ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
เข้าสู่วันวาเลนไทน์ทีไรก็มีแต่คนโพสต์เรื่องความรักในโซเชียลมีเดียต่างๆ กันเต็มฟีดไปหมด
บ้างก็หวานแหวว บ้างก็ครวญคราง บางคนก็เล่นมุขอะไรกันไปเป็นที่สนุกสนาน
วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีแม้จะถือกำเนิดจากดินแดนตะวันตก แต่ก็แผ่ขยายได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะความรักเป็นสิ่งสากลที่ไม่ว่าเป็นคนชาติใด ศาสนาใดก็ล้วนแล้วมีอยู่ไม่ต่างกัน
แต่บรรยากาศวันวาเลนไทน์ครึกครื้นแบบนี้เพิ่งมีในไทยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
หากย้อนกลับไปในอดีตยุคเหตุการณ์เดือนตุลาเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน คนหนุ่มสาวสมัยนั้นไม่ค่อยมีโมเมนต์ส่งความรักหากันหวานๆ เท่าไหร่ แต่เป็นการรักใคร่ชอบพอที่ดูเคร่งขรึมและอยู่ภายใต้กระแสการปฏิวัติอันเชี่ยวกราก
เรื่องราวเหล่านี้ได้รับการบอกเล่าจาก “สหายปลา” หรือชื่อที่คนในป่าเรียกกันง่ายๆ ว่า “คุณปลา” อดีตนักปฏิวัติหญิงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ “พคท.” ผู้ซึ่งลาออกจากอาชีพอาจารย์ในวิทยาลัยแห่งหนึ่งแล้วเดินทางเข้าป่าไปจับอาวุธต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในเขตงานทางใต้ บริเวณพื้นที่ป่าแนวรอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าคือส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด
แต่เรื่องราวการปฏิวัติของคุณปลาไม่ได้มีเพียงเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง หรือการประสบการณ์ระทึกขวัญในสมรภูมิเท่านั้น
หากยังมีมิติของ “ความรัก” เข้ามาปะปนอยู่ด้วย
จุดเริ่มต้นของมหากาพย์เรื่องนี้อยู่ที่การเดินทางออกจากบ้านไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ห่างไกล
บ้านของคุณปลาอยู่ในจังหวัดภาคกลางแต่สอบเอ็นทรานซ์ไปติดมหาวิทยาลัยทางภาคอีสาน ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตห่างสายตาครอบครัวเป็นครั้งแรกในดินแดนที่มีวัฒนธรรมอันแตกต่าง โดยเข้าเรียนทางสายครูตามความตั้งใจที่จะประกอบอาชีพครูหลังจบการศึกษา
แต่ในระหว่างนั้นเธอก็ถูกดึงดูดจากกิจกรรมมากมายใน “ยุคแสวงหา” ที่คนหนุ่มสาวหันมาสนใจประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความหมายของชีวิต อย่างจริงจัง
หลังจากที่ก่อนหน้านั้นกระแสของนักศึกษาจะหมกมุ่นอยู่แต่เพียงเรื่องทางโลกย์ทั่วไป เช่น เรื่องรักใคร่ และกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ดังที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ยุคสายลมแสงแดด”
การที่คุณปลาเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในยุคแสวงหาทำให้เธอเบนความสนใจจากห้องเรียนเข้าสู่กิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ
และในที่สุดก็ได้เป็นสาราณียกร ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการทำหนังสือของนักศึกษา
ในเวลาเดียวกันเธอก็ได้รู้จักกับหนุ่มนักศึกษาต่างคณะ ซึ่งในเวลาต่อมาได้เดินทางเข้าป่าร่วมต่อสู้กับ พคท.เช่นกัน
โดยนักศึกษาชายคนนี้ร่ำเรียนทางด้านการเกษตร และในภายหลังมีชื่อจัดตั้งจาก พคท. ว่า “สหายว่อง” หรือ “คุณว่อง” การที่คุณว่องมีความสนอกสนใจเรื่องการเมืองอย่างมากมีผลทำให้คุณปลายิ่งเดินเข้าสู่กิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยมากขึ้นไปอีก
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคบหาดูใจกันอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้ทั้งในหมู่เพื่อนฝูง รวมทั้งญาติพี่น้อง
และระหว่างที่กำลังเรียนหนังสืออยู่นี่เองก็ได้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ร่วมเรียกร้องไปพร้อมกับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ด้วย
หลังชัยชนะของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องสังคมและการเมืองขึ้นอย่างมาก จนขยายตัวไปทั่วประเทศ
ในส่วนของนักศึกษาก็มีความคิดที่โน้มเอียงไปทางสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความอยุติธรรมในสังคม กระแสฝ่ายซ้ายในระดับโลก ตลอดจนการเผยแพร่ความคิดมาร์กซิสต์ในเชิงวิชาการ
เมื่อจบปริญญาตรีทั้งคู่แยกย้ายกันไปทำงานด้วยการเป็นครู ซึ่งถึงแม้จะอยู่คนละจังหวัดแต่ก็มีพื้นที่ติดกัน และเตรียมตัวที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อแต่งงานมีครอบครัวต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเกิดการล้อมปราบและสังหารหมู่นักศึกษาอย่างโหดเหี้ยมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความคับแค้นใจอย่างมาก และตัดสินใจหนีเข้าป่าไปร่วมขบวนการปฏิวัติกับ พคท.
คุณว่องได้รับการจัดตั้งจากสหายคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันก็ไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร กระทั่งออกเดินทางเข้าสู่เขตงานทางใต้ไปเป็น “นักรบประชาชน” โดยที่คุณปลาไม่รู้เรื่อง
ต่อมาภายหลัง คุณปลาจึงได้ทราบข่าวว่าคุณว่องได้เข้าไปอยู่ในป่าแล้ว จากจดหมายที่คุณว่องเขียนส่งมาให้ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น ความคับแค้นใจในเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่มีอยู่แต่เดิม ก็ยกระดับขึ้นเป็นการตัดสินใจเข้าร่วมปฏิวัติสังคมกับ พคท.ด้วย
เมื่อคุณปลาได้รับการจัดตั้งสำเร็จ เธอใช้เวลาเตรียมการอยู่หลายเดือน โดยขั้นสุดท้ายต้องไปฝังตัวอยู่ในห้องเช่าที่กรุงเทพฯ ราวสองเดือนเพื่อรอการเดินทางเข้าป่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
พอได้กำหนดการที่แน่นอน เธอจึงได้รับการส่งตัวต่อไปเป็นช่วงๆ โดยอาศัยการเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก ล่องใต้เข้าสู่ปลายด้ามขวาน
โดยที่ไม่มีผู้ใดในครอบครัวล่วงรู้
เมื่อพิจารณาจากจุดนี้จึงพอมองเห็นได้ว่าจุดยืนของสหายทั้งคู่ดูจะแตกต่างกันอยู่บ้าง
คือในขณะที่ฝ่ายชายมุ่งอุทิศตัวให้ขบวนปฏิวัติโดยลาขาดจากคนรัก
แต่ฝ่ายหญิงต้องการสานต่อความรักโดยยอมกระโจนลงไปในขบวนการปฏิวัติด้วย
ถึงแม้ว่าการเดินทางตามไปทีหลังของคุณปลาไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะเจอคนรักของตนก็ตาม
แต่ถึงอย่างไร ฟ้ายังคงเป็นใจให้ความรักของทั้งคู่ดำรงอยู่ต่อไปได้ เมื่อในที่สุดคุณปลาก็ได้เจอคุณว่องเข้าจริงๆ ในพื้นที่ป่า ถึงแม้เป็นช่วงเวลาไม่นานนัก
หลังจากที่ได้เจอกันแบบประเดี๋ยวประด๋าวอยู่ในปีแรกๆ พอย่างเข้าสู่ปีที่ 2-3 สหายนำของพรรคก็จัดให้ทั้งคู่ได้ทำงานอยู่หน่วยเดียวกัน โดยทำหน้าที่ด้านการข่าว
และหน่วยนี้ยังมีสหายปัญญาชนที่มีชื่อเสียงอยู่ด้วยชื่อว่า “สหายประยูร” หรือ “คุณยูร” ซึ่งในเวลาสี่สิบกว่าปีต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คนปัจจุบัน นามว่าศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
เมื่อได้กลับมาเจอกันทุกวัน ทำงานในหน่วยเดียวกัน ทั้งคู่จึงคบหากันอย่างเปิดเผย
ถึงแม้ว่า พคท.จะมีนโยบาย “3 ช้า” อยู่ก็ตาม 3 ช้าที่ว่านี้คือการพยายามชะลออารมณ์ความรู้สึกของนักปฏิวัติทั้งหลายไม่ให้ถลำเข้าสู่ห้วงยามของความรักมากเกินไป อันจะเป็นอุปสรรคขัดขวางให้การต่อสู้เกิดความขลุกขลัก ทุลักทุเล และไม่สะดวกคล่องตัวเท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้ พคท.จึงพยายามรณรงค์ให้
(1) คนที่ยังไม่มีความรักก็อย่าเพิ่งเริ่มมีความรัก
(2) คนที่มีความรักแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงาน
และ (3) คนที่แต่งงานแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก แต่เรื่องแบบนี้หาได้เข้าใครออกใครไม่ เมื่อศรรักได้ปักใจแล้วก็ยากที่คนหนุ่มคนสาวเหล่านี้จะทานทนไหว และแล้วในที่สุดความคิดเรื่อง “การแต่งงาน” ก็ก่อตัวขึ้นในใจของนักปฏิวัติทั้งคู่อย่างจริงจัง
เรื่องราวความรักของนักปฏิวัติทั้งคู่จะลงเอยอย่างไร โปรดติดตามตอนจบต่อไปในฉบับหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022