หนึ่งปีแห่งสงคราม ยูเครนไม่แพ้ รัสเซียไม่ชนะ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สันติภาพและความมั่นคง [ของยุโรป] จะหวนกลับคืนมาได้นั้น ต้องมีความตกลงเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงใหม่ของยุโรป”

Paul D’ Anieri (ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเครน)

 

สงครามยูเครนที่เกิดจากบุกของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ได้เดินทางครบรอบ 1 ปี และเป็นขวบปีที่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ยูเครนยังสามารถดำรงความเป็น “รัฐเอกราช” ไว้ได้

เช่นเดียวกับที่กองทัพและประชาชนยูเครนยังสามารถยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างเข้มแข็ง แม้ประเทศต้องประสบกับการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก

ซึ่งผลลัพธ์ในอีกด้านคือ ความสูญเสียขนาดใหญ่ของกองทัพรัสเซียทั้งจำนวนยุทโธปกรณ์และกำลังพล จนอาจประเมินได้ว่ากองทัพรัสเซียในวันนี้กำลัง “อ่อนแอ” ลงมาก จนอาจต้องประเมินขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียใหม่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากมองจากแง่มุมทางทหารและทางการเมืองแล้ว คงต้องยอมรับว่าสงครามยูเครนมีความน่าสนใจอย่างมาก และคงต้องถือว่าสงครามนี้เป็น “สงครามใหญ่ครั้งแรก” ของโลกในศตวรรษที่ 21 และเป็นสงครามใหญ่ของรัฐยุโรปที่ใหญ่ที่สุดนับจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา…

วันหนึ่ง หากเรามองย้อนจากอนาคตกลับมาดูยุคปัจจุบันแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าสงครามนี้เป็นสงครามใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งที่จะประวัติศาสตร์ทหารของโลกจะต้องบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

 

สงครามของรัฐมหาอำนาจใหญ่!

สถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันนั้น เราอาจจะตั้งเป็นข้อสังเกตสำหรับการศึกษาของคณะนายทหารได้ว่า สงครามยูเครนเป็นเสมือน “วิทยาลัยการทัพ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสงครามครั้งนี้ทำให้ผู้นำกองทัพทั่วโลกแทบจะต้องเปิดการเรียนรู้วิชาทหารใหม่

เนื่องจากสงครามได้ให้บทเรียนการทหารอย่างมากมาย อันอาจอนุมานในเบื้องต้นได้ว่า ผลของการรบที่เกิดในยูเครนนั้น จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อ “การปฏิรูปกองทัพ” ของหลายๆ ประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน

อาจไม่ต่างจากบทเรียนการยุทธ์ในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ที่เห็นถึงหลักนิยมการทำสงครามใหม่ พร้อมกับยุทโธปกรณ์ใหม่ที่เป็น “อาวุธฉลาด” (smart weapons)

ในสงครามยูเครนเป็นเช่นเดียวกัน ที่โลกได้เห็นถึง “ความใหม่” ของแนวคิดการยุทธ์ในสนาม ดังจะเห็นได้ว่าการยุทธ์มีความต่างจากแนวคิดเดิมๆ จนอาจกล่าวได้ว่าสนามรบในยูเครนกำลังทำหน้าที่เป็น “ครูทหาร” ให้แก่นักยุทธศาสตร์ทั่วโลกได้เรียนรู้

ทั้งยังมีนัยถึงการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนของแนวคิดและหลักนิยมทางทหารที่จะสามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ตลอดรวมถึงการเตรียมความคิดในการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ทหารของรัฐในวันข้างหน้าเช่นกัน

เนื่องจากเรากำลังเห็นการ “ปรับเปลี่ยน” ของสงครามในอีกแบบหนึ่ง (หรือเรียกในทางทฤษฎีได้ว่าเป็น “the transformation of war” เช่นที่นักทฤษฎีการทหารของโลกเคยตั้งข้อสังเกตถึง การปรับเปลี่ยนของสงครามในยุคหลังสงครามเย็นมาแล้ว)

ดังนั้น เราจึงอาจตั้งเป็นข้อสังเกตในทางทหารได้ว่า หนึ่งปีของการสู้รบที่ยูเครนได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดที่น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ การที่ “รัฐเล็ก” สามารถรับมือและต้านทานการรุกทางทหารของ “รัฐใหญ่” ที่เป็นรัฐมหาอำนาจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

โดยเปรียบเทียบจาก “พลังอำนาจแห่งชาติ” ของรัฐคู่ขัดแย้งแล้ว ยูเครนน่าจะแตกไม่เกินสัปดาห์แรกของการบุก เมื่อการบุกเริ่มต้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

ถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผนการยุทธ์ที่ผู้นำทางทหารของมอสโกได้วางไว้ ในเสาร์ที่ 26 และอาทิตย์ที่ 27 ของปลายสัปดาห์นั้น โลกน่าจะเห็น “ธงรัสเซีย” เหนือกรุงคีฟ

แต่รัสเซียกลับไม่สามารถส่งกำลังเข้ายึดเมืองหลวงของยูเครนได้ และมีความหวังที่ไม่เป็นจริงว่า เมื่อกองทัพรัสเซียบุกข้ามพรมแดนแล้ว ชาวยูเครนจะออกมาคอยต้อนรับรัสเซีย…

ผู้นำรัสเซียอาจจะฝันถึงวันเก่าของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนในยุโรปตะวันออกคอยต้อนรับการมาของกองทัพแดง เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากการยึดครองของนาซี แต่ครั้งนี้ชาวยูเครนไม่ต้อนรับกองทัพรัสเซีย และต่อต้านจนการยึดคีฟกลายเป็นเพียง “ความฝันกลางวัน” ของผู้นำรัสเซีย

อันอาจกล่าวได้ว่า “ศึกชิงคีฟ” (The Battle for Kyiv) คือภาพสะท้อนแรกของความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

 

อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน!

หากวัดอำนาจทางทหารด้วยทำเนียบกำลังรบแล้ว กองทัพยูเครนที่มีขนาดเล็กกว่ากองทัพรัสเซียมาก และมียุทโธปกรณ์น้อยกว่ามากอย่างที่เปรียบเทียบไม่ได้เลย แต่กลับสามารถยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างยาวนาน ทั้งยังสามารถเปิดการรุกตอบโต้กลับได้ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์บางจุดอย่างที่เคอร์ซอน จนเป็นสัญญาณการถดถอยของกองทัพรัสเซียอย่างชัดเจนในยุคปัจจุบัน

หากพิจารณากำลังรบก่อนสงครามในปี 2019 อย่างสังเขป จะเห็นภาพเชิงเปรียบเทียบดังนี้

– กองทัพรัสเซียมีกำลังพลทั้งหมด 900,000 นาย เป็นทหารบก 280,000 นาย มีรถถังหลัก 2,750 คัน ปืนใหญ่มากกว่า 4,342 กระบอก เครื่องบินรบ 1,223 ลำ (ไม่นับรวมกำลังอื่นๆ)

– กองทัพยูเครนมีกำลังพลทั้งหมด 209,000 นาย เป็นทหารบก 145,000 นาย มีรถถังหลัก 854 คัน ปืนใหญ่ 1,770 กระบอก เครื่องบินรบ 225 ลำ (ไม่นับรวมกำลังอื่นๆ)

กำลังรบของทั้งสองฝ่ายต่างกันอย่างมาก แต่กระนั้นโลกได้เห็นถึงความสำเร็จของยูเครนในการ “ยันทางยุทธศาสตร์” ตลอดรวมถึงการดำรงขีดความสามารถในการรบได้อย่างต่อเนื่องนั้น

ว่าที่จริง ความสำเร็จเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการได้รับความช่วยเหลือทางด้านอาวุธใหม่ที่มีความทันสมัยจากฝ่ายตะวันตกเท่านั้น หากแต่ “จิตใจสู้รบ” ของประชาชนในสังคมดูจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในสถานการณ์สงครามปัจจุบัน

เพราะต่อให้ยูเครนมีอาวุธใหม่และมากมายเพียงใด แต่หากคนในสังคมปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับรัฐในการทำสงครามกับผู้รุกรานแล้ว ยูเครนจะไม่ประสบความสำเร็จในการยันต่อการรุกของกองทัพรัสเซียได้เลย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงขีดความสามารถทำการรบได้อย่างต่อเนื่องของสังคมยูเครน คือภาพสะท้อนถึงเอกภาพของคนในสังคมที่มี “จิตใจมุ่งมั่นสู้รบ” เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการโจมตีทางอากาศของเยอรมันต่ออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (The Battle of Britain) ที่แม้เกาะอังกฤษจะถูกโจมตีอย่างหนักเพียงใด

แต่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ อังกฤษจึงสามารถพาตัวเองให้รอดพ้นจากการยึดครองของกองทัพนาซีได้

 

เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนชัดว่า ขวัญกำลังใจของคนในสังคมที่พร้อมเข้าร่วมกับรัฐบาลในการต่อสู้กับรัฐข้าศึกเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” และอาจมีความสำคัญมากกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัฐมีเสียอีก ทั้งยังเห็นถึง “ขวัญกำลังใจสูง” (high morale) ของชาวยูเครนในหลากหลายอาชีพตัดสินใจเข้าร่วมในการปกป้องมาตุภูมิของตนจากการบุกของกองทัพรัสเซีย

ในทางตรงข้าม มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ทหารรัสเซียมี “ขวัญกำลังใจต่ำ” (low morale) ไม่เพียงพวกเขาไม่ต้องการเข้าสู่สนามรบในยูเครนเท่านั้น แต่ยังพบรายงานข่าวว่ามีกำลังพลหลายส่วนตัดสินใจหนีทหาร

หรือคนในสังคมรัสเซียหาทางเดินทางออกนอกประเทศ เพราะพวกเขาไม่ต้องการถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบในสงครามยูเครน

สำหรับรัสเซียที่แม้จะมีอาวุธมากกว่ายูเครนในทุกด้าน ทั้งยังมีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” แต่คนในกองทัพและสังคมไม่ต้องการเข้าร่วมรบในสิ่งที่ถูกเรียกว่า “สงครามของปูติน” (The Putin War) จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านสงครามในสังคมรัสเซียปัจจุบัน

สิ่งที่ตามมาในสังคมเช่นนี้คือ “ความแตกแยกใหญ่” ซึ่งเห็นได้จากการขับเคลื่อนของกระแสต่อต้านสงครามในหมู่ชาวรัสเซีย

หรือหากย้อนกลับไปในอดีต ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่คนในสังคมอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามของรัฐ จนเกิดเป็น “ความอ่อนแอภายใน”

ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ รัฐจะเผชิญ “สงครามสองแนวรบ” คือทั้งสงครามภายนอกและภายในคู่ขนานกัน

 

ด้วยเหตุนี้ นักการทหารไม่อาจปฏิเสธความจริงประการสำคัญว่า “สงครามในบ้าน” เป็นโจทย์ทางการเมืองที่ท้าทาย ดังบทเรียนของสหรัฐจากสงครามเวียดนาม หรือบทเรียนเก่าของสหภาพโซเวียตในสงครามอัฟกานิสถาน ก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันเคยเผชิญมาก่อนแล้ว

ฉะนั้น ปัญหาสงครามในบ้านของรัสเซียในยุคสงครามยูเครนจึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจากคนหนุ่มสาวหลายส่วนและกลุ่มฝ่ายค้านในสังคมมีทิศทางต่อต้านสงครามอย่างเห็นได้ชัด

แม้การจับกุมผู้เห็นต่างในกรณีนี้มีมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระแสต่อต้านได้จริง

 

ความล้มเหลวของกองทัพแดง

สงครามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “กองทัพทหารอาชีพ” ของฝ่ายยูเครน ที่สามารถรับมือกับการรุกทางทหารของรัสเซียได้เป็นอย่างดี จนทำให้เกิด “ภาพลบ” ในด้านตรงข้าม ที่เห็นได้ถึงความไร้ประสิทธิภาพการรบของหน่วยทหารรัสเซีย ที่อ่อนด้อยทั้งในระดับยุทธวิธีและระดับยุทธการ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่สำคัญของความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

นอกจากนี้ หน่วยทหารรัสเซียแทบจะไม่มีภาพลักษณ์ของ “กองทัพประชาชนสังคมนิยม” เช่นที่เคยโฆษณาไว้ในทางการเมืองเลย เนื่องจากทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมในพื้นที่ยึดครอง

ไม่ว่าจะเป็นการก่อกรณีสังหารหมู่ประชาชน การข่มขืนสตรี การปล้นสดมภ์ทรัพย์สินของชาวบ้านในหลายพื้นที่ การกวาดจับบุคคลต้องสงสัย และการใช้การทรมานกระทำต่อผู้ที่ถูกจับกุม เป็นต้น

ผลจากการกระทำของทหารรัสเซียในพื้นที่ยึดครอง กลายเป็นการก่อ “อาชญากรรมสงคราม” จนวันนี้ ความมีเกียรติของ “กองทัพแดงรัสเซีย” ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพลักษณ์ตั้งแต่ยุค “สงครามต่อต้านนาซี” ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กำลังถูกแทนที่ด้วยภาพของ “กองทัพแห่งความอัปยศ” ที่ใช้อำนาจทางทหารทำลายชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวยูเครน ด้วยการ “โจมตีอย่างไม่จำแนก” ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

แม้ผู้นำรัสเซียจะพยายามหาทางแก้ตัว แต่ก็ดูจะขัดแย้งกับรายงานที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัด

หากจะสรุปในเบื้องต้นแล้ว ชัยชนะของกองทัพยูเครนที่สามารถยันกองทัพรัสเซียได้อย่างยาวนานจนเกือบหนึ่งขวบปีนั้น บ่งบอกถึงความเป็นกองทัพทหารอาชีพ พร้อมๆ กับเอกภาพทางความคิดและขวัญกำลังใจของชาวยูเครนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลในการทำสงคราม

ทั้งยังมีประธานาธิบดีเซเลนสกีเป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ที่แสดงออกด้วยการตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศเพื่อต่อสู้ภัยสงครามจากรัสเซีย มากกว่าจะบินหนีออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม

ซึ่งต่างจากผู้นำอัฟกานิสถานที่หนีก่อนคาบูลแตก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหนึ่งปีแล้ว ยูเครนยังอยู่รอดได้!