ชมรม “ยุวพุทธิกะ” : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

ก็อย่างที่รู้กันว่าเมื่อเกิดที่บ้านตรอกอิศรานุภาพ ตลาดเก่าเยาวราช ในวันที่ 17 มิถุนายน 2472 เวลาประมาณ 08.00 น.

ได้รับแจ้งในสูติบัตรผ่านชื่อ เสถียร กมลมาลย์

เมื่อเรียนในโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขจนได้ชั้น ม.5 หรือเมื่อเขียนบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” ก็ใช้ชื่อ เสถียร กมลมาลย์

กระทั่งเมื่อปี 2491 อายุได้ 20 ปี จึงได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่

เป็นการเปลี่ยนด้วยความประสงค์ให้ใกล้ชิดในทางศาสนา คือนามสกุลว่า “โพธินันทะ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความพอใจในการตรัสรู้”

จากนั้นได้เข้าไปมีส่วนในการรวมกลุ่มในชื่อ “กลุ่มยุวพุทธิกะ”

กระทั่ง “กลุ่มยุวพุทธิกะ” แห่งวัดกันมาตุยาราม นี้เองได้พัฒนายกระดับขึ้นเป็น “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย” ดังปรากฏจากข้อความในปาฐกถาของ บุญยง ว่องวานิช ประธานกรรมการคณะยุวพุทธิกะ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2492

จากนั้นนำลงตีพิมพ์ในหนังสือ “ธรรมจักษุ” เล่ม 35 ตอนที่ 1-2 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2492 มีความตอนหนึ่งว่า

มีเยาวชนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจากสถานที่ต่างๆ กัน บางคนเป็นข้าราชการ บางคนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และบางคนเป็นพ่อค้า

มีความคิดเห็นตรงกันโดยที่มิได้รู้จักกันมาก่อน

อาศัย คุณเสถียร โพธินันทะ เป็นคนวิ่งเต้นบอกข่าว จึงได้มารวมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จัดตั้ง “คณะยุวพุทธิกะ” ขึ้น

ทุกๆ วันอาทิตย์ได้เปิดประชุมขึ้นที่โบสถ์วัดกันมาตุยาราม เวลา 13.30 น.

การประชุมนี้ยินดีต้อนรับท่านที่สนใจที่เป็นบุคคลภายนอกเสมอ การประชุมได้ดำเนินมาถึง 15 สัปดาห์ คณะยุวพุทธิกะได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการก่อตั้งสมาคม มีกรรมการ 18 คน

มีหน้าที่ในการจัดตั้งสมาคมยุวพุทธิกะขึ้นเพื่อจะใช้เป็นหลักในการเผยแผ่ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

คณะยุวพุทธิกะได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492

รายละเอียดอีกด้านหนึ่งอันเกี่ยวกับยุวพุทธิกสมาคม และ เสถียร โพธินันทะ ถ่ายทอดผ่านข้อเขียนของ สมพร เทพสิทธา ตีพิมพ์ในหนังสืออันสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ตีพิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ เสถียร โพธินันทะ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2510

ความตอนหนึ่งระบุ

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักกับคุณเสถียรในปี 2492 ที่วัดกันมาตุยารามโดยการแนะนำของ ท่านสุชีโว ภิกขุ ข้าพเจ้าถือว่าการได้พบปะรู้จักกับคุณเสถียรในวันนั้นเป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในตัวคุณเสถียรอยู่แล้ว

การคบกับบัณฑิตก็เป็นมงคลอย่างหนึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา

แม้จะเป็นการพบปะกันครั้งแรกเราก็ได้คุยกันอย่างสนิทสนม เรื่องสำคัญที่เราคุยกันในวันนั้นก็คือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในบรรดาเยาวชน

ในสมัยนั้นยังมีเยาวชนจำนวนมากที่สนในใจพระพุทธศาสนา หนุ่มสาวผู้ใดที่มาสนใจในศาสนามักจะถูกมองว่าเป็นคนประหลาดหรือคนครึ และมักจะถูกขนานนามว่า “ท่านมหา” บ้าง หรือ “คนแก่วัด” บ้าง

หลายคนยังมีความเข้าใจว่าศาสนาเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนแก่เท่านั้น

คุณเสถียรได้ชักชวนให้ข้าพเจ้ามาร่วมกับ “คณะยุวพุทธิกะ” ซึ่งกำลังวางแผนที่จะก่อตั้ง “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย” ขึ้น และชวนให้มาร่วมการสนทนาธรรมซึ่งจัดให้มีขึ้นที่โบสถ์วัดกันมาตุยารามในบ่ายวันอาทิตย์

ไม่ว่าบทความเรื่อง “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ล้วนมีส่วนสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน

จากความคิดกลายเป็นการลงมือปฏิบัติ จากความคิดเพียงคนเดียวก็เสาะแสวงหากัลยาณมิตร กระทั่งกลายเป็นชมรม “คณะยุวพุทธิกะ” และในที่สุดก็พัฒนาเป็น “พุทธิกสมาคม”

นี่คือเส้นทางแห่ง “ปริยัติ” ไปสู่ “ปฏิบัติ”