วิวาทะ ‘ราษฎร’ ในกฎหมายเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ใครจะไปนึกคิดว่า คำว่า “ราษฎร” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัด ยังต้องมาถกเถียงกันว่าหมายถึงคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือรวมคนที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยด้วย

การถกเถียงดังกล่าวนั้นจะไม่เกิดขึ้นก่อนหน้าปี พ.ศ.2558 เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทยจะรายงานจำนวนราษฎรทั่วทั้งประเทศด้วยตัวเลขเพียงชุดเดียวเรียกว่าจำนวนราษฎรของประเทศไทย

แต่นับจากปี พ.ศ.2558 การรายงานตัวเลขของสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จะประกอบด้วยตัวเลข 2 ชุด คือ จำนวนราษฎรสัญชาติไทย และจำนวนราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย โดยให้เหตุผลว่าได้รับคำขอจากส่วนราชการให้แยกประเภท เพื่อหน่วยราชการที่ประสงค์จะใช้ตัวเลขชุดใดก็สามารถนำตัวเลขชุดที่เหมาะสมไปใช้กับหน่วยงานของตนได้

จนเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้นำตัวเลขจำนวนราษฎรแบบที่นับรวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทยมาใช้ในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2566 วิวาทะว่า ควรใช้ตัวเลขชุดใดจึงจะถูกต้องได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความเคลือบแคลงใจแก่ประชาชนว่า ชุดตัวเลขที่ กกต.เลือกใช้นั้นถูกต้องหรือไม่

และจะนำไปสู่การตีความที่บานปลายถึงขนาดผลการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะหรือไม่

แผนภาพที่ 1 : แสดงจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

ผลความแตกต่างด้านตัวเลข

สํานักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ประกาศตัวเลขจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ว่าประกอบด้วยจำนวนราษฎรสัญชาติไทยรวม 65,106,481 คน และจำนวนราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย รวม 983,994 คน รวม 66,090,475 คน

การคำนวณค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ หากนำจำนวนแรกที่มีสัญชาติไทยมาคำนวณโดยเอาตัวเลข 400 ซึ่งเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตมาเป็นตัวหาร จะได้ค่าเฉลี่ย 162,766 คน แต่หากใช้จำนวนที่สองที่นับรวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย จะได้ค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นเป็น 165,226 คน

เมื่อนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาเป็นตัวหารจำนวนราษฎรที่มีในแต่ละจังหวัด ก็จะเกิดผลแตกต่างที่ตามมา

เช่น ในจังหวัดที่มีราษฎรไม่ได้สัญชาติไทยจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ มีราษฎรไม่ได้สัญชาติไทยมากที่สุดถึง 161,567 คน ตาก 137,410 คน เชียงราย 132,515 คน จังหวัดเหล่านี้ย่อมมีความได้เปรียบในการได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้น

เช่น เชียงใหม่เพิ่มจาก 9 เป็น 11 คน ตาก เพิ่มจาก 3 เป็น 4 คน และเชียงรายเพิ่มจาก 7 เป็น 8 คน เป็นต้น

ซึ่งหมายความว่า จะมีอย่างน้อย 3 จังหวัด ที่ถูกลิดรอนสิทธิในการได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่ม หากจำนวนเพิ่มไปตกอยู่กับ 3 จังหวัดที่มีราษฎรไม่ได้สัญชาติไทยอยู่เป็นจำนวนมาก

แผนภาพที่ 2 : แสดงคะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

ผลกระทบ
ต่อจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริง

นอกเหนือจากผลกระทบที่มีต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบางจังหวัดที่อาจแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งคำนวณแล้ว ภายในจังหวัดที่มีราษฎรไม่ได้สัญชาติไทยไปอยู่ที่บางเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีราษฎรไม่ได้สัญชาติไทยมากกว่า 160,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยภูเขา หรือคนในพื้นที่สูงติดชายแดนประเทศพม่า

คนเหล่านี้อาจรวมอยู่ในบางอำเภอหรือในบางเขตเลือกตั้งเป็นผลให้จำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งจริงมีจำนวนน้อยผิดปกติ ทำให้อำนาจอิทธิพล อำนาจเงิน อำนาจรัฐ ยิ่งมีความหมาย

เมื่อกลับไปดูผลการเลือกตั้งทั่วไปของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2562 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งยอมรับว่าได้คำนวณจำนวน ส.ส. จากราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยรวมเข้าไปด้วย เขตเลือกตั้งที่เป็นปัญหา คือเขตเลือกตั้งที่ 6 ที่ประกอบด้วยอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง และอำเภอไชยปราการ และเขตเลือกตั้งที่ 7 ที่ประกอบด้วยอำเภอฝางและ อำเภอแม่อาย

จำนวนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ที่รวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 (ใช้ปี 2560 ตามประกาศ คสช.) คือ 1,746,840 คน เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีทั้งหมด 9 เขต คือ 194,093 คน การแบ่งเขตแต่ละเขตควรมีผลในจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในแต่ละเขตที่ใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงในแต่ละเขตแตกต่างกันเป็นอย่างมาก (ดูแผนภาพที่ 1)

จากแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเขตเลือกตั้งที่ 6 และ 7 มีจำนวนของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนน้อยกว่าเขตเลือกตั้งอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทั้งๆ ที่การแบ่งเขตมีจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกันอันเป็นผลมาจากอำเภอที่อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 6 และ 7 มีราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย ได้แก่ ชาวเขา ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สูงอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ หากดูถึงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จะเห็นว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งในเขต 6 และเขต 7 ก็มีคะแนนที่ได้รับรับต่ำกว่าเขตอื่นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (ดูแผนภาพที่ 1)

จากแผนภาพที่ 2 คะแนนของผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขต 6 และ 7 ของจังหวัดเชียงใหม่ มีเพียง 23,576 คะแนน และ 27,477 คะแนน ในขณะที่เขตเลือกตั้งอื่น ๆ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะมีคะแนนตั้งแต่ใกล้ 40,000 ไปถึง 60,000 เศษ

แม้ว่าอาจมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น จำนวนผู้มาใช้สิทธิ การแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละเขตที่แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักคือจำนวนของราษฎรสัญชาติไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งของสองเขตดังกล่าวนั้นมีจำนวนน้อยอย่างผิดปกติอันมาจากหลักเกณฑ์การคำนวณจำนวน ส.ส. และการแบ่งเขตของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 

ใครจะเป็นคนชี้ถึงความถูกผิด

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ แต่หากยังไม่มั่นใจในการตีความคำว่า “ราษฎร” ในมาตราดังกล่าวว่าจะหมายถึงราษฎรที่มีสัญชาติไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือหมายความรวมราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยด้วย กกต.สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

สำหรับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย หรือรู้สึกว่าถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตีความในลักษณะดังกล่าวแล้วถูกริดรอนสิทธิที่จังหวัดตนควรมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่ม โดยถือเป็นคดีตามมาตรา 7(11) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ในประเด็นคดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้ว่าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือพ้นกำหนด 60 วันที่รับเรื่องจากประชาชน ผู้ถูกละเมิดก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ ตามหลักการในมาตรา 48 ของกฎหมายดังกล่าว

หนทางปลอดภัยให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด คือ กกต.เป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยตรง

กกต.คงต้องเลือกระหว่าง เสียหน้าเล็กน้อยในวันนี้ กับ อาจเสียหายใหญ่หลวงในวันหน้า เรื่องนี้ต้องคิดเอาเอง