ภารกิจฟื้นชีพ ‘โดโด้’ (2) | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

หลังจากที่โดนบูลลี่เป็นนกโง่มาหลายร้อยปี ท้ายที่สุดก็มีคนคิดจะกู้ชีพน้อนนนนขึ้นมาอีกครั้งจากการสูญพันธุ์!

ภารกิจฟื้นชีพโดโด้ คือ มิชชั่นที่ 3 ของบริษัท “โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences)” สตาร์ตอัพชื่อดังที่โด่งดังมาจากการตั้งเป้าหมายแบบ “บ้าแต่ว่าเป็นไปได้” ในการฟื้นชีพแมมมอธ และเสือทาสมาเนีย (thylacine or Tasmanian tiger)

โดโด้ คือ ตัวล่าสุด…

“โดโด้คือสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปด้วยฝีมือมนุษย์” เบน แลมม์ (Ben Lamm) ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งโคลอสซัลกล่าว ในมุมมองของเบน เทคโนโลยีฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ (de-extinction) นั้นเหมือนเป็นโอกาสที่สองของน้อนนนนนน ที่เคยพลาดปรับตัวไม่ทันจนต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไป และเขาอยากให้โอกาสครั้งใหม่กับสิ่งมีชีวิตพวกนี้

แต่ภารกิจฟื้นชีพสารพัดสัตว์สูญพันธุ์ ของทีมโคลอสซัล รวมถึง “น้อนนนนนโดโด้” ด้วย กลับเป็นเหมือนภารกิจที่ไปเหยียบเอาตาปลาของพวกนักอนุรักษ์ เพราะงบประมาณมากมายมหาศาลที่ถูกทุ่มลงไปกับภารกิจฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์นั้นมันมากมายมหาศาล แค่เฉพาะที่โคลอสซัลระดมทุนไปได้ในระยะเวลาเพียงแค่ราวๆ 2 ปี ก็ทะลุ 225 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว

ถ้าเอามาลงกับโปรเจ็กต์แนวอนุรักษ์คงได้มากมายหลายร้อยหลายพันโปรเจ็กต์

โมเดลโดโด้จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Museum National d’Histoire Naturelle) ในปารีส (ภาพโดย Jebulon, Wikipedia)

“โดโด้เป็นนกที่โด่งดัง ทุกคนรู้จัก ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากลไกในงานนี้จะเกิดขึ้นได้จริงเหมือนที่เขาอวดอ้างไว้มั้ย แต่คำถามอาจจะไม่ได้ขึ้นกับว่างานนี้นั้นจะทำขึ้นมาได้จริงหรือไม่ แต่ต้องถามว่าควรทำขึ้นมาจริงมั้ย?” เอแวน เบอร์นีย์ (Ewan Birney) รองผู้อำนวยการห้องทดลองอณูชีววิทยาแห่งยุโรป (European Molecular Biology Laboratory) กล่าว “ผมเองก็ไม่แน่ใจว่างานนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร หรือมันเป็นการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมหรือไม่ เราควรจะมุ่งปกป้องสปีชีส์ที่เรามีก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปก่อนมั้ย”

และสำหรับนักวิจัยเชิงอนุรักษ์ การทุ่มทุนก้อนโตลงไปเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ (de-extinction) อาจจะเป็นแค่มหกรรมการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครั้งใหญ่

“สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือการป้องกันไม่ให้สปีชีส์นั้นสูญพันธุ์ไปตั้งแต่แรกต่างหาก และโดยส่วนมาก มาตรการพวกนี้ใช้งบฯ น้อยกว่าเยอะ”

บอริส เวิร์ม (Boris Worm) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดาลเฮาซี ในฮาลิแฟกซ์ (University of Dalhousie in Halifax) ให้ความเห็น

พอร์ต หลุยส์ (Port Louis) เมืองหลวงของเมาริเทียส ในปัจจุบัน (ภาพโดย Peter Kuchar, Wikipedia)

ซึ่งถ้ามองในมุมของการอนุรักษ์ก็คงไม่ผิด เพราะเงินก้อนโตอาจจะเอาไปลงทุนในการพัฒนาศูนย์เพาะเลี้ยง แคมเปญรณรงค์ ไปจนถึงโครงการขยายพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาใหม่ได้อีกมากมาย

แต่ทว่า การรักษาไว้ซึ่งบางสิ่งบางอย่าง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของมันอย่างถ่องแท้

สิ่งมีชีวิตบางชนิด ไม่ว่าจะเลี้ยงประคบประหงมแค่ไหน พวกมันก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือยอมผสมพันธุ์

อย่างกรณีแรดขาว (northern white rhino) ที่แม้จะมีแคมเปญอนุรักษ์และมีความพยายามมากมายที่จะเพิ่มจำนวนขยายเผ่าพันธุ์ของพวกมันในศูนย์เพาะเลี้ยงกันมาเนิ่นนาน แต่ท้ายที่สุด หลังจากที่ “ซูดาน (Sudan)” แรดหนุ่มตัวสุดท้ายของสปีชีส์ ลาจากโลกนี้ไปในปี 2018

ความหวังที่ริบหรี่ในการอนุรักษ์ก็เริ่มมอดดับ

หลังจากสิ้นซูดาน ทั้งสปีชีส์ มีเหลือแค่เพียงสองสาว “นาจิน (Najin)” และ “ฟาตู (Fatu)”

แหมมม! ก็เหลือเป็นตัวเมียทั้งคู่ จะให้เชยชู้สู่สมสักกี่รอบก็คงไม่สามารถตั้งครรภ์ให้กำเนิดทารกแรดตัวน้อยๆ ออกมาใหม่ได้อย่างแน่นอน

นกพิราบนิโคบาร์ ญาติสนิทที่สุดของโดโด้ (ภาพจาก Wikipedia)

ในอีกมุม การเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แย่จนเกินไปในเชิงอนุรักษ์ อย่างน้อย เทคโนโลยีที่ช่วยฟื้นชีพแมมมอธ ไทลาซีนและโดโด้ ถ้าสำเร็จ ก็อาจจะนำมาฟื้นชีพแรดขาวได้เหมือนกัน

แต่ประเด็นที่ต้องคิด ก็คือ การฟื้นชีพนี้ไม่แน่ว่าจะออกมาแล้วเหมือนของจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์นั้น ไม่ใช่การโคลน (clone) แบบตอนที่สร้างแกะดอลลี่ แต่เป็นการสร้างลูกผสม (hybrid) ขึ้นมาจากการปรับแต่งดีเอ็นเอ

การโคลนแบบที่ทำกับแกะดอลลี่นั้นคือการนำเอานิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายที่มีดีเอ็นเอของตัวต้นแบบของแกะหน้าขาว ไปปลูกถ่ายลงไปในเซลล์ไข่ของแกะหน้าดำที่ถูกกำจัดนิวเคลียสออกไปแล้วก่อนหน้า เซลล์ไข่ที่ได้รับนิวเคลียสมาจากการปลูกถ่ายจะมีสารพันธุกรรมในนิวเคลียสเหมือนกับตัวต้นแบบทุกประการ และเมื่อพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนก็จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบ ในกรณีของดอลลี่ ต้นแบบเป็นแกะหน้าขาว ลูกก็ต้องออกมาหน้าขาว พันธุกรรมทั้งหมดก็ต้องเป็นของแกะหน้าขาว แม้ว่าไข่และแม่จะมาจากแกะหน้าดำก็ตาม!

แต่ในกรณีของการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ ไอเดียก็คือพยายามสร้างสารพันธุกรรมของพวกมันขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยอิงตามข้อมูลจีโนมจริงๆ ของพวกสัตว์สูญพันธุ์

และนั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ข้อมูลลำดับพันธุกรรมในจีโนมของโดโด้ที่เบธ ชาปิโร (Beth Shapiro) และทีมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ (University of California Santa Cruz) หาได้สำเร็จในปี 2022 กลายเป็นจุดพลิกผันที่ช่วยจุดประกายให้ “ภารกิจฟื้นชีพโดโด้” มีโอกาสที่จะเป็นจริงขึ้นมา

แม้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและอณูชีววิทยาจะพัฒนาไปไกลเพียงไร แต่การสังเคราะห์จีโนมของสัตว์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดนั้นยังไงก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเกินกว่าที่จะทำได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทีมของโคลอสซัลจึงต้องหาทางออก พวกเขาเบี่ยงไปใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรมในสัตว์อื่นให้มีลักษณะของสัตว์ที่เขาสนใจ ซึ่งในกรณีของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นี้ พวกเขาจะเลือกปรับเปลี่ยนจีโนมของญาติสนิทที่สุดของน้อนนนน ให้ออกมาเหมือนหรือใกล้เคียงกับจีโนมของน้อนนนนนให้มากที่สุด

ในกรณีของช้างแมมมอธ ญาติใกล้ชิดก็คือ ช้างเอเชีย (Asian elephant) ส่วนไทลาซีน ญาติสนิทของมันก็คือ ปีศาจแทสมาเนียน (Tasmanian devil) และสำหรับโดโด้ ญาติที่ใกล้ชิดที่สุด ก็คือ “นกพิราบนิโคบาร์ (Nicobar pigeon)

ซึ่งถ้ามองในมุมเทคนิคแล้ว ก็เหมือนการตัดๆ ต่อๆ แปะๆ ปะๆ ในจีโนม แนวๆ พิราบนิด โดโด้หน่อย แล้วค่อยมาลุ้นกันดูอีกทีว่าผลผลิตที่ได้มาจะหน้าตาเป็นแบบไหน… ฟักออกมาจะเหมือนโดโด้ หรือว่าเหมือนนกพิราบ หรือจะกลายเป็นตัวอะไรไม่รู้…

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน โคลอสซัลไม่ได้สนใจแค่คืนชีพสัตว์สูญพันธุ์อย่างเดียว แต่มีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลึกซึ้งกว่านั้น ที่น่าสังเกตก็คือ สัตว์เป้าหมายในทั้ง 3 ภารกิจของโคลอสซัลนั้น เป็นสัตว์คนละจำพวกโดยตั้งใจ เริ่มจากช้างแมมมอธซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ออกลูกเป็นตัว ในขณะที่เสือทาสมาเนียหรือไทลาซีนเป็นสัตว์จำพวกที่มีกระเป๋าหน้าท้อง ส่วนโดโด้นั้นเป็นนกอ้วนๆ เตี้ยๆ ที่ออกลูกเป็นไข่

นั่นหมายความว่ากลยุทธ์ในการฟื้นชีพที่ทีมโคลอสซัลจะเอามาใช้ก็จะต้องแตกต่างกันไปอีกด้วยในเชิงเทคนิค

ในกรณีของโดโด้นั้น การฝากครรภ์ลงไข่ คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะขนาดตัวของน้อนนนนั้นใหญ่โตบิ้กเบิ้ม ประมาณไก่งวงขุนวันขอบคุณพระเจ้าตัวเป้งๆ แต่ขนาดของนกพิราบนิโคบาร์ที่เอามาเป็นต้นแบบนั้น เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่านกพิราบปกติที่เราเห็นกันทั่วไปมากนัก ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริง ขนาดของนกพิราบตัวเต็มวัยก็น่าจะไม่ได้ใหญ่ไปกว่าไข่ของนกโดโด้สักเท่าไหร่

แล้วถ้าขนาดตัวมันต่างขนาดนั้น จะออกไข่แล้วกกไข่น้อนนนนได้ยังไง?

การฟื้นชีพนกโดโด้จึงต้องใช้เทคนิคพิเศษที่ล้ำยิ่งกว่าแค่หาแม่อุ้มบุญ… ทางทีมเผยว่าจะใช้การตัดต่อพันธุกรรมในไก่เข้ามาช่วย แต่จะทำยังไงนั้น ในรายละเอียด คงต้องรอดูกันต่อไป…

 

สําหรับทีมโคลอสซัล โดโด้ “นกโง่” กำลังจะกลายเป็นนกแห่งความหวัง

แต่ในมุมของนักอนุรักษ์ ความหวังนี้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่พวกเขาใฝ่หา

แม้จะรู้ดีแค่ไหนเกี่ยวกับจีโนมโดโด้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าโดโด้จำแลงที่สร้างขึ้นมาจะเหมือนกับโดโด้แห่งอดีตเป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์

เบธยอมรับ “มันคงจะบ้ามากที่จะคิดว่าหนทางออก (ของปัญหาวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ) ก็คือการฟื้นคืนชีพตัวตายตัวแทนขึ้นมา”

ท้ายที่สุด น้อนนนนนโดโด้จำแลง ดีที่สุดก็คือ นกพิราบแปลงพันธุ์ ซึ่งออกมาแล้ว จะมีพฤติกรรมเหมือนโดโด้แค่ไหนนั้น ยังไม่มีใครบอกได้…และยังทำนายได้ยากด้วยว่าจะอยู่รอดหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมาริเทียส ที่ตอนนี้เต็มไปด้วยสัตว์ผู้รุกราน ตึกรามบ้านช่อง และรีสอร์ต และหากปล่อยกลับออกไปสู่ธรรมชาติจริงๆ พวกมันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันเปราะบางของเรามากแค่ไหน

“จะเป็นเรื่องที่อันตรายมากถ้าจะบอกว่าหากเราทำลายธรรมชาติ เราก็สามารถประกอบร่างสร้างมันกลับขึ้นมาใหม่ได้อีกอยู่ดี” สจ๊วต พิมม์ (Stuart Pimm) นักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยดู๊ก (Duke University) กล่าว “เพราะที่จริง เรายังทำไม่ได้”

และต่อให้ทำได้ ก็ไม่รู้จะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า!!!…

ชัดเจนว่าการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ หรือ De-extinction คงไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนสำหรับการอนุรักษ์…!!!