อิทธิพลของจีนขยายมากแค่ไหน เรียนรู้จากกรณีอิตาลี

(Photo by Piero CRUCIATTI / AFP)

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ได้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน ในหลายภูมิภาคทั่วโลก จากการเผชิญหน้าในสงครามทางการค้า สงครามไมโครชิพ จนถึงการแสวงหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์

อย่างเช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือทะเลจีนใต้ ที่จะเห็นการขับเคี่ยวของแนวคิดและกรอบแผนระหว่างยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐ หรือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน

หากกล่าวถึงยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แม้จะยกเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อย่างเส้นทางสายไหมจากเอเชียสู่ยุโรป หรือการสำรวจมหาสมุทรของกองนาวีมหาสมบัติของเจิ้งเหอ มาสนับสนุนแผนนี้ จีนตั้งใจจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้เพื่อสร้างโครงข่ายการค้าและการลงทุนไปยังหลายประเทศและทุกเส้นทางของประเทศจะมุ่งหน้าสู่จีน ในส่วนเส้นทางสายไหมที่มุ่งไปสู่ยุโรป จีนเริ่มยึดหัวหาดนี้ได้แล้วเป็นชาติแรก นั่นคือ “อิตาลี”

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์หลายด้านและนำไปสู่การสร้างโครงข่ายอิทธิพลที่จะแผ่ออกไปทั่วยุโรป

 

อิตาลีเปลี่ยนท่าทีมาจับมือจีนเข้าร่วมยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางในปี 2019 และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในนโยบายต่างประเทศของอิตาลีด้วย

ผลคือ เงินทุนจากจีนได้เข้าสู่อุตสาหกรรมสำคัญของอิตาลี โดยเฉพาะพลังงานและโทรคมนาคม ซึ่งกำลังเติบโตมาตั้งแต่ปี 2013

แต่อิตาลีในช่วงหลายปีมานี้ กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศซบเซา โดยเฉพาะการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากภาษีและระบบบริหารราชการที่เป็นอุปสรรค

ดังนั้น จุดมุ่งหมายที่ของอิตาลีในการลงนามในข้อตกลงบีอาร์ไอเป็นความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศและสร้างความเหนือกว่าประเทศคู่แข่งในยุโรปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของสถาบันบรู๊กคิงส์ ที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 ชี้ว่าการที่อิตาลีดึงจีนหวังช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัวนั้น เหมือนกับการ “เล่นกับไฟ” ตามชื่อของรายงาน

เพราะการตัดสินใจรับการลงทุนจากจีนโดยไม่ระวัง ประกอบกับปัญหาภายในที่เรื้อรัง จะยิ่งทำให้อิตาลีรับผลเสียมากกว่า

ในรายงานของสถาบันบรู๊กคิงส์ระบุว่า ตลอดหลายปีที่อิตาลีสานสัมพันธ์กับจีนทั้งมิติการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้มีจำนวนพลเมืองจีนมาตั้งบ้านอาศัยอยู่ในอิตาลี แค่ในช่วงตุลาคมปี 2019 มีพลเมืองจีนอยู่ในอิตาลีสูงถึง 318,000 คน ใน 17 เขตของอิตาลี

ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีชุมชนชาวจีนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป (โดยมากสุดคืออังกฤษ รองลงมาคือฝรั่งเศส) โดยพลเมืองจีนส่วนใหญ่ทำธุรกิจทั้งผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า ทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า

และตามการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2560 มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่ในจีนมากกว่า 9 พันคน

 

หัวเว่ย-โฆษณาชวนเชื่อ-สถานีตำรวจลับ

การลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากจีนไหลเข้าสู่อิตาลี ทั้งในรูปเงินทุนและอุตสาหกรรมที่หวังหาตลาดในอิตาลี

อย่างกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของอิตาลีและยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ บริษัทโทรคมนาคมของจีนอย่างหัวเว่ย ได้เป็นแนวหน้าในการบุกเบิกตลาดนี้ ทั้งสมาร์ตโฟน การผลักดันหลายโครงการในการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” หรือการสร้างศูนย์วิจัยให้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และการตีตลาดเทคโนโลยี 5 G ในอิตาลีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปมีความกังวลเรื่องเทคโนโลยี 5 G ของจีนโดยเฉพาะความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์ โดยมองหัวเว่ยเป็นบริษัทในการกำกับดูแลของรัฐบาลจีน ซึ่งกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้าระบบโทรคมนาคมและเจาะดูข้อมูลข่าวสารผ่านอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ต 5 G ของหัวเว่ย ซึ่งมีการเตือนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของอังกฤษต่อปัญหาทางเทคนิคของ 5 G ที่จะเป็นความเสี่ยงในระยะยาว

ทำให้คณะกรรมการรัฐสภาอิตาลีเพื่อความมั่นคงของสาธารณรัฐ ศึกษาผลกระทบและนำไปสู่การเรียกร้องให้ รัฐบาลอิตาลีพิจารณาการกีดกันบริษัทที่ควบคุมโดยรัฐ เช่น หัวเว่ย จากการประมูลเครือข่ายเน็ต 5 G และเพิ่มการสอบสวนกรณีชาวอิตาลีจำนวนมากหันมาใช้บริการแอพพ์จีนชื่อดังอย่าง “ติ๊กต็อก”

นอกจากเรื่องโทรคมนาคม อิตาลียังถูกจีนแผ่อิทธิพลผ่านสื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนที่หวังสร้างภาพลักษณ์จีนในด้านดีออกสู่สายตาผู้ชมในยุโรป และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสมาคมสื่อในอิตาลี

 

ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรที่ดูแลสิทธิเสรีภาพสื่อและการแสดงออก ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการสร้างอิทธิพลผ่านสื่อของจีนระดับโลก ได้ประเมินว่าอิตาลีมีระดับความพยายามของจีนในการแผ่อิทธิพลทางสื่อที่สูงและความยืดหยุ่นกับการตอบสนองในท้องถิ่นต่อการแผ่อิทธิพลทางสื่อเองยังสูงด้วย

โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการนำเสนอเกี่ยวกับบริบทของการแพร่ระบาดในระดับสูง มีการนำเสนอเนื้อหาข่าวภาพลักษณ์เชิงบวกของจีนในช่วงโควิด-19 ที่สำนักข่าวแห่งชาติอิตาลีร่วมกับหุ้นส่วนจากจีนทำขึ้น

หรือความแข็งขันของสื่อของชาวจีนพลัดถิ่นที่สนับสนุนรัฐบาลจีนในระดับที่สูง ท่ามกลางภาวะเสรีภาพสื่อในอิตาลีเองก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์ตัวเอง

นอกจากนี้ อิตาลียังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นที่สร้างความน่ากังวลไปทั้งยุโรปคือ การมีหน่วยตำรวจลับของจีนตั้งสำนักงานอยู่ทั่วยุโรปและอิตาลี

โดยหน่วยตำรวจลับนี้ จะทำหน้าที่สอดส่องพฤติกรรมชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่นอกประเทศจีน

ใครก็ตามที่เคลื่อนไหวหรือวิจารณ์รัฐบาลจีน พวกเขาจะเข้าไปคุกคามจนถึงขั้นบังคับคนจีนคนนั้นส่งตัวกลับไปจีนแผ่นดินใหญ่ เสมือนใช้อำนาจของรัฐบาลจีนเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น

เดอะการ์เดี้ยนรายงานเมื่อธันวาคมที่ผ่านมาว่า Safeguard Defender องค์กรสิทธิมนุษยชนของสเปนออกมาเปิดเผย การตั้งหน่วยความมั่นคงของจีนถึง 2 จุดในเมืองมิลานของอิตาลี และยังคงพบอีก 54 สถานีตำรวจลับนี้อยู่ทั่วโลก โดยขณะนี้มีการสืบสวนหาสถานีตำรวจลับนี้อย่างน้อย 12 ประเทศแล้ว

โดยในอิตาลีมีสถานีตำรวจลับตั้งอยู่ในเมืองต่างๆ ทั้งกรุงโรม, เมืองมิลาน, โบลซาโน่, เวนิส, ฟลอเรนซ์, ปราโต เมืองขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ฟลอเรนซ์แต่เป็นชุมชนชาวจีนใหญ่ที่สุดในอิตาลี และเกาะซิซิลี

ต่อมา จีนจะกล่าวว่าสำนักงานเหล่านี้เป็นเพียง “สถานีบริการ” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวจีนในกระบวนการราชการ เช่น การต่ออายุหนังสือเดินทางหรือใบขับขี่ แต่องค์กรสิทธิดังกล่าวระบุว่า แม้บางสถานีจะไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนโดยตรง แต่ “แถลงการณ์และนโยบายบางอย่างแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามาจากรัฐบาลกลาง” และรัฐบาลจีนใช้สถานีลับนี้ในการ “ก่อกวน คุกคาม ข่มขู่ และบังคับให้เป้าหมายส่งกลับจีนเพื่อนำตัวไปลงโทษ”

ทั้งนี้ อิทธิพลของจีนในอิตาลีกำลังถูกทดสอบ หลังอิตาลีได้รัฐบาลใหม่นำโดยโจร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดกับรัฐบาลพรรคร่วมสายชาตินิยมที่มีจุดยืนต่อจีนต่างจากรัฐบาลชุดก่อนมาก อย่างเช่น อดอล์โฟ เออร์โซ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอิตาลี ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ไม่เอาด้วยกับการลงนามเข้าร่วมบีอาร์ไอในปี 2019 ได้ประกาศชัดว่า จะไม่ยอมให้อิตาลีตกอยู่ในมือของจีนแน่

“หากผู้อื่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานและจากอำนาจของรัสเซีย ไปเป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือการพึ่งพาการค้ากับจีนในระดับหนึ่ง เราจะไม่ทำตามพวกเขา”