นักวิชาการมอง รบ.ใหม่ชี้ชะตาประเทศ ภาพ 2 ลุงยื้อแย่ง ‘บัตรคนจน’ เรียกเรตติ้ง พรรครัฐบาล-ค้านโหมประชานิยม

บทความเศรษฐกิจ

 

นักวิชาการมอง รบ.ใหม่ชี้ชะตาประเทศ

ภาพ 2 ลุงยื้อแย่ง ‘บัตรคนจน’ เรียกเรตติ้ง

พรรครัฐบาล-ค้านโหมประชานิยม

 

เมื่อสัญญาณการเลือกตั้งใกล้เข้ามา พรรคการเมืองต่างๆ ก็โชว์วิสัยทัศน์ ประกาศนโยบายมากมาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และปากท้องประชาชน

โดยพรรคแกนหลักรัฐบาล อย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือบิ๊กป้อม เป็นหัวหน้าพรรค ก็ออกนโยบายเอาใจคนไทย โดยการสานมาตรการที่ได้รับความนิยม อาทิ บ้านประชารัฐ คนละครึ่ง รวมทั้งโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่บิ๊กป้อมประกาศว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะแจกเงินเพิ่มอัดฉีดทันทีคนละ 700 บาทต่อเดือน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือบิ๊กตู่ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมพรรคน้องใหม่ รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นั่งต่ออีกสมัย ก็ชู “บัตรคนจน” ถือผลงานเด่นที่ริเริ่มมาจากไอเดียบิ๊กตู่

ส่งผลให้โครงการบัตรคนจนรอบใหม่ที่ต้องประกาศชื่อผู้มีสิทธิเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ ส่อแววเลื่อน

จากคำบอกเล่าของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พูดสั้นๆ แค่ว่า “เสร็จไม่ทัน”

สาเหตุจากธนาคารกรุงไทยที่ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนยังไม่ส่งคืนให้กระทรวงการคลัง

บัตรคนจนเจอโรคเลื่อน เพราะทางเทคนิค หรือเพราะประเด็นสกัดดาวทางการเมือง หากว่านายสันติสามารถแจกบัตรคนจนและเริ่มใช้สิทธิได้ 1 มีนาคมช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเลือกตั้ง เสียงอาจเทไปทาง พปชร.ได้ เพราะนายสันติสวมหมวกอีกใบ ในฐานะเลขาธิการ พปชร. นั่นเอง!

 

ความยุ่งขิงไม่ได้วุ่นแค่พรรคพี่พรรคน้องของ 2 ลุงเท่านั้น แต่พรรคการเมื่องอื่นๆ ก็ไม่น้อยหน้า โหมนโยบายประชานิยมถ้วนหน้า

อย่างพรรคร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เน้นสานต่อนโยบายประกันรายได้พืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยาง ข้าวโพด ปาล์ม และมันสำปะหลัง

พรรคภูมิใจไทยประกาศนโยบายพักหนี้ ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี ที่จะให้สิทธิลูกหนี้ถูกกฎหมาย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยเฉพาะนโยบายเกษตรร่ำรวย Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน คล้ายๆ จะบลั๊ฟฟ์กลับ ปชป.

ด้านพรรคฝ่ายค้านก็ไม่แผ่ว เริ่มด้วยพรรคเพื่อไทย กับนโยบายเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ย 5% ต่อปี และการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ภายในปี 2570

ส่วนพรรคก้าวไกลประกาศนโยบาย สวัสดิการถ้วนหน้า เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน และเงินสนับสนุนเด็กโตและเยาวชน 7-22 ปี อีก 800 บาทต่อเดือน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป็นบำนาญแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน และผู้พิการ รับเบี้ยยังชีพอีก 3,000 บาทต่อเดือน ขณะที่วัยแรงงาน ประกาศนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท

พรรคไทยสร้างไทยมีแนวคิดด้านนโยบาย ตั้ง 6 กองทุน อาทิ กองทุนปลดหนี้คนตัวเล็ก กองทุนสตาร์ทอัพ กองทุนการท่องเที่ยว เป็นต้น ยังประกาศยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือ 0% สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า หาเงินใหม่ให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท ลดภาษีบุคคล เงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องถูกลง รื้อโครงสร้างพลังงาน ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร รื้อระบบสินเชื่อ เป็นต้น

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นกับ “มติชน” ถึงนโยบายพรรคการเมืองที่มุ่งแต่ประชานิยมว่า การตลาดของนโยบายการเมืองในปัจจุบันนั้น คิดเป็นจุดๆ ซึ่งที่จริงควรกลับมาคิดเป็นระบบ ต้องมาดูถึงเรื่องการคลัง ว่าควรจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน และเป็นธรรมได้

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงความยั่งยืน ถ้ามองไปแต่ส่วนของรายจ่าย ไม่ได้มองที่รายได้ ท้ายที่สุดก็กลับมาที่คำถามว่า แล้วจะหารายได้อย่างไร

ส่วนในแง่ของความเป็นธรรมคือ ต้องมองไปว่าคนที่ควรได้รับประโยชน์จะได้รับหรือเปล่า ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าไม่สามารถตอบทั้งสองส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้นโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายที่จูงใจให้เกิดความบิดเบี้ยว

ส่วนหลักการการทำนโยบายต่างๆ นั้น อะไรที่มีสิทธิประโยชน์ หรือให้การช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเยอะ เพิ่มเกณฑ์มากขึ้นกว่า 30-40% หรือเพิ่มการการแจกเป็นเงินอีกเท่าตัว คงเป็นสิ่งที่ทำให้ดูน่ากลัว ผู้คนคงประหลาดใจ ว่านโยบายนี้จะทำได้หรือเปล่า แม้แต่นโยบายที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นอาจไม่เยอะ แต่เป็นสิ่งที่ใช้งบประมาณเยอะ ก็ทำให้น่ากังวลใจ อาทิ คำนวณงบประมาณแล้วใช้หลักแสนล้านบาท มีภาระผูกพันไปยาวๆ รูปแบบนี้ก็จะเริ่มเสี่ยงแล้วว่าตอนได้เป็นรัฐบาลนั้น จะหาเงินงบฯ มาอย่างไร

“อีกส่วนคือ นโยบายที่ออกมานั้น มีความใช่หรือไม่ ไปดูคนที่จะได้รับแล้ว เกิดคำถามว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางจริงหรือไม่ ทำไมนาย ก. ได้รับ และนาย ข. ที่มีความยากจน และลำบากกว่ากลับไม่ได้รับ ดังนั้น การที่ นาย ก.มีสิทธิได้ควรมีเหตุผล ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดคำถามว่า นโยบายนี้เป็นธรรมไหม” นายนณริฏกล่าว

นายนณริฏกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้ของนโยบายแต่ละอย่างที่ได้กล่าว หรือประกาศออกมา จะเป็นวาทะลมๆ ไม่สามารถเกิดได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีความเห็นว่า อาจจะเกิดจากที่คนพูดนโยบายอาจรับรู้ว่า ตัวเองจะไม่ถูกเลือก หรือตัวเองอาจจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่เข้าไปดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับนโยบายที่กล่าวไป

และกรณีสุดท้ายคือ แม้จะได้เข้าไปดูแลกระทรวงที่ได้พูดนโยบายออกไป แต่อ้างว่าทำนโยบายนั้นไม่ได้ เพราะเวลาไม่เหมาะสม

ดังนั้น คำถามก็จะเกิดว่าทุกวันนี้ก็มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้น จึงมองว่าทุกนโยบายที่แต่ละพรรคออกมา ก็มีความเสี่ยงทั้งหมด

“ดังนั้น ต้องกลับมาดูที่การเลือกตั้งในประเทศ ว่าเป็นแบบไหน อยากเลือกแบบที่จูงใจ ให้คนสนใจแต่ตนเอง หรือผู้คนอยากจะเห็นการเมืองที่เกิดการแข่งขันที่จะพัฒนาประเทศให้เดินหน้าได้” นายนณริฏกล่าว