แลนด์สไลด์เพื่อเปลี่ยนประเทศ มากกว่าไล่รัฐบาล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งจะเป็นชนวนของความเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี

เพราะไม่เพียงแต่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยึดประเทศมากกว่า 8 ปี จะมีคะแนนนิยมถดถอยจนถึงขีดสุด ชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารปี 2557 ก็อยู่ในสภาพตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย

หายนะจากคุณประยุทธ์มีมากจนไม่ต้องพูดกัน และด้วยวิธีที่คุณประยุทธ์กับพวกยึดทุกสถาบันกว่า 8 ปี ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ “ระบอบประยุทธ์” ที่ควบคุมรัฐบาล, รัฐสภา, กระบวนการยุติธรรม, องค์กร อิสระ, ทหาร, ตำรวจ, มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งมีส่วนสร้างความเสียหายทางใดทางหนึ่งโดยปฏิเสธไม่ได้เลย

คนไทยแทบทุกคนคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนประเทศให้ดีกว่าเดิม และถึงแม้ทุกพรรคจะหาเสียงเรื่องทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงจากเดิม ความเปลี่ยนแปลงที่แต่ละพรรคต้องการก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกัน และยิ่งไม่ได้แปลว่าความต้องการของพรรคจะตรงกับความต้องการของประชาชนจริงๆ

มักพูดกันว่านโยบายพรรคสะท้อนความต้องการประชาชน แต่ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายเป็นพัน ทุกพรรคจึงเขียนนโยบายอะไรเพื่อเอาใจคนทุกกลุ่มได้หมด ซึ่งหมายความว่าพรรคจะระดมสมองเพื่อทำนโยบายอย่างดีก็ได้

หรือจะเขียนนโยบายส่งเดชเพื่อหลอกต้มประชาชนก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ไม่ว่าจะด้วยโพล, ด้วยผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส, ด้วยผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และด้วยความเห็นที่แสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหรือ “ฝ่ายค้าน” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และในทางกลับกันก็คือไม่ต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลอีกเลย

แปดปีใต้การปกครองของคุณประยุทธ์ทำให้คนไทยตระหนักถึงภัยจาก “ระบอบประยุทธ์” ตั้งแต่เศรษฐกิจพัง, ยาเสพติดระบาด, งบฯ ทหารพุ่ง, ตำรวจบางส่วนไม่ต่างจากโจร, คนในกระบวนการตุลาการไม่ยุติธรรม ฯลฯ คนจำนวนมากจึงชิงชังพรรคร่วมรัฐบาลที่จรรโลง “ระบอบประยุทธ์” ถึงขั้นไม่อยากให้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป

หนึ่งในคำถามที่สื่อไล่บี้ทุกพรรคใหญ่คือจะจับมือกับใครตั้งรัฐบาล และถึงแม้หลายพรรคจะตอบแบบนักการเมืองโบราณว่าไม่ตอบ ขอไปดูตัวเลข ส.ส.หลังเลือกตั้งก่อน

การที่พรรคก้าวไกลตอบว่าไม่จับมือกับคุณประยุทธ์และคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ทำให้พรรคอื่นถูกมองว่าพร้อมจับมือกับทั้งคู่โดยปริยาย

เมื่อสื่อถามเรื่องใครจะจับมือใครเป็นรัฐบาล นั่นเท่ากับสื่อรับรู้ว่าสังคมมีแรงกระเพื่อมเรื่องปฏิเสธพรรครัฐบาลถึงขีดสุด

สื่อจึงทำหน้าที่แทนสังคมในการขัดเกลาให้พรรคมีนโยบายนี้ชัดเจนเหมือนค่าแรง, หนี้ กยศ., กัญชา ฯลฯ ไม่ใช่หลอกเอาเสียงโหวตประชาชนไปเพิ่มอำนาจต่อรองเป็นรัฐบาล

แฟนคลับบางพรรคอาจศรัทธาพรรคจนด่าสื่อที่บี้ให้พรรคตอบคำถามตรงๆ แต่เมื่อประชาชนเลือกพรรคไปทำหน้าที่เป็น ส.ส.และเป็นรัฐบาล การที่ประชาชนต้องการรู้ว่าพรรคจะตั้งรัฐบาลกับใครก็เป็นเรื่องพื้นฐานอย่างที่สุด ไม่อย่างนั้นก็เท่ากับพรรคจะเอาเสียงประชาชนไปทำอะไรก็ได้ตามใจ

ใครๆ ก็รู้ว่าคุณประยุทธ์รัฐประหารคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2557 ตามเครือข่ายที่รัฐประหารคุณทักษิณ ชินวัตร ปี 2549, ล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551 รวมทั้งฆ่าคนเสื้อแดงตายเป็นร้อยในปี 2553 ประชาชนในสังคมที่ทหารและคนในกระบวนการยุติธรรมล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุดจึงมีสิทธิรังเกียจคนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกกรณี

ด้วยการตั้งคำถามว่าใครจะจับมือใครตั้งรัฐบาล สังคมบีบให้พรรคการเมืองมีมาตรฐานว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องการกระเสือกกระสนเป็นรัฐบาลจนไม่มีหลักการ ยิ่งกว่านั้นคือการเลือกตั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานด้วยว่าหลักการที่ประชาชนอยากเห็นจากพรรคการเมืองนั้นคืออะไร

ถ้าประชาชนบอกว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลควรมีจุดยืนประชาธิปไตย นั่นเท่ากับประชาชนกำลังสร้างมาตรฐานว่าพรรคการเมืองต้องไม่สนับสนุนรัฐประหาร, ไม่ร่วมมือกับอำนาจนอกระบบ และไม่สืบทอดอำนาจแบบหนึ่งแบบใด

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยในระยะยาว

 

นักวิชาการบางคนพูดว่าพรรคการเมืองต้องทำทุกทางให้ได้เป็นรัฐบาล เหตุผลคือประชาชนเลือก ส.ส.และพรรคเพราะนโยบาย พรรคจึงต้องเป็นรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายแบบเดียวกับที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล อ้างในการร่วมรัฐบาลประยุทธ์ และประชาธิปัตย์อ้างหลังคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ้นหัวหน้าพรรคไป

แน่นอนว่าประชาชนต้องการให้พรรคการเมืองทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่เหตุผลที่ประชาชนเลือกใครมีตั้งแต่ชอบนโยบาย, ชอบผู้สมัคร, รับเงิน, ผูกพันกับพรรค, เกรงใจหัวคะแนน, กลัวบ้านใหญ่, เกลียดพรรคคู่แข่ง, ตามกระแส ฯลฯ จนพูดยากว่าประชาชนเลือกใครแค่เพราะชอบนโยบาย

หากประชาชนเลือกพรรคแค่เพราะนโยบาย การเลือกตั้งทุกครั้งคงมีพรรคและอดีต ส.ส.หายไปเกินครึ่ง เพราะพรรคและ ส.ส.ที่ไม่ตามนโยบายที่หาเสียงมีในรัฐบาลทุกชุด และที่จริงพรรครัฐบาลอาจไม่ทำตามนโยบายก็ได้ หากพรรคร่วมไม่เห็นด้วย หรือตัวเองปอดจนไม่ทำเรื่องที่หาเสียงไว้จริงๆ

ตราบใดที่พรรคการเมืองไม่ได้ชนะเลือกตั้งจนมีเสียงข้างมากเกือบเด็ดขาด ตราบนั้นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคย่อมเกิดขึ้นเสมอ นโยบายที่พรรคหาเสียงจะเป็นนโยบายรัฐบาลหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับร่วมรัฐบาลกับใคร คำถามว่าพรรคไหนตั้งรัฐบาลกับใครจึงเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

เมื่อใดที่สังคมประสบความสำเร็จในการสร้างบรรทัดฐานว่ารัฐบาลต้องมาจากพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อนั้นพรรคที่ต่อต้านประชาธิปไตยจะสูญเสียความชอบธรรมลงไปเสมอ และนั่นหมายความถึงความอ่อนแอของเครือข่ายต่อต้านประชาธิปไตยในระยะยาว

 

ประชาชนไทยผ่านการต่อต้านเผด็จการทหารอย่างดุเดือดมาแล้วในปี 2516 กับ 2535 และผ่านการต่อสู้กับทหารอย่างละมุนผ่านการเลือกตั้งในปี 2551, 2554, 2557 และ 2562 จึงไม่ควรมีใครเขลาจนคิดว่าเผด็จการทหารมีต้นเหตุอยู่ที่นายพลบ้าอำนาจเพียงคนเดียวที่ไล่ออกก็จบปัญหาไป

ทุกวันนี้คุณประยุทธ์ตกต่ำคู่ขนานกับความถดถอยของเครือข่ายเบื้องหลังการยึดอำนาจจากปี 2557 จนปัจจุบัน แต่ภายใต้ความนิยมจากประชาชนที่ดิ่งเหวไม่หยุด คนกลุ่มนี้ก็ดิ้นรนรักษาอำนาจด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการโยนความผิดทุกอย่างในยุคประยุทธ์ว่าเกิดจากคุณประยุทธ์เองเพียงคนเดียว

พรรคประชาธิปัตย์โจมตีคุณประยุทธ์และคุณประวิตรในการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ปี 2565 จนชนะทุกกรณี

ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็ให้รองประธานสภาและนายทะเบียนพรรคโจมตีคุณประยุทธ์ต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ของสองพรรคจึงวางระยะห่างจากคุณประยุทธ์เพื่อไม่ให้ลงเหวไปด้วยในบั้นปลาย

คุณประวิตรและพรรคพลังประชารัฐสร้างภาพมานานแล้วว่าไม่ใช่พวกคุณประยุทธ์ต่อไป

ความจงใจแยกตัวจากคุณประยุทธ์แบบนี้ช่วยให้คุณประวิตรรักษาอำนาจโดยไม่ถึงจุดจบไปกับคุณประยุทธ์ เพราะสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่าปัญหาทั้งหมดในระบอบประยุทธ์มีต้นตอที่คุณประยุทธ์คนเดียว

คนสติปกติทุกคนรู้ดีว่าคุณประยุทธ์รักษาอำนาจด้วยพันธมิตรอย่างทหาร, ฝ่ายตุลาการ และพรรรคการเมือง ไม่มีการสร้างประชาธิปไตยโดยแก้รัฐธรรมนูญหรือชุมนุมที่คนเหล่านี้ไม่ต่อต้าน แผนฟอกตัวคุณประวิตร, พลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย ฯลฯ เป็นละครที่กำกับโดยคนที่คิดว่าประชาชนโง่เท่านั้นเอง

 

คุณสุทิน คลังแสง แห่งพรรคเพื่อไทยเปรียบ ส.ว.ที่ประกาศต่อต้านคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ว่าไม่ต่างกับโจร แต่ถ้า ส.ว.ซึ่งขู่ขัดขวางคุณแพทองธารในปี 2566 เป็นโจร พรรคการเมืองที่รวมหัวกับ ส.ว.หนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ในปี 2562 ก็คือโจรที่ประกอบอาชญากรรมต่อเนื่อง 4 ปีโดยไม่มีความสำนึกเลย ใช่หรือไม่

สำหรับคนที่รักประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่รักเพราะมีโอกาสให้พวกตัวเองเป็นรัฐบาล คำถามสำคัญคือรัฐบาลใหม่ในการเลือกตั้งปี 2566 ควรเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยล้วนๆ หรือประกอบด้วยพรรคฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่แสดงจุดยืนออกมาตลอด 4 ปีว่าไม่ยอมให้ประเทศมีประชาธิปไตยเลย

ถ้าคำตอบเป็นอย่างหลัง นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งปี 2566 คงไม่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ, การลดงบประมาณทหาร, แก้ไขปัญหา 112 ฯลฯ หรือเท่ากับว่าอย่างดีที่สุดที่คนไทยจะได้ในการเลือกตั้งคือรัฐบาลที่ไม่มีแค่คุณประยุทธ์อยู่ในคณะรัฐบาลเท่านั้นเอง

ควรระบุด้วยว่าแปดปีภายใต้การปกครองของคุณประยุทธ์ทำให้ประชาชนคาดหวังการเปลี่ยนแปลงระดับทะลุเพดาน พรรคการเมืองที่สนใจแค่ไล่ประยุทธ์จึงดึงเพดานของเสียงประชาชนตกต่ำลงอีก หรืออีกนัยหนึ่งคือทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศมีความหมายเท่ากับการเปลี่ยนคนเพียงคนเดียว