โอลด์ โหวตเตอร์ The ส.ว. ปิดสวิตซ์ ‘อุ๊งอิ๊ง’

เป็นที่รับรู้กันว่าบทบาทของวุฒิสภาชุดนี้ตลอดระยะเวลา 4 ปีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการสกัดกฎหมายที่มาจากการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล

ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการลดบทบาทของระบอบการเมืองที่สืบทอดมาจากยุค คสช.

ส่วนกฎหมายสำคัญๆ ที่รัฐบาลส่งมายังสภาสูง การลงมติของ 250 ส.ว.แทบจะไม่มีใครแตกแถว

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ 250 ส.ว. แต่ฝ่าย ส.ว.ใช้วิธีโดดร่มให้สภาล่ม ตามอาการของคนหวงอำนาจ

ไม่ใช่แต่เรื่องการเมืองภาพใหญ่ที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐบาล หรือขวางการปิดสวิตซ์ ส.ว.เท่านั้น ประเด็นอย่างการกระจายอำนาจที่ทั้งประเทศและรวมถึงทั้งโลกตกผลึกกันแล้วว่า เทรนด์ของสังคมประชาธิปไตย ยังไงมันก็หนีการลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่นไปไม่ได้ ส.ว.ชุดนี้ก็ยังทำหน้าที่ได้ดีในการคว่ำร่างกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่นช่วงปลายปีที่ผ่านมาอย่างไม่มีเยื่อใย มี ส.ว.เห็นด้วยแค่ 6 คนจาก 250 คน

หลังพิงทางหลักการของ ส.ว. คือการอ้างที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมยืนยันว่าตัวเองคือเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา จึงถือเป็นหลักสำคัญในการเลือกว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศ ใครควรจะบริหารบ้านเมือง จะกำหนดทิศทางประเทศอย่างไร

ส.ว.จึงกลายเป็นเป็นเครื่องมืออันดีในการค้ำจุนระบอบประยุทธ์ แบบที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 และจะยังคงมีอำนาจต่อจนถึงพฤษภาคม 2567 ตอกย้ำความเป็น “สภาตรา ป.” ฉายาที่ได้รับจากสื่อสภา ผู้เป็นหลักในการรักษามรดกระบอบ คสช.

 

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ความสัมพันธ์ของ 2 ป.ไม่เหมือนเดิม แม้จะไม่ถึงขั้นแตกแยก แต่ก็อยู่ในระดับแยกกันเดินช่วงแข่งขัน

หากเอากรอบที่มาความสัมพันธ์ทางอำนาจมาวิเคราะห์ 250 ส.ว. จะแบ่งคร่าวๆ ได้ว่า ส.ว.สาย “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีประมาณ 120 คน สายของ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มีประมาณ 80-100 คน ขณะที่ ส.ว.สายอิสระ คือ กลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 30-50 คน ที่อาจจะเอนไปทาง พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่โหวตขัดแย้งกับความเห็น ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ได้

การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิรบที่จะเข้ามาท้าทายกลุ่มก้อนทางอำนาจที่สืบทอดมาจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 สิ่งที่จะการันตีมรดกระบอบ คสช.ได้ดีที่สุดขณะนี้ คือการทำให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือใครก็ได้ที่เป็น ‘ป.’

ไม่ว่าจะเป็น ป.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เพราะมีเพียงนายกรัฐมนตรี 2 ชื่อนี้เท่านั้นที่จะการันตีความปลอดภัยในการคงอยู่ของมรดก คสช. โดยเฉพาะ 250 ส.ว.ที่มาจากการคัดสรรแต่งตั้งจาก คสช.นั่นเอง รวมถึงการคงอยู่ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้งของ ส.ว.ชุดนี้

นั่นจึงทำให้ปู่โสมเฝ้ามรดกระบอบ คสช.อยู่นิ่งๆ แบบสภาสูงทั่วโลกไม่ได้ ต้องออกมาเป็นผู้เล่นทางการเมือง โยนหินถามทาง หรือบางทีก็โยนหินขวางทางซะเลย เพื่อหวังสกัดบางสิ่งบางอย่างไม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็นผู้นำประเทศคนต่อไป

จุดสังเกตแรกเริ่มจากอาการของวันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่ออกมาปูดข่าวแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริงของเพื่อไทย ว่าเป็นอักษรย่อ ‘ส.ตัวใหญ่’ พร้อมระบุว่าอาจไม่ใช่เวลาของ ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’

นัยยะหนึ่งของการพูดเช่นนี้คือการส่งสัญญาณถึงความต้องการทางการเมืองว่านายกฯ คนต่อไปคุณสมบัติแรกคือการต้องคุยได้กับทุกฝ่าย เข้าได้กับทุกคนรอบทิศทั้งซ้ายขวาหน้าหลังล่างบน นั่นคือหมายความว่าต้องเป็นคนที่ยอมรับการดำรงอยู่ของ 250 ส.ว.ให้ได้

ถัดมาคือการออกมาพูดว่า “ตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ของเล่นตระกูลใด” ต้องเป็นที่ยอมรับของคนทั้งสภาทั้งประเทศ วันชัยระบุว่า พร้อมขอให้ระวังจะเจออิทธิฤทธิ์ 250 ดับฝันแลนด์สไลด์

“ผมได้เห็นมาเต็มสองลูกตา ได้ยินมาเต็มสองรูหูว่า เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ก็แลนด์สไลด์ไป เพื่อไทยจะเลือกอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ ก็เป็นเรื่องของเพื่อไทย แต่พรรคผมและพวกผมไม่เลือกแน่นอน” วันชัยระบุ

ต่อมาวันชัยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม ยืนยันว่า เท่าที่ฟังมา วุฒิสภาจะขัดขวาง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรี อ้างมองเรื่องวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ และประสบการณ์ยังไม่มี หากเป็นแล้วบ้านเมืองอาจไม่สงบ เสียงข้างมากของ ส.ว.ก็ไม่เอา

ตามมาด้วยความเห็นของกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ที่แม้จะบอกว่าอย่าเพิ่งเหมารวม แต่ก็ยอมรับว่ามี ส.ว.ที่ไม่ยอมรับ น.ส.แพทองธาร พร้อมเสนอว่า ถ้าโหวตชื่อ น.ส.แพทองธารแล้วเกิดปัญหาก็ต้องเอาแคนดิเดตระดับรองๆ ลงไปมาเป็นแทน

ขณะที่เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ส.ว.ก็ไม่น่าโหวตให้ น.ส.แพทองธาร เหตุเพราะเพื่อไทยตั้งข้อรังเกียจและผลัก ส.ว.ออก จะให้แก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว. กล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ การกระทำดังกล่าวทำให้ ส.ว.ถึงไม่เลือก พร้อมยืนยันว่า ส.ว. 90 เปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำ จะโหวตไปในทางเดียวกันในวันเลือกนายกฯ

เสรียังวิเคราะห์ต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีโอกาสเยอะมากในการเป็นนายกฯ คนต่อไป ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้กรอบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2568 ที่จริงก็ไม่มีผล เพราะรัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้ตลอด หากมีเสียงพอ

 

แน่นอนว่าความเห็นของ ส.ว.ดังกล่าวถูกรุมดีดปากจากพลพรรคนักการเมืองฝ่ายค้าน ทั้งเพื่อไทย ก้าวไกล รวมถึงนักวิชาการ อย่างไม่ต้องสงสัย กระนั้น ฝั่ง ส.ว.ก็ยังไปท้ากลับฝ่ายค้าน โดยใช้ตรรกะที่ว่า ถ้าแน่จริงก็ไปชนะเลือกตั้งให้ถล่มทลายเกิน 376 เสียงให้ได้

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงการส่งสัญญาณดังกล่าวของฝั่ง ส.ว. ว่านอกจากการแสดงการขัดขวาง/ไม่ชอบอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชัดเจน ในนัยยะหนึ่งคือการส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ ส.ว.ในการเลือกผู้นำประเทศครั้งหน้าไปด้วยในที

ทำไม ส.ว.จึงกล้าแสดงความเห็น เอาหรือไม่เอา เลือกหรือไม่เลือกใคร ชัดเจนขนาดนั้น ทำไมถึงต้องแสดงออกถึงความพยายามในการคัดค้านแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยขนาดนั้น ทำไม ส.ว.จึงมีความความมั่นอกมั่นใจมากขนาดนั้น นั่นคือคำถาม

ทั้งหมดล้วนคือท่าทีของความอหังการ์ในทางการเมืองฝั่งวุฒิสภา ที่กล้าแม้แต่การออกมาเอ่ยชื่อว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ คนต่อไป ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง ประกาศยุบสภาเลยด้วยซ้ำ

 

ทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตภายใต้แนวคิด “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เขียนในสมัยรัฐบาล คสช. ก็ต้องทำเพื่อสืบทอดอำนาจและวิธีคิดการอุ้มชูมรดกระบอบ คสช. เพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” นั่นแหละ

ไม่มีอะไรมากำหนดว่า ส.ว.จะต้องมีมารยาทตามระบอบประชาธิปไตยซักหน่อย การออกมาร่วมกันส่งเสียงแข็งขัน ด้วยตรรกะที่ไม่เป็นไปตามมารยาทของการเมืองระบอบประชาธิปไตยว่าจะต้องเคารพเสียงของประชาชนคนส่วนใหญ่ เลยชัดเจนได้ขนาดนี้

ก็ประหลาดดี เพราะเพียงแค่พลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 ก็เขียนไว้ชัด สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ

ความหมายก็คือ อย่างน้อย ส.ว. ควรต้องรักษาจุดยืนทางการเมืองนิดหนึ่ง อย่าไปเชียร์ใครจนชัดเจนจนดูเหมือนอยู่ใต้การดูแลการสั่งการของใครเขา แล้วไยจึงออกมาเชิดชูว่าที่แคนดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองซึกหนึ่ง และแสดงความรังเกียจอีกซีกหนึ่งได้หน้าชื่นตาบานขนาดนี้

 

ในวันที่คนพูดเรื่องการเมืองของคนเจนใหม่ พยายามจับตาดูความตื่นตัวทางการเมืองของวัยหนุ่มสาว ที่จะเข้ามาใช้การเมืองเชิงระบบอย่างการเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงประเทศ ความหวังในการเปลี่ยนผู้นำประเทศฝากไว้กับ “นิว โหวตเตอร์” หลายล้านคนที่จะมีสิทธิการเลือกตั้งในครั้งนี้

บางทีเราลืมนึกถึง “โอลด์ โหวตเตอร์” ทั้ง 250 คนในรัฐสภา ที่เขายังมีอำนาจอยู่

ขนาดยังไม่มีการยุบสภา/กกต.ยังไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้/หลายพรรคการเมืองยังไม่พร้อมลงสนาม ส.ว.ยังออกมาแสดงความเห็นอันเกรี้ยวกราดท้าทายได้ขนาดนี้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ในประเทศด้วยว่าเขาจะคิดยังไง

เพราะการที่ ส.ว.หลายคนออกมาประกาศขวางแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่มันคือหลักการเสียงส่วนใหญ่ ความยุติธรรม มารยาทในสังคมประชาธิปไตยต่างหาก ที่ได้รับผลกระทบ

ต่อให้แคนดิเดตนายกฯ ไม่ได้ชื่อ “แพทองธาร-เศรษฐา” ก็ไม่ควร

ประเด็นการพยายามจะปิดสวิตซ์ ส.ว. ที่คนส่วนใหญ่ นักวิชาการ หรือนักการเมืองจากเลือกตั้งพร่ำพูดกันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้คือรูปธรรม จึงชัดเจนว่า ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลประเมินศักยภาพของมรดกระบอบ คสช.ที่ชื่อว่า “ส.ว.-เครือข่าย” ต่ำเกินไป

และโดยเฉพาะ ส.ว. ผู้ดำรงสถานะ “โอลด์ โหวตเตอร์” รู้ว่านี่คือสงครามครั้งสุดท้ายสำหรับกลุ่มก้อนทางอำนาจมรดก คสช.เดิม เขาจึงใช้ทุกวิธีทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือดิ้นต่อสู้แบบไม่สนใคร

ท้าทายประชาชนมากจริงๆ

ท้าทาย “นิว โหวตเตอร์” จริงๆ