‘ไม่ได้อ่อย’ แน่นะวิ ‘งานวิจัยญี่ปุ่น’ ชี้ชัด ‘หญิงสาวเปิดฝาขวดน้ำไม่ได้’ เป็นเรื่องจริง

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘ไม่ได้อ่อย’ แน่นะวิ

‘งานวิจัยญี่ปุ่น’ ชี้ชัด ‘หญิงสาวเปิดฝาขวดน้ำไม่ได้’

เป็นเรื่องจริง

 

แฟนพันธุ์แท้ “มติชนสุดสัปดาห์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคุณสุภาพบุรุษ เวลาไปกินอาหารที่ Food Court เคยไหมที่ต้องคอยเปิดฝาขวดน้ำให้คุณสุภาพสตรี

เนื่องจากคุณเธอหลายคนมักยื่นน้ำขวดมาให้ ด้วยเหตุผล “เปิดไม่ออก”

คุณสุภาพบุรุษแสนดี ส่วนมากจะหยิบขวดน้ำมาบิดฝาให้แต่โดยดี

แต่ก็มีคุณสุภาพบุรุษ “ทรงอย่างแบ๊ด” หลายคนส่ายหัว หาว่าคุณสุภาพสตรีเป็น “โรคแกล้งเปิดขวดน้ำไม่ได้” หรือเรียกอีกอย่างว่า “กระแดะ” นั่นเอง (ฮา)

ร้อนถึงนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ที่มักลงทุนลงแรง ลงเวลาไปกับการวิจัยอะไรแปลกๆ มากมาย อดรนทนไม่ได้ ที่คุณสุภาพบุรุษ “ทรงอย่างแบ๊ด” ต่อว่าคุณสุภาพสตรีให้ “แซ้ดอย่างบ่อย” แบบนี้

จึงได้ลงมือทำวิจัยหัวข้อ “เหตุผลที่ผู้หญิงบิดฝาขวดน้ำเองไม่ได้” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ https://unlimit-j.co.jp

นักวิจัยแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ได้ทำการเก็บสถิติเพื่อหา “เหตุผลที่หญิงสาวบิดฝาขวดน้ำเองไม่ได้” ว่าการที่ “หญิงสาวบิดฝาขวดน้ำเองไม่ได้” นั้น เป็นเพราะอะไรกันแน่?

ไม่ใช่ว่าพวกเธอ “แกล้งอ่อย” หนุ่มๆ หรอกนะ แต่ว่าเป็นเรื่องของ “แรงบิด” ที่มีไม่มากพอต่างหาก อิอิ

https://unlimit-j.co.jp เปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าวว่า การที่สุภาพสตรีสักคนหนึ่ง ตั้งอกตั้งใจ “บิดฝาขวดพลาสติก” นั้น คุณเธอจะต้องใช้แรงบีบมือตั้งแต่ 12 kgf (Kilogram-force) ถึง 45 kgf

โดย Kilogram-force หมายถึง “หน่วยของแรงบิด (Torque)” รูปแบบหนึ่ง

จากภาพ ได้แสดงว่า “แรงบีบของมือและนิ้ว” ในการจับฝาขวดกับ “แรงในการบิดของมือและนิ้ว” จะต้องสัมพันธ์กัน จึงจะสามารถบิดฝาขวดให้เปิดออกได้

ทั้งนี้ โดยทั่วไป ขั้นตอนการบิดฝาขวด เพื่อเปิดขวดแบบฝาเกลียวนั้น จะต้องใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งเป็นหลัก (อาจมีนิ้วกลางช่วยในบางคน)

https://unlimit-j.co.jp ระบุว่า นักวิจัยญี่ปุ่นได้แทนค่าการทำลองดังนี้

1. สัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน ? คือ 1 (ไม่ลื่น)

2. แรงบีบมือ = แรงหมุนฝาขวด

3. ค่า ? ของขวดทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 0.5 – 0.8 (ลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง)

4. ค่า ? อาจจะน้อยหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวของฝาขวด

เพราะฝาขวดบางชนิดมีพื้นที่ให้จับฝาเพียงเล็กน้อย จึงทำให้จับได้ไม่ถนัดมือนั่นเอง

5. ถ้า ? คือ 0.5 จะต้องใช้แรงบีบมือประมาณ 20 Kilogram-force ซึ่งสำหรับหญิงสาวผู้บอบบาง จะไม่มีแรง Kilogram-force มากถึง 20

เพราะการเปิดฝาขวดน้ำดื่มนั้น ต้องใช้แรงบีบฝาขวดด้วยนิ้วมือหลัก และออกแรงบิดไปพร้อมๆ กัน

6. การแทนค่าด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ในข้อ 1. ถึง 5. เป็นเพียงแค่ตัวอย่างในการอธิบายคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย

โดยต้องนำ “ตัวแปร” อื่นๆ มาคำนวณ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เข้ามาร่วมในการคิดด้วย

ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของฝาปิด สภาพพื้นผิว ชนิดของฝา เช่น พลาสติก หรืออะลูมิเนียม สภาพของนิ้วมือ หรือลักษณะของการจับฝาขวด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัจจัยภายนอก” ทั้งที่ควบคุมไม่ได้ และควบคุมได้ (แต่ขี้เกียจควบคุม-ฮา) เข้ามาเกี่ยวข้อง

อันประกอบด้วย สภาพฝาขวด อุณหภูมิฝาขวด ณ ขณะเปิด ขนาดของนิ้วมือ ระดับความแห้งของนิ้วมือ

และปัจจัยอื่นๆ อีกเล็กน้อย อาทิ ผิวมันทำให้นิ้วมีน้ำมัน หรือความมันจากเครื่องสำอาง เช่น โลชั่น หรือกำลังนิ้วอ่อนแรง เป็นต้น

หรือไม่ก็เกิดจากความกลัวเสื้อผ้าเลอะเทอะ เปียกชื้น จากน้ำกระเด็น หากเปิดขวดผิดพลาดแล้วน้ำกระฉอกออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ Keep Look กลัวเสียฟอร์ม (ฮา) ถ้าเปิดขวดแล้ว ยังไงก็เปิดไม่ออก

ผลการทดลอง จากการสังเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากกลุ่มตัวอย่าง ปรากฏในกราฟสถิติ (ดูกราฟ)

จากภาพ (กราฟสถิติ) แสดงการกระจายตัวของ “แรงบีบของมือและนิ้ว” เฉลี่ยตาม “ช่วงอายุของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น”

โดย “แกนตั้ง” คือ “แรงบีบของมือและนิ้ว” ส่วน “แกนนอน” คือ “ช่วงอายุของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น”

เมื่อพิจารณาจากภาพ (กราฟสถิติ) จะพบว่า “หญิงสาวชาวญี่ปุ่น” มีค่าเฉลี่ย “แรงบีบของมือและนิ้ว” อยู่ที่ 30 Kilogram-force ใน “ช่วงอายุของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น” อยู่ที่ 20 ปี

โดยส่วนใหญ่จะมีแรงบีบมืออยู่ที่ประมาณ 10 Kilogram-force

จะเห็นได้ว่า เมื่อนำปัจจัยทุกอย่างมาผนวกเข้าด้วยกัน ในการทดลองบิดฝาเกลียวเพื่อเปิดขวดพลาสติกของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น

โดยการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างสุภาพสตรีเปิดขวดน้ำในสภาพแวดล้อมต่างกัน

ผลการทดลองระบุว่า การบิดและหมุนฝาขวดไม่ได้ เนื่องจากปัจจัย “จับฝาขวดไม่แน่น”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัย “นิ้วมือไม่แห้งพอ” คือมีความชื้น หรือความมันจากโลชั่น ทำให้นิ้วมีน้ำมัน

เนื่องจากกลไกในการบิดฝาขวดให้เปิดออกได้ จะต้องอาศัย “แรงบีบของมือและนิ้ว”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาก “มือและนิ้ว” สัมผัสกับ “ฝาขวด” ได้มากเท่าไหร่ ก็จะมี “แรงที่เกิดขึ้น” กับ “มือและนิ้ว” และ “ฝาขวด” มากขึ้นเท่านั้น

โดย “แรงทั้งหมด” จะกระจายมาเป็น “แรงบิดฝาขวด” นั่นเอง

 

ทั้งหมดทั้งมวลจึงกลายเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดหญิงสาวจำนวนมากถึงเปิดหรือบิดฝาเกลียวน้ำขวดเองไม่ได้

ร้อนใจสุภาพบุรุษ “ทรงอย่างแบ๊ด” หลายคนต้องลงมือเปิดฝาขวดให้แทน

(ซึ่งสุภาพสตรีบางท่านก็คงเปิดฝาขวดน้ำเองได้แหละ แต่ขี้เกียจ อิอิ)

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลมากมายที่ระบุว่า “กำลังมือ” หรือ “แรงบีบของมือและนิ้ว” ของ “หญิงสาว” มีพละกำลังเพียงแค่ 60% ของ “ชายหนุ่ม”

นี่อาจเป็นปัจจัยหลัก หรือปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็ได้ ที่ทำให้ “หญิงสาวที่เปิดขวดน้ำเองไม่ได้”

อีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งมีนักวิชาการพยายามวิเคราะห์ก็คือ โรคโคนนิ้วโป้งอักเสบ เนื่องจากเพศหญิงเป็นผู้อุ้มลูก (ใช้นิ้วโป้งซ้อนรักแร้เด็ก) มากกว่าเพศชาย

อย่างไรก็ดี มีผู้คิดค้น “ตัวช่วย” เพื่อไม่ให้ “หญิงสาวที่เปิดขวดน้ำเองไม่ได้” สามารถเปิดเองได้

นั่นคือ Bottle Cap Opener หรือ “ที่เปิดขวดน้ำชนิดฝาเกลียว” นั่นเอง

Bottle Cap Opener นั้นมีหลายรูปแบบครับ และมีวางจำหน่ายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่เปิดฝาเบียร์ (ฝาจีบ) น้ำอัดลม โซดา อันนี้เห็นกันดาษดื่น

หรือจะเป็นแบบเปิดฝาขวดซุปไก่ ขวดรังนก ลักษณะเหมือนคีม และที่เปิดฝาขวดแบบเกลียวตื้น เช่น ขวดน้ำจิ้มไก่ หรือที่เปิดฝาขวดแบบงัดก็มี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เปิดขวดไวน์ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ สำหรับเปิดจุกไม้ก๊อก เพื่อไม่ให้เศษไม่ก๊อกหล่นลงไปในขวดไวน์

ซึ่ง Bottle Cap Opener สำหรับเปิดขวดน้ำดื่มชนิดฝาเกลียวนี้ ใช้หลักการเหมือนที่เปิดขวดไวน์

รูปร่างหน้าตาคล้ายกับที่เปิดขวดไวน์คือมีปีกสองข้างยืดออกจากหลุมเกลียวที่ใช้ครอบฝาขวด โดยปีกสองข้างที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มแรงบิดนั่นเอง

โดยวิธีการใช้งานก็คือ นำที่เปิดขวดน้ำดื่มครอบลงไปบนฝาขวด แล้วออกแรงหมุน

ซึ่งจะใช้แรงน้อยกว่าบิดด้วย “แรงบีบของมือและนิ้ว” ที่สัมผัสกับ “ฝาขวด” โดยตรงนั่นเองครับ