หูตาโต ประสบการณ์จาก ‘ญี่ปุ่น’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

หูตาโตประสบการณ์จาก ‘ญี่ปุ่น’

ช่วงนี้ชีวิตของผมเทพจรลงเท้าผิดปกติ ภายในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็มผมได้เดินทางไปมาแล้วถึงสามประเทศ

ขึ้นต้นจากประเทศลาว ตามด้วยมาเลเซีย และปิดท้ายด้วยประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งสำหรับประเทศญี่ปุ่นนี้ผมเว้นวรรคไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนกันมานานในราวสามปีแล้ว ด้วยสาเหตุที่ทุกคนทราบกันดี คือ การระบาดของโรคโควิด-19 พอทุกอย่างปลอดโปร่งเปิดโอกาสให้เดินทางได้ ใครต่อใครหลายคนรวมทั้งผมด้วยก็เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกันด้วยความคิดถึง

ขอกระซิบว่าผมเคยใช้ชีวิตอยู่ประเทศญี่ปุ่นนานถึงหนึ่งปีเต็มเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว คือระหว่างปี 2534 ถึง 2535 เป็นการไปทำงานวิชาการที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

เพราะฉะนั้น ผมกับประเทศญี่ปุ่นจึงคุ้นเคยกันเป็นพิเศษในหลายแง่มุม

สําหรับการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผมไปที่เมืองฟุกุโอกะครับ ไม่ได้ไปโตเกียว เกียวโต ฮอกไกโด หรือโอซากา บรรดาเมืองยอดนิยมของคนไทยกับใครเขา

พอเดินทางไปเมืองที่ไม่คุ้นเคยก็ได้เห็นอะไรที่แปลกตาไปกว่าที่เรารู้จักครับ

โปรแกรมของผมวันหนึ่ง เป็นการเดินทางไปที่เมืองคิตะคิวชู ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองฟุกุโอกะออกไปด้วยการเดินทางทางรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ภารกิจของผมมีสองช่วง ช่วงเช้าเป็นการไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับโรงงานกำจัดขยะของเทศบาลเล็กๆ แห่งหนึ่ง เป็นท้องถิ่นที่มีประชากรเพียงแค่ 14,000 คน จะเรียกว่าเป็น อบต.ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งก็เห็นจะได้

ส่วนช่วงบ่ายเป็นการแวะไปเยี่ยมชมพูดคุยกับ Kitskyushu Robot and DX Promotion Center ศูนย์ที่ว่านี้เป็นของเทศบาลเมืองคิตะคิวชูเองโดยตรง ทำหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนหรือบริษัทต่างๆ ให้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปใช้ในกิจการ ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจของภาคเอกชนในเมืองดังกล่าวมีความเจริญเฟื่องฟู และก่อให้เกิดรายได้กับประชาชน

รวมทั้งเป็นบ่อเกิดภาษีที่จะงอกเงยขึ้นของเทศบาลท้องถิ่นด้วย

เรียกได้ว่าในเวลาหนึ่งวัน ผมได้ไปพบเห็นการทำงานของเทศบาลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

อบต.ขนาดเล็กยังคงทำภารกิจดั้งเดิมแต่ด้วยวิธีการใหม่ นั่นคือเรื่องการจัดการขยะ แทนที่จะใช้ระบบฝังกลบหรือส่งออกไปให้เป็นปัญหาของเมืองอื่นหรือประเทศอื่น เขาเลือกที่จะตั้งเป้าหมายให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะตามครัวเรือนออกเป็นประเภทต่างๆ

แรกทีเดียวก็แยกออกไม่กี่ประเภทหรอกครับ แต่ล่าสุดคือปัจจุบันนี้ชาวบ้านเมืองนี้แยกขยะเป็นรายละเอียดถึง 39 ประเภท

แต่ละประเภทก็มีกระบวนการในการนำกลับมาใช้ใหม่ นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำไปผลิตเป็นก๊าซสำหรับเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยวิธีการต่างๆ นานา

ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างระบบดังกล่าวนี้รัฐบาลกลางลงทุนให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายของ อบต.เอง

แต่ถ้าเป็นขยะอุตสาหกรรมหรือขยะที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาก็แยกระบบจัดการไว้อีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของขยะประเภทนั้น

ที่น่าสนุกและน่าสนใจเป็นพิเศษคือปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากโรงงานหรือหน่วยกำจัดขยะที่ว่านี้ มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง

แบบที่เป็นปุ๋ยน้ำนั้น ชาวบ้านมาขอรับไปฉีดพ่นในแปลงพืชผักต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องเสียราคาการใช้จ่ายเลยแม้แต่สลึงเดียว

อ๊ะ! ขอประทานโทษ ต้องบอกว่าแม้แต่เพียง “เยน” เดียวสินะครับ

แต่ถ้าชาวบ้านไม่มีความสามารถในการฉีดพ่น เทศบาลนี้ก็รับฉีดพ่นจนถึงแปลงไร่แปลงนาให้ในราคาถูกแสนถูก

ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นปุ๋ยแห้งนั้นแจกฟรีสำหรับชาวบ้านมารับไปใช้ประโยชน์เหมือนกัน

ทำแบบนี้แล้วผลผลิตการเกษตรของเมืองขนาดเล็กแห่งนี้จึงคุณภาพดี เป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค ในพื้นที่ต่อเนื่องกันกับที่ผมแวะไปเยี่ยมชม อบต. ได้สร้างเป็นตลาดถาวรไว้สำหรับ “พี่น้องประชาชน” นำสินค้าการเกษตรทั้งที่เป็นของสดและของแปรรูปมาจำหน่าย

ถ้าเรื่องที่เขาเล่ามาทั้งหมดประสบความสำเร็จจริงดังว่า ผมจะไม่แปลกใจเลยที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าและครั้งต่อๆ ไป ผู้บริหารทีมเดิมก็จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ต่อไป

ส่วนวิธีทำงานของเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ในเรื่องการส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เพิ่งเริ่มเดินเต็มรูปมายังไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม จะประสบความสำเร็จอย่างไรหรือไม่ ต้องตามดูกันครับ

กรณีนี้เทศบาลไประดมความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีความรู้เรื่องนี้มาทำการศึกษาวิจัยและสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่ารายใหม่ได้เข้ามาพบปะหารือ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าการนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการผลิตนั้นทำได้อย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เข้ามาประกบคู่ หมายความว่าพร้อมที่จะให้เงินกู้สำหรับเจ้าของกิจการที่จะทำงานในแนวทางนี้

ตัวศูนย์หรือหน่วยงานที่ผมแวะไปชม มีหุ่นยนต์ทำหน้าที่สาธิตว่าการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตทำอะไรได้บ้างอยู่ราวสิบตัว งานที่ผ่านมือหุ่นยนต์มาแล้วมีความแม่นยำเที่ยงตรงอย่างไร

สถานที่เดียวกันนี้มีทั้งนักวิจัยเพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเหมาะสมกับการทำงานที่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีเด็กนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นภาคีร่วมกันเข้ามาฝึกงาน

แถมเขายังกระซิบด้วยว่า ถ้าประเทศไทยคิดจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่เขาบ้าง โอกาสที่จะเจรจาร่วมมือกันก็มีอยู่

แค่ฟังตัวอย่างสองเรื่องนี้แล้ว ผมก็หูตาโตเลยครับ

เพราะอย่างน้อยก็ได้ความเข้าใจในภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้นจากที่เคยรู้มานานแล้วว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นนั้นเข้มแข็งมาแต่ไหนแต่ไร แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เจ้าบ้านผ่านเมืองที่รัฐบาลกลางส่งไปทำหน้าที่ ไปอยู่เพียงสองปีสามปีแล้วก็ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นแบบบ้านเรา

ผมนึกเองเออเองว่า ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ย่อมมีความใกล้ชิดกับความต้องการของคนในท้องถิ่นมากกว่าคนที่มาจากท้องถิ่นเป็นธรรมดา

แต่พอพูดถึงเรื่องนี้ในบ้านเราขึ้นมาทีไร ก็จะมีคนชักแม่น้ำทั้งร้อยแปดสายขึ้นมาอธิบายว่าทำไม่ได้ในเมืองไทยหรอก

สาเหตุที่กล่าวว่าทำไม่ได้มีสารพัด ข้อใหญ่ใจความคือ เกรงว่าท้องถิ่นจะขาดธรรมาภิบาล เหมือนอย่างที่ “สหกรณ์” ได้กลายเป็น “สหโกง” ไปแล้วในหลายที่

ผู้ที่ยกข้อเถียงแบบนี้ คงไม่รู้สินะว่า รัฐบาลก็ขาดธรรมาภิบาลและโกงได้ไม่แพ้ท้องถิ่น และบทจะโกงขึ้นมาก็โกงได้มหาศาลมหึมา

จนเสาไฟกินรีแถวปากน้ำอายม้วนต้วนกันไปเลยทีเดียว

ตรรกะในการโต้วาทีแบบนี้ เท่ากับเราบอกว่า ถ้าให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากนัก เขาก็จะโกงกันได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ให้ท้องถิ่นเป็นอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว

ถ้าขยับต่อไปอีกนิดก็จะอาจถึงขั้นตอนที่ต้องใช้เหตุผลว่า ตำรวจโกงมากนัก เพราะฉะนั้น อย่ามีตำรวจเสียเลย หรือทหารทำปฏิวัติบ่อยมากนัก ดังนั้น อย่าได้มีกองทัพเสียเลย

ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายอย่างไรเสียก็ต้องมีอยู่ ตำรวจกับทหารก็เลิกไม่ได้ คำถามที่ถูกต้องคือ การดำรงอยู่ขององค์กรและหน่วยงานเหล่านั้นจะทำให้มี “ธรรมาภิบาล” เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ขนาดขององค์กรและบุคลากรรวมทั้งงบประมาณต้องมีความสมส่วนกับบทบาทหน้าที่ การทำงานต้องมีความโปร่งใส

และทุกภารกิจต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งไม่ใช่ผลประโยชน์ของสมาชิกในองค์กร

การเดินไปในทิศทางที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้ แม้ต้องใช้เวลาแต่ก็ไม่ควรใช้เวลานานจนแก่ตายเป็นรุ่นๆ แล้วก็ยังไม่สำเร็จผลเสียที

เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์คือ ในการเปลี่ยนแปลงที่ว่า อย่าให้คนในองค์กรเป็นคนชี้ต้นตายปลายเป็นเป็นอันขาด

ของพรรค์นี้ต้องให้คนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีเพียงแค่คนสองคนพอเป็นน้ำจิ้ม ความเปลี่ยนแปลงถึงจะเกิดขึ้นได้

ชีวิตที่อยู่มานานขนาดผมนี้ได้ยินมาหลายครั้งแล้วครับว่า หน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้จะปฏิรูปหน่วยงานของตัวเองให้โปร่งใส ระบบสวัสดิการที่จัดด้วยเงินงบประมาณสำหรับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยต้องไม่หายหกตกหล่น

คนเป็นนายต้องไม่กินเบี้ยเลี้ยงของลูกน้อง

ระบบส่งส่วยเหนือชั้นเป็นทอดๆ ขึ้นไปต้องไม่มี

คนฟังฟังจนเบื่อแล้ว คนพูดไม่รู้จักเบื่อบ้างหรืออย่างไรก็ไม่รู้

ว่าไงวิ?