แม้ในแง่ส่วนบุคคลอาจไม่ได้เป็นปัญหา หรือถูกตั้งข้อสงสัยนัก

แต่กระนั้น “หมวกหลัก”ที่ส.ว.เหล่านั้นสวมอยู่ คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกฝ่ายค้านในสภา ซักฟอกอย่างหนัก

เพราะทั้งกองทัพ โดยเฉพาะ กองทัพบก กองทัพเรือ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกมองว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับการ”ปฏิรูปองค์กร”

ทำให้เกิดปัญหากำลังพล การบริหารงาน การคอรัปชั่น ที่เชื่อมโยงไปถึง ธุรกิจสีเทา อย่างน่าตื่นตะลึง

ซึ่งปัญหาทั้งในแง่บุคคล และทั้งโครงสร้าง ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามต่อ “สภาสูง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามว่า สภาสูงอันเป็นผลผลิต และผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร ที่ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและอมุมัติ บุคคลในแวดวงเข้ามาดำรงตำแหน่ง อันทรงเกียรตินี้ (บางคน)ได้ทำให้ สภานี้ สูง ตามการเรียกขานหรือไม่

หรือยิ่งอยู่ ยิ่ง ทำให้ต่ำลง

นอกจากนี้ สภาสูง ซึ่งมีส่วนในการผ่านและปกป้อง รัฐธรรมนูญปี 2560 เฉกเช่นไข่ในหิน ด้วยการอวดอ้างว่า นี่คือรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรต่างๆของชาติ และเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

เอาจริงๆแล้ว ทำได้หรือไม่

หรือตรงกันข้าม คนในสภาสูง กลับเป็นปัญหาและละเมิดสิ่งที่อวดอ้างเสียเอง

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วน ให้มีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นปัญหาเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลับปรากฏว่า วุฒิสภา กลายเป็นตัวขัดขวางมิให้มีการแก้ไขนั้นเสียเอง

และหนึ่งในสิ่งที่ปกป้องเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และไม่ยอมให้หลุดลอยจากมืออย่างเด็ดขาด

นั่นก็คือ สิทธิที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

เมื่อไม่ยอมให้แก้ไข ก็ได้มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ว่าส.ว.ก็ควรโหวตเลือกนายกฯ โดยเคารพเสียงประชาชน

เมื่อประชาชนเสียงส่วนใหญ่ มีฉันทามติเลือกพรรคการเมืองใดแล้ว ส.ว.ก็ควรให้ความเคารพกับประชามตินั้น

ไม่ใช่ ใช้ 250 เสียง(ที่มาจากการลากตั้ง) ไปเป็นฐานเสียงให้ใครหรือพรรคการเมืองใด

แต่ดูเหมือนว่า เสียงเรียกร้องเหล่านี้ จะไม่ได้รับการใส่ใจ

ตรงกันข้าม กลับยิ่งมีการท้ายทาย

เมื่อมีส.ว.บางคนออกมาชี้นำว่า จะไม่เลือกใคร แถมจะล็อกเสียงสนับสนุนเอาไว้เฉพาะ 2 คนเท่านั้น

ทำให้ ส.ว.ถูกมองว่า ไม่ใช่สภาสูง

เป็นเพียงสภาเตี้ย หรือก๊วนคะแนนเสียง อันมากด้วยความอื้อฉาว เท่านั้น

——————