สังคมที่เหลื่อมล้ำ ทำให้เรารักกันไม่เป็น | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ความรักที่เป็นอารมณ์นามธรรมที่มีความเป็นสากลที่สุด

ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ บทกวีมากกว่าครึ่งในโลกนี้คือเรื่องความรัก

นิยามของความรักมีหลากหลาย เป็นทั้งความสุขและความเศร้า

เป็นสิ่งที่มีค่าที่มนุษย์ยอมจ่ายทุกอย่างเพื่อให้ได้มา หรือขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่เราสามารถให้กันฟรีๆ ได้อย่างไม่เคยเสียดาย

ความรักเป็นเรื่องซับซ้อนหลากหลายแต่คำถามสำคัญ เรามีสิทธิที่จะรักได้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ในสังคมปัจจุบัน

หรือว่าความรักกลายเป็นสิ่งที่สงวนสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง และคนอีกกลุ่มไม่อาจคิดถึงมันได้

แล้วเราจะออกแบบสังคมอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรักได้อย่างเท่าเทียมหรืออย่างน้อยก็มีสิทธิที่จะรักได้เท่ากันโดยพื้นฐาน

 

แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากตัวเราเอง แต่มันก็ไม่ได้อิสระจากสังคม

เป็นเรื่องน่าเศร้าหากเราจะกล่าวว่า พ่อแม่ที่ร่ำรวยย่อมมีโอกาสแสดงออกซึ่งความรักได้มากกว่าพ่อแม่ที่ยากจน

เพราะพวกเขาสามารถซื้ออาหารที่ดีกว่า บ้านที่ครบครันมากกว่า การศึกษา ของเล่น และรวมถึงเวลาที่มีมากกว่าพ่อแม่ที่ยากจน

คู่รักหนุ่มสาวที่มีฐานะดีกว่าย่อมมีโอกาสที่จะได้กินอาหารที่ดีกว่า เดินทางสะดวกมากกว่า เจอผู้คนที่หลากหลาย มีเวลาเรียนรู้เรื่องความรักมากกว่า

พวกเขามีโอกาสเรียนรู้เรื่องความรักที่หลากหลาย หรือตกหลุมรักได้ง่ายกว่า

ในกลุ่มคนสูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีก็ย่อมมีโอกาสได้ใช้ชีวิตกับคนที่รักในบั้นปลายชีวิต ได้ท่องเที่ยว ดูแลลูกหลาน ทบทวนความหลัง ได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่รายได้น้อย

เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่า แม้ความรักจะเป็นเรื่องที่สากล เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ เป็นเรื่องที่เราแทบทุกคนเคยรู้สึกและให้ความหมายกับมัน

แต่สังคมที่เหลื่อมล้ำกลับทำให้เราไกลห่างจากเรื่องพื้นฐานเหล่านี้

การตกหลุมรักมีชนชั้น การดูแลคนที่เรารักก็มีชนชั้น แม้แต่การได้ใช้ชีวิตกับคนที่เรารักก็ยังมีชนชั้นเช่นกัน

ไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เรา “รักกันไม่เป็น”

 

เราเริ่มสับสนว่าความรักนี้เป็นความรักหรือเป็นเพียงการแสวงหาความอบอุ่นในโลกที่ไร้ความอบอุ่น เป็นความรักหรือผลประโยชน์เพื่อการลงทุน

เราอาจคาดหวังให้ความรักอยู่ตลอดไปเพื่อให้เรารู้สึกถึงความหมายของชีวิตที่ยังคงอยู่ และเลี่ยงการพลัดพรากหรือยุติความรักเพียงเพราะกลัวความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญหน้าหากเราสูญเสียคนรักไป แม้ในวันที่เราหมดรักเขาหรือเธอแล้วก็ตาม

หากเราพูดถึงความรักและชีวิตทางสังคมที่ควรเป็นที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรัก อาจเริ่มต้นอย่างง่ายว่ามันคือ “สังคมที่ยุติธรรม”

แม่ที่มีสิทธิในการได้เงินเลี้ยงดูบุตรที่เพียงพอ ได้ลางาน ใช้เวลากับลูก ย่อมเป็นการลดความกดดันและความเครียดจากการเลี้ยงดูบุตร

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจาก DNA ของความเป็นแม่ที่ต้องรักลูกทุกคนอย่างมีเงื่อนไข

จากสถิติประเทศที่มีระบบสวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรที่ดี ทำให้แม่มีความสุขในการเลี้ยงลูกมากขึ้น มีความพอใจในชีวิตสูงขึ้น และสามารถกลับเข้าทำงานได้เมื่อพร้อม

ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงกลายเป็นความรักมากกว่าการที่ต้องมีใครสละชีวิตเพื่ออีกคนหนึ่ง

เมืองที่ไม่มีทางเท้า ไม่มีขนส่งสาธารณะที่ดีพอ เมืองที่อาหารราคาแพง เมืองที่ค่าแรงถูก จะมีพื้นที่ตรงไหนให้คนสามารถตกหลุมรักกันได้

เมื่อเราต้องมีรถส่วนตัวราคาผ่อนเกินครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ย ไม่มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ห้องสมุด โรงละครราคาถูก เราก็ยากที่จะสร้างความรัก

หากเราทำให้เมืองได้กลายเป็นของทุกคนอย่างยุติธรรม คนหนุ่มสาวก็สามารถตกหลุมรักกันได้ง่ายขึ้น

 

เมื่อเราได้พบเจอคนที่เรารักและอยากดูแลกันและกันไปทั้งชีวิตจนตายจากกันไป แต่ประเทศนี้ที่มีเงินเบี้ยผู้สูงอายุเพียงแค่ 600 บาท ต่อเดือน พวกเขาจะไม่ได้ดูแลคนที่เรารัก ไม่ได้ใช้ชีวิตบั้นปลาย ไม่ได้มีความสุข และเต็มไปด้วยความกังวล

หากสังคมนี้เป็นมิตรกับพวกเขามากขึ้น เพียงเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน พวกเขาก็จะได้ใช้ชีวิตที่ปลอดความกังวลในบั้นปลายชีวิตกับคนที่เรารัก

เมื่อสังคมยุติธรรมมากขึ้น ความรักจะไม่ใช่เรื่องของแค่คนมีเงิน มีเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ห้วงความรู้สึกสั้นๆ ของชีวิตที่จางหายไป

แต่ความรักจะกลายเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้คน เหมือนน้ำ เหมือนอากาศ

ความรักก็เหมือนอารมณ์แห่งความเป็นมนุษย์อื่นๆ เป็นดอกไม้ที่เติบโตได้ดีในดินที่อุดมด้วยความเท่าเทียม มีเสรีภาพและความยุติธรรม

ถ้ามนุษย์คุ้นเคยกับความรัก ไม่ว่าในบทกวี เพลง หนังสือ ตำนาน บทละคร ผมเชื่ออย่างจริงจังว่ามนุษย์ย่อมไม่เป็นอื่นกับเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” เพราะมันคือลักษณะความสัมพันธ์ที่สามารถทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งชีวิตทางเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคมได้ไปพร้อมกัน