“ไทย-เมียนมา-อาเซียน” ในสายตา อันวาร์ อิบราฮิม

Malaysia's Prime Minister Anwar Ibrahim (R) and Thailand's Prime Minister Prayut Chan-O-Cha (L) inspect a guard of honour during an official state visit at Government House in Bangkok on February 9, 2023. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การเดินทางเยือนไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรีมาเลเซียของ ดะโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม มีนัยสำคัญไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความพยายามผลักดันให้เกิด “ความเคลื่อนไหว” ในความพยายามแก้วิกฤตการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทยอย่าง “เมียนมา” อีกครั้งในนามของ “อาเซียน”

หลังจาก “แอ๊กทีฟ” อยู่พักใหญ่ จนได้ “ฉันทามติ 5 ข้อ” มาเมื่อปี 2021 การดำเนินการของอาเซียนเรื่องเมียนมาก็ดูเหมือนตีบตันไปหมด

เมียนมา “เฉยๆ” อย่างยิ่งกับการปฏิบัติตาม “ฉันทามติ” ที่ว่านั้น และอาเซียนก็ “ทำอะไรไม่ได้” ทำได้เพียงแต่ระงับการเชิญตัวแทนของเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้วย เท่านั้นเอง

ทูตพิเศษว่าด้วยกรณีเมียนมา 2 คนที่ผ่านมา อย่าง เอรีวาน ยูโซฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน และ ปรัก โสคอน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ก็ล้มเหลว ไม่สามารถเข้าพบที่ปรึกษาแห่งรัฐ อย่างออง ซาน ซูจี หรือประธานาธิบดี วิน มินต์ ของรัฐบาลพลเรือนซึ่งถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารได้

สาระสำคัญของฉันทามติ 5 ข้อนั้นอยู่ที่การยุติการใช้ความรุนแรงและหันมาใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหา

แต่สิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาทำอยู่ก็คือ ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นแหล่งชุมนุมของ “กองกำลังปกป้องประชาชน” (พีดีเอฟ) ของฝ่ายต่อต้าน โดยไม่สนใจว่าลูกเด็กเล็กแดงและชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องด้วยจะถูกลูกหลงเสียชีวิตไปกี่มากน้อย

เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนหน้าการเยือนไทยของอันวาร์ อิบราฮิม รัฐบาลทหารเมียนมาก็ประกาศเลื่อนการประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่เคยรับปากไว้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 2 ปีหลังการรัฐประหาร

 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เปิดเผยเอาไว้ในสุนทรพจน์ที่จัดโดยสภาหอการค้าไทย-มาเลเซียว่า ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หยิบยกเรื่องเมียนมาขึ้นมาหารือกับผู้นำอาเซียนหลายคน ตั้งแต่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้, นายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง แห่งสิงคโปร์, สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน แล้วจะหารือเรื่องนี้กับ เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อีกคนในเร็วๆ นี้

เป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงความพยายามจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อีกครั้งอย่างชัดเจน

ในสายตาของอันวาร์ กรณีเมียนมาไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาของเมียนมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงอาเซียนโดยรวม เพราะวิกฤตในเมียนมากลายเป็น “อุปสรรค” เป็นตัวถ่วงการดำเนินงานของอาเซียน เพราะโลกภายนอกมองว่าในฐานะที่เป็นองค์กรของภูมิภาค ควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาชาติสมาชิกของตนโดยตรง

กรณีของไทย ในทัศนะของอันวาร์ มองว่าอยู่ในตำแหน่งและสถานะที่ “ดีกว่า” อีกหลายชาติอาเซียน ถึงได้บอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ไทยควรมีบทบาทให้มากกว่านี้ในการแก้วิกฤตเมียนมา

“ไทยอยู่ในตำแหน่งแห่งหนและอยู่ในสถานะที่ดีกว่า ในอันที่จะแสดงออกถึงความกังวลของพวกเรา (ไปยังรัฐบาลทหารเมียนมา) ว่า ปัญหาภายในของเมียนมาจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปภายในประเทศก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งภูมิภาคอีกด้วย”

ที่สำคัญก็คือ ในยุคนี้ เวลานี้ ไม่ควรมีประเทศหนึ่งประเทศใดนำนโยบาย “เลือกปฏิบัติ” หรือวิธีการ “ด้อยค่า” รวมถึงการใช้ “ความรุนแรง” ต่อประชาชนของตนเอง อย่างที่รัฐบาลทหารเมียมาทำอีกแล้ว

เขาบอกกับผู้นำไทยว่า ชาวโรฮิงญาจากเมียนมานอกเหนือจากต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนแบบจำกัดจำเขี่ยอยู่ในค่ายลี้ภัยในบังกลาเทศเกือบล้านแล้ว ยังมีอีก 2 แสนคนในค่ายผู้ลี้ภัยในมาเลเซีย คนเหล่านี้ไม่มีทางถูกส่งกลับเมียนมาได้ หากที่นั่นยังไม่มีสันติภาพ

แต่สิ่งที่อันวาร์ อิบราฮิม เน้นย้ำหนักแน่นก็คือ ความจำเป็นที่อาเซียนต้องทำอะไรให้ “มากกว่า” ความพยายามที่ทำกันอยู่ในเวลานี้

“เรา (อาเซียน) ไม่ต้องการให้ภายนอกเข้ามาแทรกแซง เราไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาบอกเราว่าต้องทำอะไร แต่เราต้องลงมือทำอะไรบ้าง เราต้องกล้าหาญพอที่จะลองทำ และลงมือมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้” ผู้นำมาเลเซียย้ำ

 

คําถามสำคัญก็คือ การพยายามให้มากกว่าที่เป็นอยู่คืออะไร?

คำตอบของผู้นำมาเลเซียก็คือ อาเซียนควร “เฉือน” เมียนมาทิ้งไปก่อนในเวลานี้ ไม่ปล่อยให้ปัญหานี้กลายเป็นปมถ่วงความเคลื่อนไหวของอาเซียนทั้งหมด

“เรา (อาเซียน) ควรเฉือนเมียนมาทิ้งไปในตอนนี้ และผมไม่คิดว่าประเด็นเรื่องวิกฤตเมียนมาควรเป็นอุปสรรคขัดขวางความเคลื่อนไหวของเรา คงเป็นเรื่องเยี่ยมที่สุด ถ้าหากเราเพียงแค่มีฉันทามติที่แข็งแกร่ง เพื่อสื่อสารที่แข็งกร้าวไปยังระบอบการปกครองในเมียนมา” ในเวลานี้

อันวาร์ อิบราฮิม ไม่ได้ขยายความว่า การ “เฉือน” ที่ว่านี้เมื่อเป็นรูปธรรมคืออย่างไร แต่ท่าทีดังกล่าวนี้สอดคล้องกับท่าทีซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเคยแสดงออกไว้เมื่อครั้งยังเป็นฝ่ายค้าน ด้วยการเรียกร้องให้อาเซียน “ระงับ” สมาชิกภาพของเมียนมาไว้ จนกว่ารัฐบาลพลเรือนจะถูกฟื้นฟูและนักโทษการเมืองทุกคนเป็นอิสระ

หากอันวาร์สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ ก็ต้องนับว่าเป็นวิธีการ “แข็งกร้าว” สูงสุดเท่าที่อาเซียนเคยนำมาใช้กับชาติสมาชิกในประวัติศาสตร์ 56 ปีขององค์กร

และจะกลายเป็นแบบอย่างที่สำคัญต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน