ไต้หวัน (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ไต้หวัน (1)

 

ผมไม่เคยสนใจไต้หวันมากไปกว่าพันธมิตรชานม ดังนั้น เมื่อถูกชวนไปเที่ยวไต้หวัน ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเที่ยวอะไร นอกจากพิพิธภัณฑ์กู้กงซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ในที่สุดจึงเพ่งความสนใจไปที่เรื่องกินเป็นหลัก เพราะได้ยินเสียงลือว่า อาหารของเขาอร่อยเป็นเลิศเหมือนกัน

แต่ก็ผิดคาดทั้งสองเรื่องครับ ลิ้นผมย่อมเป็นมาตรฐานของตนเองเรื่องรสชาติ อาหารไต้หวันนั้นรสชาติห่วยแตกเลย คนที่คุ้นเคยกับอาหารจีนแต้จิ๋วบวกกวางตุ้งอย่างผม (เพราะคนแต้จิ๋วยอมรับว่าอาหารกวางตุ้งอร่อย ภัตตาคารหรูๆ ระยะแรกจึงเสิร์ฟอาหารกวางตุ้ง กระจายรสชาติและเมนูกลับไปให้คนไทยหลายอย่าง เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน) อาหารไต้หวันซึ่งที่จริงคืออาหารฮกเกี้ยนส่วนใหญ่ อาจมีแคะบ้างเป็นส่วนน้อย จึงจืดชืดไร้รสชาติสำหรับผมไปแทบจะทุกมื้อ

ส่วนพิพิธภัณฑ์กู้กงนั้นเต็มไปด้วยของที่ตาผมไม่ถึง แต่ไม่มีของใหญ่ๆ ที่สร้างความตื่นตะลึงแก่นักท่องเที่ยวไร้ภูมิรู้ เช่น เครื่องสำริดขนาดเกือบเท่าห้อง ดังที่ผมเคยเห็นภาพถ่ายในพิพิธภัณฑ์ที่ปักกิ่ง

แม้กระนั้นไต้หวันกลับมีอะไรน่าสนใจหลายเรื่องกว่าพิพิธภัณฑ์กู้กงและอาหาร เสียดายที่ประสบการณ์สั้นๆ ของผมทำความเข้าใจไม่ได้

แต่ทุกอย่างก็กินไปแล้ว เรียกเอาคืนไม่ได้ เหลือแต่เรื่องน่าสนใจที่ได้พบเห็นในไต้หวันที่ปลุกความใส่ใจไม่เลิก ดังนั้น ก่อนเดินทางกลับ ผมจึงไปซื้อหนังสือมาสองเล่มคือ A New Illustrated History of Taiwan ของศาสตราจารย์ Wan-yao CHOU และ Taiwan, Nation-State or Province? ของ John Franklin Copper เป็นหนังสือดีทั้งสองเล่ม แต่ดีไปคนละอย่าง

ข้อมูลเกี่ยวกับไต้หวันที่จะเล่าต่อไปนี้ ได้จากเล่มใดเล่มหนึ่งในสองเล่มนี้แหละครับ

 

พิพิธภัณฑ์กู้กงเก็บรวบรวมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุจำนวนมากที่ขนมาจากแผ่นดินใหญ่ ผมเคยได้ยินในเมืองไทยมาว่า เจียงไคเช็กขนเอาสิ่งเหล่านี้มาจากวังหลวงในปักกิ่ง จึงทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสมบัติของเจ้ามากเสียกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ปักกิ่งเสียอีก

แต่พอได้เห็นของจริงแล้ว ผมอยากเดาว่าเรื่องที่ผมได้ยินในเมืองไทยคงเป็นนิทานต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องหนึ่ง เพื่อทำให้คนไทยเชื่อว่าของดีๆ อยู่ในมือจีนที่ดีๆ ทั้งนั้น หาได้อยู่ในมือของกุ๊ยจีนแดงไม่ ทั้งนี้ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวันจะมีของไม่มากนะครับ มากทีเดียว เฉพาะที่นำมาจัดแสดงก็ถือว่ามากพอสมควรแล้วสำหรับจังหวัดหรือมณฑลเล็กขนาดนั้นของจีน

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับไปดูว่าเจียงไคเช็กแกใช้เวลาตอนไหนในการรวบรวมของเหล่านี้ ตอนที่จนมุมอยู่ชายฝั่งมณฑลฟูเจี้ยน ก่อนจะลงเรือหนีไปไต้หวันกระนั้นหรือ แกจะขึ้นไปเก็บของที่ปักกิ่งได้อย่างไร จะว่าแกรวบรวมไว้ตั้งแต่ยกขึ้นไปปราบขุนศึกทางเหนือ แล้วย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่นานกิง แกจะรู้ได้อย่างไรว่า วันหนึ่งต้องหนีไปอยู่ไต้หวัน อีกอย่างหนึ่ง นานกิงแตกให้แก่กองทัพญี่ปุ่นอย่างโกลาหลทีเดียว เพราะที่นานกิงทหารจีนยืนหยัดต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ฉะนั้น เวลาแตกจึงไม่มีเวลาเก็บข้าวของได้ทัน ต้องรีบล่าถอยออกไปเพื่อรักษากำลังไว้เท่านั้น

ดังนั้น ในฐานะที่อ่านภาษาจีนไม่ออก จึงไม่รู้ว่าเอกสารที่พิพิธภัณฑ์แจกและขายนั้นเล่าเรื่องการรวบรวมสมบัติโบราณเหล่านี้อย่างไร แต่มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่พบก็คือ หลังจากเกิดปฏิวัติซินไฮ่ในปี 1911 สมบัติพัสถานในวังหลวงที่ปักกิ่งก็กระจัดกระจายสู่ตลาดนักเล่นของเก่า ทั้งคนจีนและคนต่างชาติ นักธุรกิจและเศรษฐีที่หนีมาไต้หวันพร้อมเจียงไคเช็กก็คงขนสิ่งเหล่านี้มากับตัวด้วย เพราะไม่มีใครอยากทิ้งไว้ในแผ่นดินใหญ่ซึ่งพวกนักปฏิวัติอาจไม่เห็นคุณค่า

ส่วนเมื่อขนมาถึงไต้หวันแล้ว ทำอย่างไรจึงจะสามารถรวบรวมมาไว้ในมือของรัฐเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ได้ ผมไม่ทราบ แต่เชื่อว่าไม่พ้นฝีมือคนอย่างเจียงไคเช็กไปได้หรอก

 

น่าสังเกตด้วยว่า หนึ่งใน “ของเก่า” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สะสมไว้มากทีเดียวคือ “ศิลปะลายมือ” หรือ calligraphy และภาพเขียน บางชิ้นมาจากสมัยราชวงศ์หมิง, หยวน, ซ้อง, ถัง ก็มี พวกนี้ขนติดตัวมาจากแผ่นดินใหญ่ได้ง่าย นอกจากนี้ โดยส่วนตัวเจียงเองก็รักศิลปะลายมือมาก ตัวเขาเองก็เป็นจิตรกรงานประเภทนี้ด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือใครชอบอะไร สะสมอะไร ก็ขนๆ กันมา

ในวันที่เราเข้าเยี่ยมชม ผู้คนไม่สู้จะมากนัก อาจเป็นเพราะไม่ใช่วันหยุด แต่ที่ผมค่อนข้างแปลกใจก็คือ ไม่ค่อยมีเด็กครับ มีเด็กเล็กๆ ที่มากับคุณแม่ แต่ก็ไม่เห็นเธอชี้ชวนให้ลูกดูอะไร ทำให้ผมสงสัยว่าเธออาจจำเป็นต้องพาเด็กมาเพราะไม่มีใครดูแลที่บ้าน ผู้ชมที่เหลือคือคนแก่ที่เกษียณอายุแล้ว หรือวัยรุ่นที่ยังไม่ได้ทำงาน ผมอดนึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองสุราบายาไม่ได้ เพราะผมได้พบเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ครูพาเข้าชม

พิพิธภัณฑ์ที่สุราบายามีเรื่องราวของวีรบุรุษท้องถิ่น และบทบาทของคนชวาตะวันออกในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติประชาชาติ เราชมพิพิธภัณฑ์แล้วก็จับ “สาร” ที่เขาตั้งใจสื่อให้ผู้ชมได้ง่าย นั่นคือความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและปูมหลังของท้องถิ่น และชาตินิยมที่สุราบายาเข้าไปมีบทบาทร่วมอย่างไร

ผมตั้งคำถามเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์กู้กง เขาต้องการส่ง “สาร” อะไร? คำตอบคือไม่ชัด และดูเหมือนออกจะสับสนด้วย

 

จะว่าเพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในชาติ คำถามที่ตามมาทันทีคือชาติไหน? ชาติจีนหรือชาติไต้หวัน ผมไม่ทราบหรอกว่าส่วนใหญ่ของคนไต้หวันอยากรวมกับจีนหรือไม่ แต่อย่างน้อยคนไต้หวันก็ได้เลือกคนของพรรค DPP ซึ่งประกาศชัดเจนว่าต้องการแยกตัวเป็นชาติอิสระขึ้นเป็นประธานาธิบดีมาสองครั้งแล้ว

แต่การตั้งทางเลือกให้เหลือเพียงร่วมกับจีนหรือแยกตัวออกไป เป็นการบีบคำถามให้แคบลงจนไร้ความหมายในชีวิตจริง เพราะชีวิตจริงมีเงื่อนไขประกอบการตัดสินใจมากกว่าจะเอาดำหรือแดง ถึงคนที่เลือกพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับปักกิ่งไว้ ก็รู้ดีว่าถ้ารวมกับจีนวันใด ในระยะ 74 ปีที่ผ่านมา (สองหรือสามชั่วอายุคนไปแล้ว) คนไต้หวันมีประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนจีนในมณฑลต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่แทบจะทุกด้านเสียจน ไม่อาจอยู่ร่วมระบบเดียวกันได้ จึงควรต้องมีหลักประกันบางอย่างที่เปิดให้ไต้หวันพัฒนาต่อไปในแนวทางที่แตกต่างจากแผ่นดินใหญ่ด้วย

อันที่จริงคนไต้หวันกลุ่มนี้เคยหวังอย่างลึกๆ มาก่อนด้วยซ้ำว่า หากทอดระยะเวลาการรวมประเทศออกไป ระบอบคอมมิวนิสต์ (หรือลัทธิเหมา) ก็คงล่มสลายไปเอง (ที่คนฮ่องกงจำนวนหนึ่งยอมรับหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ อันเป็นหลักการที่คนไต้หวันไม่ยอมรับ ก็คงมาจากความหวังลึกๆ อย่างเดียวกันนี้ แต่คนฮ่องกงไม่มีทางเลือก เพราะอังกฤษอยากสะบัดก้นออกไปเต็มทีแล้ว)

ข้อถกเถียงความเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันนี่แหละครับ คือข้อถกเถียงหลักของฝ่ายที่อยากจะแยกตัวออกจากจีน ดังนั้น ถึงสองฝ่ายจะขัดแย้งกันในผลบั้นปลาย แต่ก็ใช้ข้อถกเถียงไม่ต่างจากกันนัก

 

ผมรู้สึกถึงความคลุมเครือและสับสนของ “สาร” พิพิธภัณฑ์กู้กงเมื่อเดินดูของที่ตั้งแสดงชั้นแรกไปแล้ว และได้อ่านป้ายภาษาอังกฤษไปพอสมควรแล้วด้วย ในทางวิชาการคงไม่มีอะไรตำหนิได้กระมัง แต่เอ๊ะ ทำไมมันไม่มีคำอธิบายอะไรที่แสดงผลกระทบถึงผู้ชมบ้างวะ เช่น ต้นฉบับสิ่งพิมพ์แรกๆ ของจีน (ซึ่งเท่ากับของโลกด้วย) ก็จัดแสดงให้ดู แถมตัวแม่พิมพ์แกะไม้เก่าๆ ก็ยังไปเสาะหามาแสดงให้ชมได้ด้วย

สิ่งพิมพ์มันเปลี่ยนโลกไปอย่างมโหฬารเพียงไรก็คงรู้อยู่แล้ว และมันจะกระทบสังคมจีนโบราณที่สามารถผลิต “อุดมการณ์” ในรูปแบบต่างๆ ออกมาเผยแพร่แก่คนในวงกว้างสักเพียงไร (โดยไม่จำเป็นต้องซ่อนไว้ในพิธีกรรมและธรรมเทศนาของนักบวชเพียงอย่างเดียว) แต่ก็ไม่มีนะครับ คำอธิบายมันหยุดอยู่เพียงบอกว่าสิ่งที่แสดงนั้นคืออะไร ผลิตสมัยไหน เท่านั้นจบ คนมีความรู้อย่างคุณสมชาย จิว มาดูคงสนุกและตื่นเต้น แต่คนไม่มีความรู้อย่างผมก็ได้แต่ดูแล้วอ้อๆ ไปเรื่อยเท่านั้น และหากเป็นครูก็คงไม่คิดจะนำเด็กประถม-มัธยมมาชมเป็นอันขาด

แต่ก็นั่นแหละ ถ้าจะมีคำอธิบายหรืออะไรที่ดึงให้ผู้ชมคิดลึกไปกว่าโบราณวัตถุ เช่น ประวัติศาสตร์สังคม มันจะเกี่ยวอย่างไรกับสังคมไต้หวันล่ะหว่า แม้คนไต้หวันไม่ปฏิเสธว่าเขาสืบเชื้อสายมาจากคนจีนบนแผ่นดินใหญ่ แต่เมื่อตอนที่เกิดการพิมพ์ขึ้นครั้งแรกนั้น ไต้หวันยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพื้นเมือง (ซึ่งสัมพันธ์กับพวกมลาโย-โพลีนีเชียน) และแทบไม่มีคนจีนอยู่เลย นอกจากพ่อค้าและโจรสลัดซึ่งอาจหลบลมหลบรัฐอยู่ตามชายฝั่งเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อปราศจาก “สาร” อื่นใดนอกจากคำอธิบายตัววัตถุที่จัดแสดง กู้กงจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ของนักเล่นของเก่า (antiquarian) มากกว่าพิพิธภัณฑ์ “แห่งชาติ” ใดๆ ที่ผมเคยเห็นมา (เดินเข้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไทยทั้งที่ “วังหน้า” และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ “สาร” ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ เจิดจ้าทั้งแสงและเสียงยิ่งกว่าภาพประกอบเพลงชาติในทีวีตอน 6 โมงเย็นเสียอีก)

 

ความสับสนของ “สาร” พิพิธภัณฑ์ยิ่งเห็นได้ชัด เมื่อเราผ่านพิพิธภัณฑ์เจียงไคเชคแล้วพบว่ามีเวลาพอจะแวะเข้าชม ก่อนจะเดินทางไปยังเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้

โถงหน้าในศาลาใหญ่คือรูปปั้นขนาดยักษ์ของจอมพลคนดังในท่านั่งบนเก้าอี้เท้าแขนขนาดใหญ่ ใครเห็นก็คงอดนึกถึงอนุสาวรีย์ลินคอล์นที่วอชิงตัน ดี.ซี.ไม่ได้ ผมไม่ทราบว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกันหรือไม่ แต่ในบัดนี้ อนุสาวรีย์ลินคอล์นกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะคนผิวดำไปแล้ว อนุสาวรีย์เจียงไม่กลายความหมายไปเช่นนั้น ยกเว้นแต่บริเวณอันกว้างใหญ่ของอนุสรณ์สถาน ทำให้กลายเป็นจุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลเรื่องโน้นเรื่องนี้ของประชาชน (อย่างที่สนามหลวงเคยเป็น)

แต่ “สาร” ชาตินิยมของอนุสาวรีย์มันไม่ดัง หรือมันดังไม่ออก เมื่อนำไปผูกไว้กับเจียงไคเช็ก เหตุผลในเชิงทฤษฎีก็คือ คุณมีชาติที่ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างไต้หวันภายใต้เจียงไม่ได้ ในทางปฏิบัติก็คือ เจียงปกครองไต้หวันภายใต้กฏอัยการศึกจนเสียชีวิตใน 1975 ตลอดเวลาเหล่านั้น แม้ได้ทำอะไรหลายอย่างตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน ซึ่งจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของไต้หวัน เช่น การปฏิรูปที่ดินจนกลายเป็นต้นแบบไปทั่วโลก แต่ระบอบเจียงกดขี่ปราบปรามประชาชนโดยเฉพาะชาวไต้หวัน (หมายถึงคนจีนที่อพยพมาตั้งภูมิลำเนามาก่อน 1949 หรือปีที่เจียงหนีมาจากแผ่นดินใหญ่) และชาวพื้นเมือง (มลาโย-โพลีนีเชียน) อย่างหนักและทารุณโหดร้ายตลอดมา

ในปัจจุบัน เมื่อเจียงตายไป 48 ปีแล้ว ซ้ำไต้หวันยังกลายเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งซึ่งไม่อาจถูกทำลายลงง่ายๆ จากภายใน นอกจาก “สาร” ของอนุสรณ์สถานไม่ดังแล้ว ยังถูกแข่งและทำท่าจะถูกกลบด้วยเสียงที่ขัดแย้งตรงกันข้ามกับ “สาร” ของอนุสรณ์สถานไปเลย

เสียงหนึ่งคือเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมาก ให้เปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานจากเจียงไคเช็กเสีย เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าลานกว้างเหมาะกับการชุมนุมทางการเมือง และถูกใช้เพื่อการนั้นเสมอมา ข้อเรียกร้องเช่นนี้ย่อมเป็นที่ถูกใจของพรรค DPP เป็นธรรมดา แต่พรรค KMT หรือก๊กมินตั๋งก็ย่อมไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดาอีกเหมือนกัน เพราะเจียงไคเช็กคือก๊กมินตั๋ง ถ้าเขาจะเป็นรองใครก็มีแต่ซุนยัตเซนผู้ก่อตั้งพรรคและตั้ง “ชาติ” จีนขึ้นเท่านั้น

ก๊กมินตั๋งซึ่งแตกต่างจากสมัยของเจียงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงยังต้องถูลู่ถูกังแบกเจียงไคเช็กไว้สืบไป อย่างเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องถูลู่ถูกังแบกเหมาไว้สืบมาเหมือนกัน ผู้นำพรรคหลังเหมากล่าวว่า ถ้าเหมาพัง เราก็พัง ผู้นำก๊กมินตั๋งอาจพูดอย่างเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วถึงจะพัง ก็พังไม่สู้มากเท่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรอก

 

อีกเสียงหนึ่ง ดังอยู่ในตัวอาคารโถงใหญ่ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ บนชั้นที่จัดแสดงรถประจำตำแหน่งของเจียง ซึ่งคือคาดิลแลคสีดำคันมหึมา เดินไปสุดอีกฝั่งหนึ่ง มีส่วนจัดแสดง “เหยื่อ” ของเจียงหลากหลายกลุ่ม มีตั้งแต่วัตถุเท่าที่จะหามาได้ ซึ่งก็ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จึงเป็นภาพถ่ายนองเลือดของอุบัติการณ์ต่างๆ ของการลุกขึ้นแข็งข้อ และการปราบปรามอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน มีภาพของเหยื่อเรียงหน้าให้เห็นในบางเหตุการณ์ เตือนให้เรานึกถึงว่า “คนตายมีหน้า” อย่างที่มีผู้พยายามรวบรวมทำไว้หลังการปราบคนเสื้อแดงที่ราชดำเนินและราชประสงค์ในปี 2010

ถ้าวันหนึ่งพิพิธภัณฑ์ในจีนสามารถจัดแสดงความพินาศยับเยินของชีวิตผู้คนที่เกิดจากทุพภิกขภัยใหญ่หลังนโยบายก้าวกระโดด และความวุ่นวายปั่นป่วนของการปฏิวัติวัฒนธรรมได้อย่างนี้ จีนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สังคมทุกสังคมย่อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น แต่ไม่บ่อยนักที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สังคมไทยเดินเข้าถึงจุดนั้นแล้ว ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงที่ดังเจิดจ้าในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไทยกำลังเป็นเสียงที่โดดเดี่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเอกชนหลากหลายชนิด ไม่มีอะไรเหมือนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเลย “คนเล็กคนน้อย” ซึ่งวิถีชีวิตของเขาไม่เคยมีความสำคัญพอจะปรากฏในพิพิธภัณฑ์มาก่อน บัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ของตนเองแยกต่างหาก และด้วยเนื้อหาสารพัดเรื่อง นับตั้งแต่เครื่องมือจับปลาในน้ำโขง, ในทะเล ฯลฯ ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ซึ่งเคยถูกจัดเป็น “คนนอก” เต็มขั้นมาก่อน

ผมคิดว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยจะสำนึกว่าตัวมีตัวตนที่สำคัญในชาติบ้านเมืองอย่างนี้มาก่อน และนับวันสำนึกดังกล่าวก็มีแต่ขยายออกไปในหมู่ผู้คนหลายกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจสำนึกเช่นนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กกว่านี้ด้วยซ้ำ

สำนึกความมีตัวตนของตนเอง และมีความสำคัญแก่ชาติบ้านเมืองด้วย ทำให้ประวัติศาสตร์ที่เล่ากันมานานแล้ว ไม่อาจเชื่อมต่อกับคนไทยมากขึ้นทุกทีได้อีกต่อไป และพิพิธภัณฑ์ตามแนวทางที่ราชการจัดทำและควบคุมเอาไว้ไม่มีใครเดินตามอีกต่อไป เกิดพิพิธภัณฑ์ “ทางเลือก” ต่างๆ อีกมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และทุกจังหวัด

ถ้าใครคิดว่าความเป็นไทยคือสิ่งหยุดนิ่งที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยน ลองนึกถึง “ลูกค้า” ของพิพิธภัณฑ์ใหม่, ภาพยนตร์ใหม่, นวนิยายใหม่, เพลงใหม่ และอื่นๆ ดูเถิด นึกถึงทั้งจำนวนที่นับวันก็ยิ่งมหึมามากขึ้น และทั้ง “ตัวตน” ใหม่ที่พวกเขาต้องมี ก่อนจะเป็น “ลูกค้า” ของสิ่งใหม่เหล่านั้นได้