สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว โลกแห่งความหวังของฝ่ายขวา

41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (ตอน 6) โลกแห่งความหวังของฝ่ายขวา

ย้อนอ่านตอน  (5)  (4) 

“ลูกไทยห้าวหาญ สู้เผด็จการทารุณไม่เคยหวั่น

เผด็จการประหารชีวัน ศรัทธายังมั่นเสมอจนสิ้นใจ”

เพลงวีรชนปฏิวัติ

จิตร ภูมิศักดิ์

สถานการณ์ทางการเมืองจากต้นปี 2519 เป็นดัง “การประลองกำลัง” ระหว่างกลุ่มการเมืองสองปีกในการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด

แต่ที่เห็นได้ชัดกว่าก็คือการขับเคลื่อนของพลังฝ่ายขวาจัด

ในแต่ละเดือนมีเหตุที่แสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าอย่างรุนแรงของพลัง “ขวาพิฆาตซ้าย”

ถ้าจะทดลองเรียงลำดับเหตุการณ์แล้วก็แทบจะบ่งบอกถึงทิศทางของอนาคตการเมืองไทยอย่างที่ไม่ต้องการคำตอบใดๆ ทังสิ้น

กระแสแห่งความรุนแรง

เหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2519 หากนำมาจัดเรียงโดยสังเขป มีดังนี้

กุมภาพันธ์ 2519

– นายอมเรศ ไชยสะอาด ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่วัดด่านนอก อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พวกเราที่เป็นกรรมการ ศนท. ตกใจกันอย่างมากกับการสังหารที่เกิดขึ้น

– ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกลอบยิงขณะขับรถกลับบ้าน การลอบสังหารครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนในการกวาดล้างปีกสังคมนิยมในเมือง

มีนาคม 2519

– การวางระเบิดโรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างกลที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับศูนย์นิสิตฯ มาตลอด มีผู้เสียชีวิต 5 คน พวกปีกขวาเริ่มบั่นทอนแนวร่วมของศูนย์แล้ว

– การบุกล้อมจับกรรมกรหญิงที่โรงงานฮารา ที่ตรอกจันทร์ การประท้วงยืดเยื้อมากกว่า 6 เดือน

– การเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐ อันเป็นผลจากการครบกำหนดเวลาที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ประกาศไว้ และถูกปาระเบิดที่สยามสแควร์ มีผู้เสียชีวิต 4 คน การโจมตีครั้งนี้ไม่ใช่การขู่อีกต่อไป เพราะเป็นการกระทำที่มุ่งหวังเอาชีวิตโดยตรง และฐานทัพสหรัฐเป็นหลักประกันความมั่นคงไทยที่สำคัญ

มิถุนายน 2519

– พระกิตติวุฒโฑภิกขุ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์จัตุรัสด้วยวาทกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์ว่า “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ”

กรกฎาคม 2519

– ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้เลือกกรรมการชุดใหม่ และเปิดเวทีในการพบกับประชาชนที่ท้องสนามหลวง แต่ก็ถูกก่อกวนด้วยการปาวัตถุของแข็งจนมีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน และขณะเดียวกัน เลขาธิการ ศนท. คนใหม่ สุธรรม แสงประทุม ได้ประกาศว่า

“กรรมการศูนย์นิสิตชุดนี้อาจจะเป็นกรรมการชุดสุดท้าย”…พวกเรารู้สึกกันเช่นนั้นจริงๆ

– ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กลุ่มนักเรียนอาชีวะปีกขวาก็บุกเข้าปิดล้อมที่ทำการศูนย์นิสิตฯ และขณะเดียวกัน สุธรรมได้เล่าในเวลาต่อมาว่ามีการติดต่อให้กรรมการ ศนท. เดินทางออกนอกประเทศ เพราะจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สิงหาคม 2519

– จอมพลถนอมส่งคำขอขอเดินทางกลับเข้าประเทศไทย เสียงในคณะรัฐมนตรีแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยอมที่จะให้จอมพลถนอมอยู่ได้ แต่อีกฝ่ายกลัวว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขบานปลายสู่ความรุนแรง

– ในขณะที่มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมจะเดินทางกลับเข้าไทยนั้น จอมพลประภาสก็เดินทางกลับเข้ามาในไทยก่อน และมีการต่อต้านขนาดใหญ่ขึ้น จนต้องยอมเดินทางออกไป

กันยายน 2519

– หลังจากเป็นข่าวลือมาระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุดแล้ว จอมพลถนอมก็เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวช และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงใหญ่ และสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับประชาชนผู้เห็นต่างด้วยมาตรการเด็ดขาด

– พนักงานการไฟฟ้าของการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม 2 คนคือ วิชัย เกษศรีพงษา และ ชุมพร ทุมไมย ถูกจับแขวนคอ ซึ่งมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการสังหารครั้งนี้เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่

– ศนท. เริ่มเปิดเวทีการประท้วงการเข้ามาของจอมพลถนอม พร้อมกับการเปิดเวทีในต่างจังหวัด

ตุลาคม 2519

– กลุ่มนวพลประกาศรวมพลด้วยการเดินทางมาที่วัดพระแก้ว แล้วเปิดเวทีที่บริเวณสนามไชยพร้อมกับอภิปรายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง

– ศนท. เข้าพบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ผลักดันจอมพลถนอมออกจากประเทศไทย พร้อมกับจัดการชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้น

– ศนท. ตัดสินใจย้ายเวทีการชุมนุมเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับประกาศว่าการชุมนุมจะยุติเมื่อพระถนอมเดินทางออกจากประเทศ

– สถานการณ์ทางการเมืองทวีความตึงเครียดมากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อฝ่ายขวาก็โฆษณาโจมตี ศนท. และต่อต้านคอมมิวนิสต์รุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นสัญญาณของความรุนแรงที่ชัดเจน

กระแสแห่งความกลัว

จากลำดับอย่างสังเขปของเหตุการณ์ความรุนแรงในข้างต้น จนถึงการตัดสินใจของผู้นำนักศึกษาที่จะย้ายเวทีการชุมนุมเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 4 ตุลาคม แล้ว สถานการณ์เริ่มบ่งบอกถึงการเข้าใกล้ “จุดแตกหัก” มากขึ้น

เพราะหากย้อนกลับไปจะเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดนับจากการยอมถอยในเรื่องฐานทัพในเดือนมีนาคม และยอมถอยอีกครั้งที่จอมพลประภาสจะต้องกลับออกจากประเทศในเดือนสิงหาคม แต่การเปิด “เกมรุก” ด้วยการพา “สามเณรถนอม” กลับเข้ามาและขอบวชเป็นพระกลายเป็นเกมใหม่อย่างคาดไม่ถึง

เกมการเมืองอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดเริ่มบ่งบอกชัดเจนมากขึ้นว่า กลุ่มขวาจัดอาจจะไม่ยอมถอยเหมือนเช่นในครั้งก่อนๆ ในสายตาของผู้นำปีกขวาบางส่วนนั้น พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาถอยมากแล้ว และเริ่มตัดสินใจว่าพวกเขาจะไม่ยอมถอยอีกนับจากนี้

อีกทั้งสัญญาณของการ “กวาดล้าง” ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน

คำสัมภาษณ์ของพระภิกษุปีกขวามีความชัดเจนในตัวเอง และไม่ต้องการการตีความใดๆ ทั้งสิ้น

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณถึงบรรดาปีกขวาที่ยังคงรีรออยู่กับความกลัวว่า ถ้าใช้ความรุนแรงจัดการกับกลุ่มปีกซ้ายแล้ว การกระทำดังกล่าวจะเป็น “บาป” ในทางศาสนาหรือไม่…

คำตอบว่าการฆ่าเป็น “เสมือนกับการทำบุญ” เป็นการสร้างวาทกรรมรองรับต่อความชอบธรรมทางจิตใจที่พวกปีกขวาบางส่วนต้องการได้ยินเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าพวกเขา “ไม่ได้ทำบาป”

ขณะเดียวกัน สัญญาณจากวิทยุยานเกราะก็บ่งบอกว่า ถึงเวลาที่จะต้องจัดการแล้ว แม้จะต้อง “ฆ่า” ผู้คนบางส่วน แต่ก็เป็นดังการ “ฆ่าส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่”

หรือในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสมือนกับ “การเชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อส่งสัญญาณถึงผู้คนอีกส่วนที่อาจจะอยู่ในภาวะของการชั่งใจว่าจะเอียงไปในทิศทางใดในทางการเมือง

หรือเป็นสัญญาณถึงบรรดาฝ่ายซ้ายทั้งหลายว่าพวกเขาจะได้รับผลตอบแทนอย่างไรกับการพาใจออกห่างจากอุดมการณ์หลักของรัฐ

เพราะเป็นที่รับรู้กันเสมอว่ารัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมทางอุดมการณ์ของกลุ่มขวาจัดนั้น ไม่เคยเลยที่จะยอมให้มีผู้คนที่เห็นต่างและไม่ยอมเดินไปในทิศทางเดียวกับอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองของพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ

ยิ่งในยุคที่พวกเขาถูกท้าทายอย่างมากจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งหลายจากรอบบ้านและจากภายในบ้านของตัวเองด้วยแล้ว การจะยอมรับกับสภาวะเช่นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

และยิ่งวันเวลาเดินทางมาถึงกลางปี 2519 แล้ว ก็ยิ่งจะต้องตัดสินใจเข้าควบคุมทางการเมืองให้ได้

เพราะการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ก็จะยิ่งทำให้การควบคุมดังกล่าวเป็นไปได้ยากมากขึ้น… เวลาและสถานการณ์กลายเป็นตัวเร่งที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ยิ่งวันเวลาล่วงเลยไปก็ยิ่งเป็นแรงกดดันในตัวเองด้วย

ในสภาวะเช่นนี้ยังถูกผนวกเข้ากับปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้ก็คือ ปัญหา “ความกลัว” ของชนชั้นนำปีกขวา ผู้นำทหารหัวเก่า และกลุ่มขวาจัดทั้งหลายที่กังวลอย่างมากกับอนาคตของประเทศไทย

เพราะหลังจากการล้มลงของสามโดมิโนในอินโดจีนในปี 2518 แล้ว พวกเขาตระหนักด้วยความกลัวอย่างไม่คลายจากความแคลงใจว่า โดมิโนอาจจะล้มลงที่กรุงเทพฯ ได้

และการจะป้องกันไม่ให้โดมิโนตัวที่ 4 ล้มก็คือ จะต้องจัดการกับการขยายตัวของสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น “ภัยคุกคามภายใน” ให้ได้

และภัยคุกคามนี้มีขบวนนักศึกษาประชาชนเป็นตัวแทน

อีกทั้งในทัศนะของผู้นำปีกขวาจัดทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่าขบวนนี้เป็น “ตัวแทน” ในสงครามของพวกคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้นเอง

จินตนาการชุดนี้จะเกิดขึ้นจากข้อมูลการข่าวที่ถูกสร้างขึ้นจาก “จินตนาการ” ของความกลัวคอมมิวนิสต์ หรือถูกประกอบสร้างจาก “วาทกรรม” ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นแกนหลักของนโยบายการเมืองและความมั่นคงไทยมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความใกล้ชิดในความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นโดยมีสงครามเกาหลีเป็นจุดเริ่มต้นนั้น ผู้นำไทยรับเอาชุดความคิดแบบนิยมตะวันตกและต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็น “กระแสหลัก” ในนโยบายของประเทศอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้นำไทยรับเอา “จินตนาการและวาทกรรม” ของทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ที่ผู้นำสหรัฐได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเดียนเบียนฟูไว้เป็นวาทกรรมของความกลัว

ดังนั้น การล้มลงของโดมิโนในอินโดจีนในปี 2518 จึงเป็นดัง “ฝันร้าย” ที่ผู้นำไทยหวาดกลัวมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์การเมืองในภูมิภาค

ฉะนั้น พวกเขาจะต้องหยุดเหตุการณ์เพื่อที่จะทำให้ฝันร้ายนี้ไม่เป็นจริงให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

กระแสแห่งการทำลายล้าง

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ได้มีการจัดชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดทำละครล้อเลียนการเมืองขึ้น

แต่การล้อครั้งนี้เป็นในรูปแบบของการ “แขวนคอ” โดยจำลองภาพการที่พนักงานการไฟฟ้านครปฐมถูกฆ่าแขวนคอ เพราะเป็นเหตุการณ์โหดร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการกลับเข้ามาของจอมพลถนอมในครั้งนี้

การจัดแสดงการแขวนคอครั้งนี้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมากที่ลานโพธิ์ และขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนหลายฉบับอยู่ในที่เกิดเหตุ

ฉะนั้น หากจะเกิดความผิดพลาดใดขึ้นก็ย่อมจะอยู่ในสายตาของสาธารณชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาเนิ่นนานออกไปแต่อย่างใด

ใครเลยจะคิดว่าการจัดล้อการแขวนคอครั้งนี้จะเป็น “จุดพลิกผัน” ของเหตุการณ์ทั้งหมด

แต่เมื่อมีการปลุกระดมด้วยการใส่ร้ายป้ายสีการแสดงที่เกิดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในกระแสขวาจัดอย่าง “ดาวสยาม”

และสำทับด้วยหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ อย่าง “บางกอกโพสต์” แล้ว สถานการณ์ดูจะเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

เพราะพอล่วงเข้าวันที่ 5 ตุลาคม การปลุกระดมโจมตีศูนย์นิสิตก็เป็นไปอย่างรุนแรง

สถานีวิทยุยานเกราะเปิด “ปฏิบัติการข่าวสาร” ด้วยการป้ายสี ศนท. ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยถ้อยคำรุนแรงต่างๆ

และที่สำคัญก็คือ สถานีวิทยุแห่งนี้เรียกร้องให้จัดการ ศนท. กับผู้คนที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วยมาตรการ “เด็ดขาด”…สถานการณ์น่ากลัวมากขึ้นจนพวกเราทุกคนรู้สึกได้

แม้พวกเราจะคุ้นเคยกับการถูกใส่ร้ายป้ายสีของสื่อขวาจัด แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าการป้ายสีครั้งนี้ดูจะรุนแรงกว่าทุกครั้ง

มีคนเอาหนังสือพิมพ์ดาวสยามมาให้ดู แล้วก็มีพวกเราบางคนมาสรุปให้ฟังว่าสถานีวิทยุยานเกราะกำลัง “ด่า” อะไรพวกเรา

ผมรู้สึกอย่างมากว่าเรากำลังเผชิญกับการต่อต้านของกระแสขวาจัดครั้งใหญ่

และดูเหมือนว่าพวกเขากำลังปลุกระดมเพื่อดำเนินการอะไรสักอย่าง

แต่ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นไปอย่างเข้มแข็ง จนต้องย้ายสถานที่การชุมนุมจากลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล เพราะมีคนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก

และลานโพธิ์ก็ดูจะคับแคบไปกับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น

จำนวนผู้เข้าร่วมดูจะเป็นปัจจัยบวกประการเดียวที่เรามีอยู่ในขณะนั้น!