หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๖๕)

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๖๕)

 

การรวมหรือแยกของนานาประเทศในโลกนี้ ที่จริงแล้ว ขึ้นกับสิ่งเล็กๆ เพียงสิ่งเดียว นั่นคือภาษาเขียน

ภาษาเขียนที่มหัศจรรย์มากคือ ภาษาจีน มันเป็นภาษาภาพ แต่ที่ทรงพลังมากอย่างไม่น่าเชื่อ คือมันเป็นตัวรวม

วิธีคิด คือการเปรียบเทียบสองอาณาจักรใหญ่ในโลก ซึ่งเกิดขึ้นในยุคโบราณ คืออาณาจักรจีนและอาณาจักรโรมัน

อาณาจักรโรมัน เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 753BC และค่อยๆ ขยายตัว จนต่อมาแบ่งออกเป็นอาณาจักรโรมันตะวันตก และอาณาจักรโรมันตะวันออก

อาณาจักรโรมันตะวันตกแตกดับก่อน คือในปี 476AD

ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออก ยังรุ่งเรืองต่อมาได้อีกนาน จนถึงวันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลแตก ในปี 1453AD แม้โดยนาม พวกเขาจะอยู่ต่อมาได้อีกหน่อย แต่โดยความเป็นจริง ก็ดับสลายในปีนั้นเอง

ดังนั้น รวมเวลาอาณาจักรโรมันตะวันตก มีอายุได้ 1,229 ปี ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออก อยู่ต่อมาได้อีก 977 ปี ดังนั้น อาณาจักรโรมัน โดยรวมจึงมีอายุ 2,206 ปี ถือเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ และมีอายุยืนยาว ไม่นับจีน

 

พื้นที่ของอาณาจักรนี้ มีขึ้นและลง เช่น ในปี 117AD อาณาจักรนี้ครอบครองพื้นที่ราว ๕ ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรราว ๖๐ ล้านคน แผ่ขยายไปกว้างใหญ่ ครอบครองทุกประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาถึงตะวันออกกลาง และทางเหนือของแอฟริกา ทางเหนือขึ้นไปครองเกาะอังกฤษ

เปรียบเทียบกับอาณาจักรจีน เริ่มต้นตั้งแต่ยุคตำนาน คือสมัยสามกษัตริย์และห้าจักรพรรดิ (2852BC-2070BC) เท่ากับว่าอาณาจักรจีนเริ่มต้นในปี 2852BC และยังดำรงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ มีรวมมีแยก มีเจริญและเสื่อมถอย แต่ไม่เคยดับสูญ

วันนี้อาณาจักรจีนจึงดำรงอยู่มาราวห้าพันปี ถือเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุด และมีอายุยืน เป็นอันดับหนึ่งในโลก

ในแง่ของพื้นที่และจำนวนประชากร ก็ใกล้เคียงกัน เช่นเปรียบเทียบกับอาณาจักรของราชวงศ์ฮั่น

(202BC-220AD) ราชวงศ์ฮั่นครอบครองพื้นที่ราว ๖ ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว ๖๐ ล้านคน สองอาณาจักรนี้ในยุคนั้น เรียกว่าสูสีกันทีเดียว

ความแตกต่างที่ลึกซึ้งของสองอาณาจักรนี้ กลับอยู่ที่ภาษาเขียน กล่าวคือ คนจีนใช้ภาษาภาพ ส่วนชาวโรมันใช้ภาษาเสียง มีพยัญชนะ เป็นตัวสะกด

มันเป็นการเลือกที่แตกต่าง แต่มีผลกว้างใหญ่อย่างคาดไม่ถึง

 

๑๐

ที่จริงแล้ว ที่เราเห็นว่าเป็นคนจีน ต้นกำเนิดของพวกเขาเป็นชนหลายเผ่า หลายชนชาติ แต่ล้วนถูกภาษาเขียนนี้หล่อหลอม รวมกันจนกลายเป็นจีนเดียว

ประเด็นนี้น่าทึ่งยิ่งนัก ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยชุนชิว (770BC-476BC) มีก๊กใหญ่ คือก๊กฉู่ ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในเจ็ดก๊ก ที่จริงแล้วก๊กนี้ไม่ใช่คนจีน หากแต่เป็นชนเผ่าหนึ่งทางใต้ ภาษาพูดไม่เหมือนกันเลย วัฒนธรรมก็แตกต่าง

แต่วันหนึ่ง พวกเขาตัดสินใจเลือกใช้ภาษาภาพของคนจีน มาเป็นภาษาเขียนประจำชาติ ไม่นานพวกเขาก็ถูกหล่อหลอม จนกลายเป็นคนจีน

๑๑

เช่นเดียวกับยุคสมัยของสิบหกอาณาจักร (304-439) หรือยุคสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (386-589) อาณาจักรมากมายทางตอนเหนือ ล้วนไม่ใช่คนจีน มีแต่ทางใต้เท่านั้น ที่เป็นจีน

อาณาจักรเหล่านั้นคือชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือ ซึ่งมีมากมาย สับสน มีภาษาพูดที่แตกต่าง แต่ทว่า พวกเขาก็ล้วนใช้ภาษาเขียนเดียวกัน คือภาษาภาพของจีน และอีกเช่นกัน ไม่ช้าก็ถูกหล่อหลอมจนกลายเป็นคนจีน

๑๒

การหล่อหลอมนี้ ย่อมหมายถึงการแต่งงาน การมีลูกครึ่ง ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน แต่ทว่า มีภาษาภาพเป็นตัวกลาง ความรู้สึกว่านี้คือชาติที่แตกต่างจะค่อยๆ หายไปในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วอายุคน

สิ่งที่เหลืออยู่ คือความขลังของภาษาภาพจีน มันรวมได้หมดจริงๆ แม้แต่ชาวมองโกลและชาวแมนจูในยุคหลัง ก็ล้วนถูกย่อยสลาย

๑๓

แต่ทว่า ทางอาณาจักรโรมัน ที่ใช้ภาษาเสียง มันค่อยๆ แตกออก ตามภาษาพูดที่แตกต่าง แม้จะใช้อักษรแบบเดียวกัน แต่มันนับวันก็แยกไกลออก เกิดเป็นชนชาติมากมาย แม้แต่ดินแดนที่ถูกปกครองมานานเป็นพันปี วันเวลายาวนานขนาดนี้ คือวันเวลาของหลายสิบชั่วอายุคน

หากนับรวมหมด บางกลุ่มนานถึงหนึ่งร้อยชั่วอายุคน แต่ทว่า ความแตกต่างกลับมีแต่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มตามกาลเวลา เพราะเสียงและสำเนียง จะยิ่งเพี้ยนต่างกันออกไป

๑๔

ในจีนเอง ในแต่ละมณฑลก็มีสำเนียงที่แตกต่าง แต่ด้วยภาษาเขียนภาพเดียวกัน มันก็ยังถูกดึงเข้าหากันอยู่ดี

 

๑๕

อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน หากใช้ภาษาภาพ จะกลายเป็นชาติเดียวกัน ช้านานแล้ว แต่วันนี้ ขนาดชาติที่ใกล้กันอย่างที่สุดคืออังกฤษและฝรั่งเศส กลับแตกต่างกันเป็นอันมาก เนื่องจากภาษาของพวกเขาต่างกัน

ภาษาภาพเหมือนแท่งแม่เหล็ก ที่ดึงดูดสิ่งที่คล้ายกันเข้ามา และละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างออกไป แต่ภาษาเสียงกลับเป็นตรงกันข้าม มันจะไปขยายความ แม้ในสิ่งเล็กๆ เช่น จริต นวล นิสัย ให้ยิ่งแตกต่างกันไปกว่าเดิม

๑๖

นี้เป็นความลี้ลับของภาษาเขียน ซึ่งไม่น่าเชื่อเลย ว่ามันจะมีอิทธิพลได้สูงระดับนี้ สมมติวันนี้ ชาวแอฟริกันใช้ภาษาภาพของจีน มองดูวูบแรกอาจคิดว่าคนผิวดำแบบนี้ จะกลายเป็นจีนได้อย่างไร

แต่หากปล่อยให้มันดำเนินไป สักสองร้อยปี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ ในที่สุดทวีปแอฟริกา ก็จะกลายเป็นคนจีน เราจะเริ่มคุ้นกับคนจีนผิวดำ

๑๗

ที่จริงแล้ว โลกนี้ทั้งใบก็สามารถรวมเป็นหนึ่งชาติได้ หากพวกเขาเต็มใจใช้ภาษาภาพเดียวกัน บวกกับกาลเวลาอีกสักหน่อย

แต่ในทางปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้ ง่ายกว่าที่คนจีนจะยอมทิ้งภาษาภาพของตน แล้วเข้าสู่โลกประชาธิปไตย

วันนี้ความต่าง กลับมีคุณค่ากว่า เพราะมันเป็นความต่างที่มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ มีเทคโนโลยีรองรับ นี้คือโลกาภิวัตน์