‘ที่…ที่จากมา’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กลางเดือนมกราคม

เป็นช่วงเวลาของฤดูแล้งอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในป่าซึ่งพืชพรรณส่วนใหญ่เป็นพืชประเภทผลัดใบ ไม่มีป่าหนาทึบ ใบไม้เขียวๆ มีก็แต่เพียงต้นไม้กิ่งก้านโกร๋นๆ บนด่าน

เส้นทางที่ทั้งสัตว์และคนใช้เดินสู่จุดหมาย ถูกปกคลุมด้วยใบไม้สีน้ำตาลแห้ง เดินเหยียบส่งเสียงกรอบแกรบ

ป่าดูโล่งเตียน เงียบราวกับไร้ชีวิต กลางวันร้อนอบอ้าว กลางคืนและเช้ามืดอุณหภมิลดต่ำ บางวันไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส สภาพอากาศหนาวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นปีที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง

สายฝนจากไป ลมหนาวเข้ายึดครอง ร่องรอยของลำห้วยที่หาดทรายขยายกว้าง รวมทั้งต้นไม้ใหญ่หลายต้นล้มเพราะความรุนแรงของสายน้ำ แม้ว่าวันนี้ลำห้วยเหล่านั้นจะมีเพียงก้อนหินระเกะระกะ ลำห้วยสายเล็กๆ ส่วนใหญ่แห้งผาก

ซากลำต้นไม้ก็ทำให้รู้ว่า ในช่วงฝนที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงและรุนแรงเพียงใด

กลางคืนหนาว กลางวันร้อน คล้ายกับว่าวันหนึ่งต้องอยู่ในเวลาของสองฤดูกาล

เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่มีเพียงสองฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง พวกมันอยู่กับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงโดยการปรับตัว

 

หลังจากเดินข้ามลำห้วยสายหลักระดับน้ำท่วมเข่า เส้นทางผ่านป่าไผ่ มีขี้ช้างเก่าๆ หลายกอง ก่อนเริ่มไต่สูงขึ้น สภาพรอบๆ เป็นป่าเต็งรัง

ผมนั่งพักอยู่ริมหน้าผา ในระดับความสูง 350 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ร้อนอบอ้าว เหงื่อซึม แต่ก็สัมผัสได้กับกระแสลมเย็นที่พัดโชยมาเป็นระยะๆ เบื้องล่างลำห้วยสายหลักคดโค้งยาวสุดสายตา หาดทรายขยายกว้าง

“ปีนี้น้ำเยอะมากครับ ไหลแรงด้วย” สมศักดิ์ซึ่งนั่งพิงต้นไม้อยู่ข้างๆ มือมวนยาเส้น พูดเบาๆ

สมศักดิ์ทำงานในป่ามานาน อยู่ในวัยใกล้เกษียณ เราพบเจอกันมานานกว่า 20 ปี อยู่ในเหตุการณ์คับขันด้วยกันหลายครั้ง ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่เมื่อเคยยืนเผชิญหน้ากับความคับขัน หันไปข้างๆ มีสายตาให้กำลังใจ

เรื่องราวเล็กๆ ก็คล้ายทำให้คนมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

 

ในผืนป่าซึ่งผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่เกินครึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะห่างไปไกล หรือเนิ่นนาน กลับมาครั้งใด บรรยากาศเดิมๆ ก็กลับมา

เรากำลังมุ่งสู่โป่งแห่งหนึ่ง เมื่อหวนสู่เส้นทางเดิม หลับตาก็รู้ว่าก่อนถึงจุดหมายจะพบเส้นทางอย่างไร ลำห้วย, ต้นไม้เดิมที่จะเอื้อมมือจับ หรือนั่งเอนหลังพิง

จากสันเขา ด่านพาลงหุบ ลงเพื่อจะไต่ขึ้นสันใหม่

ผมเงยหน้ามองสมศักดิ์เป็นระยะ หลายครั้งเขาลับหายไป แต่ก็หักไม้เล็กๆ บอกให้รู้ว่า เลี้ยวไปทางไหน บนเส้นทางอันคุ้นเคย ใช่ว่าจะไม่พลัดหลง

ท้องฟ้าไร้เมฆ อวดสีครามเข้มงดงาม

ผ่านโป่งเล็กๆ แห้งผากหลายแห่ง มีร่องรอยสัตว์เก่าๆ พวกมันจะมาใช้โป่งเหล่านี้ในฤดูฝน ต้นไม้ข้างด่านหลายต้นมีรอยตะกุย บางต้นมีกลิ่นหอมๆ จากเสือโคร่งที่พ่นฉี่ไว้ รอยตะกุยและฉี่ คือเครื่องมือสื่อสารที่ดี

นกยูงไทย – นกยูงตัวผู้ จะสลัดหางยาวๆ ที่มีไว้เพื่อรำแพนอวดความแข็งแรงให้ตัวเมียเลือก ราวเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเวลาที่ฤดูแล้งกำลังจะสิ้นสุด

บ่ายสามโมง ด่านพาลงหุบอีกครั้ง ลัดเลาะในดงไผ่สักพัก ถึงที่ราบใต้ดงไม้ริมลำห้วย ที่ตลิ่งสูงราวสองเมตร

สมศักดิ์ปลดเป้ลงจากหลัง “พักที่นี่สักคืนครับ”

ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมใช้ที่นี่พักแรมหลายครั้ง จากแคมป์ เห็นลำห้วยคดโค้ง หาดทรายกว้าง ในค่ำคืนที่ดวงจันทร์ทอแสง เงาดวงจันทร์สะท้อนสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ

เป็นที่พักแรมที่ดี ไม่บ่อยนักที่จะได้พักแรมในแคมป์บรรยากาศดีเช่นนี้

ดวงอาทิตย์ลับสันเขา อากาศเริ่มเย็น สมศักดิ์หุงข้าวหนึ่งหม้อสนาม น้ำพริกปลาร้า เข้ากันดีกับผักกูดที่เขาเก็บมาจากในหุบริมห้วย

เป็นคืนแรมสามค่ำ ที่ดวงจันทร์กลมโต สว่างนวล ผมนึกถึงเพื่อนๆ หลายคนที่เคยพักแรมร่วมกันที่นี่ หลายคนยังพบเจอส่งข่าวกันบ้าง บางคนจากไปแล้ว จากไปทั้งที่ยังมีลมหายใจ

 

ท้องฟ้าสว่างเพราะแสงจันทร์ กองไฟเริ่มมอด ผมขยับท่อนฟืน ลูกไฟแตกกระจาย ก้มลงเป่ากองไฟ เปลวไฟไหววูบวาบ

เงยหน้าพบสมศักดิ์ที่กำลังมองยิ้มๆ

“มีใครรู้ไหมครับว่า มาลำบาก ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายแบบนี้” เขาถามขำๆ ผมยิ้มตอบ

ไม่ใช่ความยากลำบาก แต่มันเป็นสิ่งที่มากับงานที่เราทำ

สภาพอากาศหนาวยะเยือก ความอุ่นจากกองไฟช่วยได้

“กลับจากนี่ผมจะลาพักกลับบ้านสัก 4-5 วัน” สมศักดิ์บอกแผนการของเขา

ในป่าใต้แสงจันทร์นวล รายล้อมด้วยเงาต้นไม้ตะคุ่มๆ ไม่แปลกที่จะคิดถึงบ้าน บ้านเป็นสถานที่อันปลอดภัย อบอุ่น มีคนมองด้วยสายตาเป็นห่วง

มองข้ามกองไฟ เปลวไฟไหว ส่องใบหน้าเพื่อนร่วมทาง

เราจากบ้านมาไกล เรื่องงานนั้นคือส่วนหนึ่ง แต่การจากบ้านมาไกลนั้น ทำให้รู้ว่า

“ที่…ที่จากมา” อบอุ่นเพียงไร  •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ