ส.ว.แต่งตั้ง…รับใช้เผด็จการ ฝ่ายค้านต้องชนะให้ขาด จึงมีโอกาสฟื้นประเทศ

มุกดา สุวรรณชาติ

จะเห็นว่าปัญหาของระบอบประชาธิปไตยหลังเลือกตั้งครั้งหน้า อยู่ที่การมี ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ ขณะนี้ถึงกับมี ส.ว.กลุ่มหนึ่งกล้าประกาศว่า ต่อให้ประชาชนเลือกมาเป็นเสียงข้างมาก พวกเขาก็จะไม่เลือก และพวกเขาจะโหวตไปทางเดียวกัน ถ้าแน่จริงก็ต้องชนะเลือกตั้ง แล้วหา ส.ส.ให้ได้เกิน 375 คน

นี่ไม่ใช่การคุยโว แต่เขาพูดจริงและหวังผลให้มีผู้สมัครไม่อยากไปร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

เพราะพวกเขาประเมินแล้วว่า พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมแพ้เลือกตั้งแน่นอน แต่สภาพการเมืองที่เปลี่ยนไป เสียง ส.ว.ก็แปรเปลี่ยนไปด้วย ทำให้เสียงแตกเป็น 3-4 กลุ่ม การกระทำของ ส.ว. จากนี้จะชี้ให้เห็นว่า ส.ว.ที่ขัดขวางประชาธิปไตย เมื่ออำนาจของอำมาตยาธิปไตยหมดลง ใครจะช่วยปกป้อง

 

การชิงคะแนนเสียง
ไม่มีลักษณะแบ่งเป็น 2 พรรคใหญ่

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองหลักประมาณ 10 พรรคทั้งใหญ่และเล็ก ถึงเวลาลงสนามจริงคงมีเกินกว่า 20 พรรคการเมือง

แม้กลุ่มผู้ลงคะแนนจะแบ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยม แต่ครั้งนี้ เกิดมีกลุ่มคนที่มีเปลี่ยนความคิดเป็นกลางๆ มากขึ้นเนื่องจากเข็ดขยาดฝีมือการปกครองและการบริหารนาน 9 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีการเปลี่ยนใจ อยากไปลงคะแนนให้พรรคอื่น

ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ มีการแย่งคะแนนและตัดคะแนนกันเอง

การหาเสียงครั้งนี้จึงมีความละเอียด ทั้งในเชิงนโยบายและความสำคัญของตัวบุคคลที่จะทำให้ประชาชนตัดสินว่าจะลงคะแนนให้พรรคใด และจะมีหลายเขตที่ประชาชนตัดสินใจค่อนข้างยากว่าจะเลือกใครดี หรือพรรคใดดีกว่า

ไม่ทันประกาศวันเลือกตั้ง พรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ต่างต้องหาเสียงตัดคะแนนกันเอง ในอดีตคะแนนเสียงส่วนใหญ่อยู่กับประชาธิปัตย์ แต่ในการเลือกตั้ง 2562 คะแนนเหล่านั้นได้ย้ายมาอยู่พลังประชารัฐเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ครั้งนี้ประชาธิปัตย์ก็หวังจะดึงคะแนนกลับ แต่สภาพทางการเมือง นโยบาย ความสามารถและตัวบุคคลของประชาธิปัตย์ไม่ได้ดีเด่นเหมือนเดิม จึงจะถูกแย่งคะแนนในปี 2566 ซ้ำอีกเหมือนในปี 2562 และน่าจะหนักกว่าเก่า เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยได้เบ่งบารมีเข้าไปแย่งชิงคะแนนเสียงทุกภาค

พลังประชารัฐเองก็ไม่คลายมือ ยังพยายามดึงคะแนนไว้ให้มากที่สุด

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไปสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ จำเป็นจะต้องดึงคะแนนฝ่ายอนุรักษนิยมมาอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด เพราะเพิ่งตั้งพรรคหลังคนอื่น และไม่มีฐานเสียงอื่น

 

ประเมินเสียงฝ่ายอนุรักษนิยม

ขณะนี้จึงมีการประเมินว่าภูมิใจไทยจะได้คะแนนมากที่สุด ส่วนอีก 3 พรรคคือ ปชป. พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ก็จะแบ่งกันไป ซึ่งรวม 3 พรรคแล้วอาจจะใกล้เคียงกับภูมิใจไทยพรรคเดียวเท่านั้น

เป้าหมายของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่จะรวมกันให้เกินครึ่งนั้นถือว่าบรรลุได้ยากมากเพราะเดิมก็ชนะเขตเลือกตั้งเพียง 175 เขต ถึงแม้คราวนี้จะเพิ่มเขตเลือกตั้งจาก 350 มาเป็น 400 แต่เมื่อกระแสตก โอกาสที่จะได้ถึง 175 เขตแทบเป็นไปไม่ได้

ในขณะเดียวกันคะแนนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ไม่ได้ไปโยงกับ ส.ส.เขตแบบบัตรใบเดียวอีกแล้ว และเมื่อหารด้วย 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนต้องมีคะแนนสนับสนุน อย่างน้อย 350,000 คะแนน โอกาสที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำก็ยิ่งน้อยลง

ศึกตะลุมบอน แย่งชิงเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาล มีจำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเส้นแบ่งวัดความสามารถว่า พรรคใดประสบความสำเร็จหรือไม่

สำหรับพรรคภูมิใจไทยถ้าประสบความสำเร็จจะต้องได้เกิน 90 คน ถ้าต่ำกว่า 70 ถือว่าล้มเหลว

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ถ้าพรรคใดได้เกิน 40 คนก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย ถ้าต่ำกว่า 30 คนก็ถือว่าล้มเหลว

แพ้เลือกตั้ง แต่ยังอยากได้อำนาจ…

 

จะทำอย่างไร

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ดึงดันอยากจะเป็นนายกฯ ต่อ สานงานต่ออีก 2 ปีโดยการลงสนามเลือกตั้ง กลายเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายค้าน และพรรคร่วมหลายพรรค เพราะจะมีคนชูคำขวัญ รุมโจมตีประยุทธ์ ทั้ง 2 ฝ่าย

ไม่เลือกเรา… เขามา… ประชา เจ๊งแน่

ในขณะที่หาเสียง ถ้ากระแส พล.อ.ประยุทธ์ยังดีในหมู่อนุรักษนิยม คะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อาจจะลดลง ถ้าเป็นแบบนี้พรรครวมไทยสร้างชาติจึงจะมีโอกาสได้ ส.ส.มากกว่า 25 คน

แต่ถ้าในขณะที่หาเสียงกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ติดลบ ประชาธิปัตย์อาจได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น และรวมไทยสร้างชาติอาจได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน เสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่ได้

ถ้าประเมินคะแนนเสียงขณะนี้ จะพบว่าฝ่ายอนุรักษนิยมแม้รวมกันแล้วก็ไม่น่าจะได้ ส.ส.ถึง 250 คน ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันแล้วอาจจะได้ถึง 300 คน ดังนั้น จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นรัฐบาลเก่าคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้

แต่พวกเขาอาจจะดันทุรังใช้เสียง ส.ว. 250 คนมาโหวตเลือกนายกฯ (แม้รู้ว่าถ้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะต้องถูกล้มอย่างง่ายดาย ) ถ้าฝ่ายอนุรักษนิยมรวมคะแนนกันได้ 220 กว่า แบบนี้พวกเขาอาจจะใช้แผนไปหาทางซื้อเสียงเอาข้างหน้า ใช้กล้วยให้ ส.ส.เปลี่ยนค่าย ย้ายข้าง แต่ถ้าได้น้อยกว่า 200 การซื้อ ส.ส.ก็คงทำได้ยาก

 

ฝ่ายประชาธิปไตชนะเลือกตั้ง
แต่ยังไม่ได้อำนาจ

ส.ว.อ่านเกมแล้วว่า แม้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันได้ ส.ส.ถึง 300 ถ้าไม่ได้เสียง ส.ว. 70-80 เสียงมาหนุนในการโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ก็จะยังชิงตำแหน่งนายกฯ มาไม่ได้อยู่ดี เพราะการตั้งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องใช้เสียงครึ่งรัฐสภา (376 คน)

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เกินกว่า 200 คน เกมตามรัฐธรรมนูญบังคับทางเลือก 2 ทาง

ทางเลือกแรก คือดึงพรรคการเมืองฝ่ายเสรีประชาธิปไตยรวมกันให้มากที่สุดซึ่งน่าจะได้ 270-300 หลังจากนั้นต้องไปดึงฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.รวมกันแล้วถึง 80-100 เสียงมาสนับสนุนเพื่อให้มีเสียงในสภาเกิน 375 เพื่อตั้งนายกฯ และตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค

นี่คือเส้นทางที่มีคนประเมินว่า อยู่ในแผนทางเลือกของพรรคภูมิใจไทย

ถ้าไม่สำเร็จก็ใช้ทางเลือกที่สอง ดึงพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.ไม่ต้องมากก็ได้ แต่สามารถดึง ส.ว.มาช่วยสนับสนุนให้มีเสียงรวมแล้วเกินกว่า 375

นี่ก็เป็นเส้นทางการเมืองที่บีบบังคับ แต่มีผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ

แม้จะได้ ส.ส.จำนวนน้อยกว่าภูมิใจไทยครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าประวิตรมี ส.ว.ที่สนับสนุนถึง 80 เสียงก็มีโอกาสใช้เส้นทางนี้ เข้ามาเป็นรัฐบาล

ทางเลือกที่สาม แม้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้เลือก แต่ต้องระวังมีคนตีรวน ใช้อำนาจพิเศษ สร้างสถานการณ์ ว่าประชาธิปไตยไปต่อตามระบบที่ดีไซน์ไม่ได้ จำเป็นต้องหานายกฯ คนกลาง ซึ่งวิธีนี้เสียงในรัฐสภา 500 เสียงต้องยอมให้ทำ และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าจะต้องยอมรับการร่วมมือและการต่อรองของอำนาจนอกระบบ… ส.ว.และฝ่ายอนุรักษนิยม

ในที่สุด แผนใช้ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ 2 สมัย ที่มีคนวิจารณ์ไว้หลังเห็นคำถามพ่วงก็เกิดขึ้นจริง นี่คือแผนเหยียบหัวประชาชน

ตอนนี้ไม่มีทางแก้อื่นนอกจากช่วยลงคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตย เกิน 375 เสียง จึงจะชนะ ส.ว. และฟื้นประเทศจากความสกปรก ล้มเหลวได้