เลือกตั้งจริงไม่มีประชาธิปไตยปลอม | คำ ผกา

คำ ผกา

แม้จะไม่มีการยุบสภา แต่รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะต้องหมดวาระไปภายในเดือนมีนาคมนี้ และการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม

และไม่เกินเดือนมิถุนายน เราน่าจะได้รัฐบาลใหม่ และมีคนไทยจำนวนไม่น้อย รวมถึงฉันด้วยที่หวังว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ท่ามกลางความหวังที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งก็เริ่มมีเสียงแห่งความห่วงใยออกมาอย่างหลากหลาย

เช่น เรายังมี ส.ว. 250 เสียงที่อาจทำให้นายกฯ ยังคงเป็นประยุทธ์เหมือนเดิม

ถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้เป็นรัฐบาลต้องเกิดการรัฐประหารแน่ๆ (ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจประชาชนที่คุกคามอำนาจของชนชั้นนำและอำนาจเผด็จการตัวจริง)

บ้างก็ว่า ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง “เขา” คงต้องหาเรื่องยุบพรรค ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาที่ว่านี้เป็นเขาไหน

บ้างก็บอกว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่มีอะไรดีขึ้น เลือกตั้งก็จริง แต่นักการเมืองหน้าเดิมขึ้นเสวยอำนาจเหมือนเดิม ไปเกี้ยเซี้ย ฮั้วกันแสวงหาผลประโยชน์เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือคำว่า “ประชาธิปไตยปลอม”

บ้างก็จินตนาการล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ โอ้วโนว นี่คือฝันร้ายชัดๆ

ตามมาด้วยการท่องอาขยานซ้ำๆ วนๆ ไปโดยไม่ใช้สมองว่าแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยหวังแค่จะเอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน แพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะอยากเอาพ่อกลับบ้าน

บ้างก็คร่ำครวญว่าพรรคการเมืองที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาที่ “โครงสร้างช้างอินเดอะรูม” มากที่สุดก็ดันจะเป็นพรรคที่ไม่น่าจะได้ ส.ส. มากพอที่จะสร้างอำนาจต่อรอง เป็นเพราะอีกติกาเลือกตั้งสองใบนี่แหละ ฮือๆ

 

ฉันเห็นว่ามันไม่ผิดที่เราจะกลัวล่วงหน้า หรือคาดการณ์ทุกอย่างให้เป็น worst case scenario ไว้ก่อน

มองในแง่จิตวิทยา คนไทยที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยทุกคนต้องเผชิญกับความอกหัก ผิดหวัง พ่ายแพ้ซ้ำซาก เราจึงกลัวที่ตั้งความหวัง

หรือต่อให้พรรคที่เราเชียร์มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย เราก็จะรีบเตือนตัวเองว่ามันไม่มีจริง มันไม่มีวันจะจริง มัน too good to be true

จากนั้นเราก็จะไซโคตัวเองว่า ดูสิ ฝ่ายครองอำนาจเขามีทุกอย่าง เงิน อาวุธ ระบบราชการ

หรือเราเชื่ออย่างจริงจังว่า อนาคตของประเทศนี้ถูกบงการอำนาจรัฐพันลึก การเลือกตั้งเอย การเมืองในสภาเอย เป็นละครตบตาประชาชน

ดังนั้น เลือกตั้งไปก็เท่านั้น ท้ายที่สุดรัฐพันลึกอยากได้อะไร เขาก็จะบันดาลให้มันเป็นไปในทางที่เขาอยากได้เสมอ

วิธีคิดแบบนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ผิดมากกว่า

ฟังเผินๆ เหมือนเป็นคนรู้เท่าทันการเมือง ตาสว่าง หลุดพ้นจากการถูกล้างสมองจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยยุคหลังสงครามเย็น

แต่เป็นการ “รู้ทัน” ไปพร้อมกับการ “จำนน” ไปในตัว

“เพราะฉันรู้ดีฉันจึงรู้ว่าสู้ไปก็แพ้อยู่ดี” ผลก็คือ จะนั่งแสดงภูมิรู้ โชว์ความฉลาดรู้ทันทุกอย่างทั้งจักรวาลไปพร้อมๆ กับการไม่ลุกไปทำอะไรเลย ทำไปก็เท่านั้น ทำไปก็ไม่มีวันชนะ

จากนั้นก็ฝันลมๆ แล้งๆ ว่า คงมีสักวันที่ประเทศไทยจะมีนักปฏิวัติผู้กล้าหาญ ปลดปล่อยประชาชนคนไทยให้เป็นอิสระ ประเทศต้องมีสิคนแบบคานธี คนแบบเช กูวารา นักสู้ผู้ปลดปล่อย

นั่งคิด นั่งรู้ นั่งฉลาด นั่งรอ นั่งด่านักการเมืองและนั่งสิ้นหวังกับการเมืองไปเรื่อยๆ แล้วก็หม่นหมอง โกรธขึ้ง

พาลเกลียดชังคนที่พยายามจะสู้ทุกทางเท่าที่จะมีโอกาส

 

วิธีแบบนี้คือวิธีคิดที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ได้เกิดจากเจตจำนงของคนหนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่ม

แต่มีปัจจัยทั้งภายนอกภายใน และหลายครั้งความเปลี่ยนแปลงเกิดจากเหตุที่คาดไม่ถึง ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น เช่น ประชาธิปไตยในญี่ปุ่นสำเร็จได้เพราะแพ้สงครามโลกและอเมริกาเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญให้โดยต้องการให้ไม่มีกองทัพ และสถาบันจักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น และนั่นคือเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยโดยพลเรือนรุ่งเรือง เข้มแข็ง

หันกลับมาที่ประเทศไทย รัฐธรรมนูญปี 2550 ร่างขึ้นมาโดยอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ก็ไม่อาจต้านทานเจตจำนงของเสียงประชาชน ได้รัฐบาลเพื่อไทย ได้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นน้องทักษิณไม่พอ เป็นผู้หญิงไปอีก – มันเจ็บใจเหลือจะกล่าว

สองปีภายใต้รัฐบาลพลเรือน สังคมก็ขยับกันไปได้อีกนิด เสรีภาพที่มีก็ทำให้เราขยับเพดานเรื่องต้องห้ามได้หลายเรื่อง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการ “ตื่นรู้” ของคนรุ่นใหม่กันขนาดนี้

ดูทรงแล้วปล่อยรัฐบาลพลเรือนไว้ไม่ได้ กองทัพออกมาทำรัฐประหารอีกรอบ ด้วยความมุ่งมั่นว่า “ครั้งนี้ต้องไม่เสียของ”

หลายคนอาจจะบอกว่า “เห็นไหม รัฐพันลึกมีจริง เสียงประชาชนจะไปมีความหมายอะไร เลือกตั้งชนะไปก็เท่านั้น เขาก็ออกมาทำรัฐประหารอยู่ดี”

 

ฉันจะเถียงว่า ถ้าการทำรัฐประหารไม่มีต้นทุนเลย คำว่า “อย่าให้เสียของ” จะไม่เกิดขึ้น

รัฐประหารปี 2557 เหมือนเป็นการสั่งเสียว่า “เราทำรัฐประหารบ่อยๆ ไม่ได้นะ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องทำอีก ช่วยทำให้มันสะเด็ดน้ำ ช่วยให้อำนาจนี้อยู่ยาวๆ ขืนออกมาทำรัฐประหารกันทุกสองปี มันต้องเจ๊งกันสักวัน

แล้วก็อย่างที่เราเห็น แม้จะรัฐประหารสำเร็จ ครองอำนาจได้ยาวนาน แต่ความชอบธรรมกลับน้อยลงเรื่อยๆ ทหารในการรับรู้ของประชาชนในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เอ่ยชื่อปัญญาชนที่เคยเป็นที่นับหน้าถือตาทรงอิทธิพลในสังคม วันนี้มีแต่คนเบือนหน้าหนี

หมอตุลย์ หมอเหรียญทอง หมอประเวศ เนาวรัตน์ หมอพรทิพย์ หรือแม้แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ทุกวันนี้มีสถานะทางสังคมเท่ากับเมื่อสมัยก่อนปี 2549 หรือไม่?

Social capital หรือทุนทางสังคมของคนเหล่านี้แทบจะเป็น 0 อีกนิดเดียวก็เป็นตัวตลก คนอย่างสุเทพ กปปส.ในวันนี้กับในวันที่เป็นลุงกำนัน ต่างกันราวฟ้ากับเหว

ปี 2549 และปี 2557 ฉันคิดว่าขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย เราแพ้ทั้งการเมือง แพ้ทั้งทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ แต่ในวันนี้ ฉันคิดว่าเราอาจจะแพ้ในด้านอำนาจทางการเมือง แต่เรากำลังสะสมชัยชนะเชิงวัฒนธรรมและอุดมการณ์ อำนาจนิยมในทุกองคาพยพของสังคมไทย ตั้งแต่โรงเรียน ไปจนถึงตำรวจ กองทัพ ระบบโซตัส รับน้อง สั่นคลอนโดยทั่วถึงกัน

นั่นแปลว่าต้นทุนของการทำรัฐประหารจะสูงขึ้นจนฉันไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ เมื่อเทียบกับการส่ง “ตัวแทน” มา “เล่น” การเมืองในระบบเลือกตั้ง

 

แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นประชาธิปไตยในบัดดล ขอให้นึกถึงการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในปี 2562 ที่กติกาถูกออกแบบมาให้ประยุทธ์และพวกสืบทอดอำนาจ ทั้งระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และ ส.ว. 250 คนที่รอยกมือให้ประยุทธ์ พร้อมๆ กับที่ประวัติเป็นผู้ตั้งพรรคพลังประชารัฐมารองรับการเลือกตั้งพร้อมกวาดต้อนนักการเมืองบ้านใหญ่มาไว้เต็มพรรค

มันเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้นำมาซึ่งประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยมันเป็นการเลือกตั้งที่พานักการเมืองไปสู่สภา

และไม่มากก็น้อย พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคพยายามใช้ทุกกลไกลที่มีอยู่หาทั้งผลประโยชน์และคะแนนให้กับตัวเอง

ฝ่ายค้านได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เห็นการสืบทอดอำนาจนั้นอัปลักษณ์ และไร้ซึ่งความสามารถ เต็มไปด้วยความฉ้อฉล บิดเบี้ยว และประยุทธ์ จากหัวหน้า คสช. กลายเป็นตัวตลกทางการเมือง

ระยะเวลา 4 ปีที่อยู่ในอำนาจ ไม่ได้ทำให้อำนาจของประยุทธ์หรือประวิตรแข็งแกร่งขึ้นแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นความแตกแยกระหว่างประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ นั้นแทบจะเรียกได้ว่าลอยตัวห่างออกไป

สุดท้าย หนีไม่พ้นที่ประยุทธ์ต้องมีพรรคการเมืองของตนเอง ต้องไปหาเสียง ต้องขึ้นเวทีปราศรัยและกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของประวิตร

นี่คือผลพวงที่เราได้เลือกตั้ง แม้ว่าประชาธิปไตยจะยังไม่เกิดขึ้น แต่กระบวนการซ่อม สร้าง และโอกาสที่พรรคการเมืองของประชาชนจะได้เข้าไปแทรก ยึดครอง ไม่ได้เข้าไปสร้างความรำคาญ สร้างรอยแผลเป็น ผดผื่น คันไปจนถึงอาการภูมิแพ้ ไอจาม บ่อนเซาะ กัดกร่อน และกินแดนไปทีละนิดๆ ทุกวันไป

เราหวังไปสูงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าพรรคการเมืองประชาธิปไตยชนะถล่มทลายได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดุลอำนาจต้องขยับ

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง

 

สําหรับฉัน คำถามว่าพรรคไหนจะจับมือกับพรรคไหนเป็นคำถามไร้เดียงสา ไร้สาระ ทุกพรรคที่ลงแข่งควรหวังสูงเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาโจทย์เดียวที่ต้องคิดคือ ตั้งรัฐบาลแบบไหนที่จะได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ได้ผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จัดตั้งรัฐบาลแบบไหน กับใคร ที่จะทำให้พรรคยังคงคะแนนิยมสูงสุด – โจทย์มีแค่นี้

ฉันอยากจะบอกว่าการต่อสู้ของเราไม่สูญเปล่า วันนี้ ประยุทธ์ ประวิตรก็ลงมายกมือไหว้ขอคะแนนกับประชาชนเหมือนนักการเมืองคนอื่น มีโอกาสเสียสุนัขเท่าๆ กับนักการเมืองคนอื่น

การต่อสู้ของเราไม่สูญเปล่าเพราะพรรคดีแต่พูด ดีแต่อวดอ้างอุดมการณ์สวยหรูดูดี แต่เนื้อในไปสังวาสกับเผด็จการก็แทบจะสูญพันธุ์ ในวันนี้ ฝ่ายขวาจัดสุดโต่งอย่างหมอวรงค์กลายเป็นโจ๊กขายขำ

เราอาจจะต้องอยู่กับพรรคการเมือง นักการเมืองที่ขายตัว ย้ายพรรคกันเป็นว่าเล่น หวังใช้ตำแหน่ง ส.ส.ต่อรองผลประโยชน์ หน้าด้าน ทรยศต่อประชาชน หลงลืมอุดมการณ์

แต่ทั้งหมดนี้คือ “การเมือง” ของมนุษย์ ปุถุชน ตราบเท่าที่อำนาจของเราไม่ถูกปล้น ตราบที่เรายังได้เลือกตั้ง ตราบเท่าที่เรายังมี “ผู้แทนฯ” ของเราเข้าไปทำงานในสภา ประชาธิปไตยมันกำลังจะเกิดขึ้น เติบโต ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ของพวกเราทุกคนที่ล้วนแต่มีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่าๆ กัน

การเลือกตั้งมีจริง ประชาธิปไตยก็กำลังจะได้โอกาสในการหยั่งรากผลิใบจริงๆ

ความสิ้นหวังไม่ช่วยอะไร การตัดพ้อก็ไม่ช่วยอะไร แต่การลุกไปรักษาสิทธิ์ แสดงสิทธิ์และยืนยันสิทธิ์ของตนเองตลอดไปคือประชาธิปไตยที่มีอยู่จริง