แคตวอล์กในพระนคร : ‘บางกอกสเต็ป’ ท่าเดินใหม่ชาวพระนคร ครั้งรัฐบาลตราไก่

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

แคตวอล์กในพระนคร

: ‘บางกอกสเต็ป’ ท่าเดินใหม่ชาวพระนคร

ครั้งรัฐบาลตราไก่

 

เมื่อน้ำเริ่มลดลงหลังการไหลบ่ามาแต่ปลายปี 2485 ได้ทิ้งท่วงท่าเดินแบบใหม่แก่ชาวพระนครท่ามกลางตะใคร่เขียวขึ้นเต็มถนน

จอมพล ป.กล่าวติดตลกว่า แม้นชาวบ้านไม่ชอบตะไคร่ แต่กรมป้องกันภัยทางอากาศชอบนัก รวมถึงการจับปลาใต้ถุนตึกไทยคู่ฟ้า

พร้อมคำสารภาพที่ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้มากเท่าที่ควร

สุภาพสตรีสมัยใหม่แต่งกายตามสมัยนิยม

“บางกอกสเต็ป”

ท่าเดินใหม่แบบจิกปลายเท้า

เมื่อปลายเดือนตุลาคม ในยามที่น้ำเริ่มลดลง จอมพล ป.เล่าถึงระดับน้ำที่ลดลงและความครึ้มเขียวเข้าปกคลุมเมืองและพื้นถนนทั่วพระนครแทนระดับน้ำว่า

“ถนนหลายสายแห้ง มีรถเดินได้สบายพอควน ที่ไม่สดวกก็เพราะมีตะไคร่น้ำและเปนหลุมเปนบ่อ ทำให้ลื่นและรถต้องตกหลุม ท่านที่ไช้ถนนควนระมัดระวังไห้ดี จะหกล้มและตกหลุมทำให้เปนอันตรายได้ รถวิ่งเร็วอาดเสียทางได้ โดยล้อจะปัดแกว่งไปมา ถ้าแล่นเร็วรถจะคว่ำได้ง่ายนัก” (สามัคคีไทย, 131)

ด้วยตะไคร่ครึ้มเขียวขึ้นเป็นแผ่นปื้นไปทั่วพื้นถนน บังเกิดท่วงท่าเดินใหม่ของชาวพระนครที่แปลกตาไปจากเดิม จอมพล ป.เล่าถึงอุบัติเหตุทั่วไปที่พบในพระนครยามถนนหนทางว่า “เวลานี้ ตามถนนมีตะไคร่น้ำเขียวไปหมด เวลาเดินลื่นทำให้หกล้มบาดเจ็บกันไปตามๆ กัน” (สามัคคีไทย, 159)

เขาเล่าต่อไปว่า ครั้งนั้นวิทยุกรมโฆษณาเป็นห่วงสวัสดิภาพของชาวพระนครมากถึงขนาดไปเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายออกอากาศเรื่องท่าเดินที่ปลอดภัยในยามน้ำลดว่า

“วิทยุไทยถึงกับไปเชินนายแพทย์ ส.อันตะริกานนท์ มาบรรยายวิธีการเดินในตะไคร่น้ำ ฉันฟังดูแล้ว และทำท่าเดินบนปลายเท้า ดูรู้สึกเหนื่อยเร็ว” (สามัคคีไทย, 159-160)

น้ำท่วมบริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบสามัคคีชัย 2485

ชาวบ้านไม่ชอบตะไคร่เขียว

แต่กรมป้องกันภัยฯ ชอบ

เขาเสริมความเห็นปนอารมณ์ขันว่า “ประชาชนส่วนมากคงไม่ชอบตะไคร่น้ำ แต่เจ้าหน้าที่ความป้องกันภัยทางอากาสชอบมาก เพราะถนนมีสีเขียวกลืนกับต้นไม้ ท่านบอกว่า เปนการพรางไปไนตัว ไม่ต้องไปทาสีพรางให้เสียเวลา” (สามัคคีไทย, 159-160)

ลาวัณย์ โชตามระ บันทึกว่า สิ่งที่ชาวกรุงต้องระวังคือ “พื้นถนนมีคราบตะไคร่น้ำจับเขียวปื๋อลื่นดีนัก ถ้ามัวจูงมือกันเดิน เพลินพลอดสดใส มีขวัญใจอยู่แนบกาย มีหวังหกล้มก้นกระแทกกันง่ายๆ” ชาวกรุงต้องเดินจิกปลายเท้าเพื่อเป็นเครื่องช่วยยึด ในช่วงนั้น หากใครได้เดินตามถนน ภาพที่ชินตาคือ คนต่างเพศต่างวัยล้วนลื่นถลาล้มกันอยู่เสมอ หากใครเผลอหัวเราะ อาจได้รับฟังคำผรุสวาจาเป็นสิ่งตอบแทน (ลาวัณย์, 2536)

เด็กๆ ครั้งนั้นถูกพ่อแม่มอบหมายให้ขัดตะไคร่น้ำตามพื้นและฝาผนังบ้านด้วยกาบมะพร้าว ที่ผนังบ้านไม้จะเห็นไม้พองด้วยอุ้มน้ำมานานนับเดือน ส่วนบ้านใดเป็นผนังปูน สีจะลอกล่อน ตามพื้นถนนนั้น ทางเดินเท้ามีตะไคร่จับเขียว บางครั้ง “ทีเผลอก็ลื่นตีลังกาเอาง่ายๆ เปียกเปื้อนสกปรกไปทั้งตัว”

บางครั้งรถเมล์แล่นเป๋ไปเป๋มาด้วยลื่นตะไคร่ แม้กระทั่งรถรางที่วิ่งบนรางเหล็กก็มีอาการล้อหมุนเปล่าอยู่กับที่เลยทีเดียว ถนนเต็มไปด้วยขยะกลาดเกลื่อน (สรศัลย์, 2558, 115)

น้ำท่วมที่ลานพระรูปฯ และการจับปลาที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

จับปลาใต้ถุนทำเนียบท่านผู้นำ

จอมพล ป.เล่าถึงน้ำท่วมทำเนียบสามัคคีชัยไว้ว่า ทำเนียบน้ำท่วมจนทำให้ตำรวจรักษาการณ์ต้องหนีขึ้นไปนั่งที่ราวของป้อมยาม (สามัคคีไทย, 34) และยังเล่าถึงการจับปลาที่ใต้ถุนตึกไทยคู่ฟ้าอย่างมีขบขันว่า

“ฉันซาบว่า ในเวลานี้ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ไต้ตึกคู่ฟ้า เมื่อน้ำเหนือไหลหลากมามากผิดปกติได้ล้นเข้าไปไต้ตึกทางช่องลม ปลาก็ไหลตามเข้าไปหยู่มาก เวลานี้น้ำลดลงต่ำกว่าช่องลม ทั้งน้ำทั้งปลาออกไม่ได้ เกิดจะต้องวิดน้ำกันไหย่โต ฉันคิดว่า ก็มีผลดี เพราะจะได้ปลามากพอไช้ เปนการทุ่นรายจ่ายไนทำเนียบไปได้บ้าง” (สามัคคีไทย, 161)

จอมพล ป.เล่าถึงคดีขโมยปลาหลังน้ำท่วมว่า เมื่อน้ำลดลงเกิดคดีลักปลาขึ้น เพราะบ่อปลาหลายแห่งถูกน้ำท่วมจนปลาหนีไปจนหมด พอน้ำลดเจ้าของบ่ออยากได้ปลาคืน แม้ปลาของนายกฯ ก็หาย บ้านของ พ.ต.นิตยเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ปลาจีนในบ่อหายไป รวมทั้งปลาสลิดจำนวนมากหายไป

จอมพล ป.จึงถามหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจว่า จะได้ปลาคืนอย่างไร อธิบดีตอบว่า ไม่มีทางเพราะคนจับไปกินหมดแล้ว และปลาก็ไม่มีรูปพรรณสัณฐานที่บ่งชี้ความเป็นเจ้าของได้ (สามัคคีไทย, 160)

 

คำอ้อนวอนของผู้นำ

ท่ามกลางสงครามโลกและอุทกภัย จอมพล ป.ชักชวนให้ทุกคนช่วยกันทำให้เป็นหนึ่งเดียวในการฝ่ายันตรายนี้ไปได้ด้วยการขอให้

1. ให้ทิ้งความอิจฉาริษยาให้ไหลไปตามน้ำ

2. เลิกถือชนชั้นวรรณะที่แบ่งแยกผู้คนมิให้เสมอภาคเท่าเทียมกัน รวมทั้งเขาอ้อนวอนให้เจ้านายทั้งหลายลืมความหลังครั้งเก่าว่า

“3. ขอกราบทูลเจ้านายของไทยเรา ไห้เทพเจ้าผู้สักดิสิทธิ พระสัมมนาสัมพุทธเจ้าได้โปรดดนใจ บันดาลไห้ท่านลืมเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ส.2475 เสีย โปรดหันมาช่วยกันเข็นชาติไทยให้พ้นจากหล่มยุธภัยร่วมกับประชาชาติไทยทั่วทุกพระองค์”

4. ขอให้ข้าราชการที่เกษียนแล้ว ประกอบอาชีพตามสามารถและให้กำลังลูกหลานไทยให้ช่วยกันประกอบอาชีพรวมทั้ง

5. ขอให้ข้าราชการตั้งใจทำงาน ทำตามหน้าที่ และที่สำคัน

“ท่านข้าราชการต้องเหนราสดรที่มาพบท่านคือญาติของท่านที่ท่านต้องช่วยเสมอ หย่ารังเกลียดว่าแต่งกายไม่สะอาด หย่ารังเกลียดว่าพูดไม่ดีไม่ถูกต้อง คิดว่า ที่พูดไม่ถูกใจท่านนั้น ไม่ได้ตั้งใจ เปนเพราะไม่ซาบจะทำถูกหย่างไรเท่านั้น ถ้าท่านพบราสดรที่ประพรึตช่วยั่วโทสะ รวมต่างๆ นั้น จงเชื่อว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ ที่ทำไปเช่นนั้น เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรถึงดีต่างหาก ถ้าให้คำแนะนำ ดุว่า โดยหวังดีที่สุด ลงโทสเปนการสั่งสอนถานญาติแล้วจะทำให้เขาดีขึ้นเปนแน่…”

“และประการสุดท้าย ขอให้ประชาชนให้ฟังและปฏิบัติตามที่รัฐบาลสั่งอย่างเคร่งครัด มีความกล้าหาญ อดทน” (สามัคคีไทย, 135-136)

 

ความในใจของผู้นำ

ในช่วงต้นที่พระนครถูกน้ำท่วมเมื่อปลายเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอย่างแกล้วกล้าว่า รัฐบาลจะ “รบกับน้ำ” (สามัคคีไทย, 39) แต่เมื่อพลานุภาพแห่งธรรมชาติสำแดงให้มนุษย์ได้ประจักษ์แล้ว

ต่อมา จอมพล ป.เผยความในใจว่า “เมื่อน้ำลดแล้ว มีเสียงว่าตอจะผุด เปนความจริงเวลานี้จะเห็นตอระเกะระกะไปหมด เพราะชาวนอนเรือได้มาปักไว้เพื่อผูกเรือ ไปแล้วไม่ถอน…ถ้าจะพูดทางจิตใจก็หมายความว่า ตอ คือความชั่วความบกพร่องจะผุดให้คนเห็น ฉันจึงรำพึงถึงตัวฉันว่า ทำอะไรผิดไว้บ้างไนคราวน้ำท่วมก็พบหลายแห่ง” (สามัคคีไทย, 163-164)

ท่านผู้นำสารภาพว่า สิ่งที่เขาเสียใจ คือ “1.ช่วยราสดรไม่เท่าใจนึกจะทำ 2.ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ ข้อนี้คงให้อภัย เพราะธัมชาติสุดจะสู้กับท่านให้เปนหย่างอื่นไปได้” และ 3.แนวคิดต่างๆ ในนามปากกาสามัคคีไทยที่ย่อมมีข้อบกพร่อง

นี่คือคำสารภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำที่มาจากสภาผู้แทนฯ และจากคณะราษฎรที่มีสำนึกรับผิดชอบแตกต่างจากรุ่นน้องที่เป็นนายกรัฐมนตรีผู้มาจากโรงเรียนนายร้อย หลายคน