แพทย์ พิจิตร : จากหลักการยุบสภาโดยตัวสภาเอง ถึงประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (18)

สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) ได้กล่าวถึงการยุบสภาโดยการตัดสินของสภาผู้แทนราษฎรเองว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการยุบสภา

นั่นคือ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติตัดสินใจว่าจะยุบตัวเองได้

ตัวอย่างได้แก่ มาตรา 73 รัฐธรรมนูญของโซโลมอนไอซ์แลนด์ ที่กำหนดว่า “ถ้าเมื่อไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจยุบสภาโดยได้รับการสนับสนุนจากการลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) ของสมาชิกสภาเห็นว่า สภาควรยุบ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะยุบสภาทันทีโดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ในกรณีเช่นนี้ การยุบสภาเป็นการกระทำที่เป็นทางการโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่ผู้สำเร็จราชการยุบสภาบนพื้นฐานการตัดสินใจของสภา ไม่ใช่ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี

การกำหนดการยุบสภาโดยสภาสามารถการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้

อาทิ ปัญหาที่เกิดตามมาจากการลาออกของรัฐบาล การลงมติไม่ไว้วางใจหรือผลการเลือกตั้งที่ไม่เด็ดขาดที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน โดยให้การยุบสภาเป็นการตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่สุด

การตัดสินใจใดๆ ในการยุบสภาจะต้องผ่านการถกเถียงในสภาและเป็นที่ยอมรับโดยสภา

ไม่ใช่สภาจะต้องยอมรับสภาพการยุบสภาที่มาจากการตัดสินใจโดยลับโดยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

 

ข้อดีของการที่จะต้องได้รับการยอมรับจากสภาในการยุบสภาสำหรับการยุบสภาก่อนสภาครบวาระจะช่วยป้องกันการใช้อำนาจยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องและมักง่ายของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี

เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีแนวโน้มที่จะหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยหนทางอื่นมากกว่าการยุบสภา

เพราะการยุบสภาและมีเลือกตั้งทำให้นักการเมืองต้องเสี่ยงกับผลการเลือกตั้ง ที่ไม่แน่ใจว่าตนจะได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกหรือไม่

หนทางอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกก่อนที่จะตัดสินใจยุบสภา ได้แก่ การเปลี่ยนรัฐบาลในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน

การกำหนดให้การตัดสินใจยุบสภาอยู่ที่ตัวสภาเองนี้ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถใช้การขู่ที่จะยุบสภาเป็นเครื่องมือในการหว่านล้อมหรือมีอิทธิพลต่อสภาได้

ดังนั้น วิธีการเช่นนี้จะทำให้สภาโดยรวมมีความเข้มแข็งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกสภาที่ยังมีฐานเสียงไม่เข้มแข็ง (backbenchers) สามารถป้องกันการครอบงำจากฝ่ายบริหาร

ท้ายที่สุด แนวทางนี้จะช่วยขจัดความคลุมเครือเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องสถานะของอำนาจและการใช้อำนาจวินิจฉัยของประมุขของรัฐ

เพราะอำนาจเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนและเป็นการปฏิเสธอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรของประมุขของรัฐ

 

ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองหลายพรรค ความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (absolute majority) ของสมาชิกสภาทั้งหมดเพื่อลงมติในการยุบสภาอาจจะส่งผลให้ ส.ส. ที่ฐานเสียงไม่แข็งของพรรคในรัฐบาลผสมพยายามที่จะคัดค้านการยุบสภาได้ เพราะพวกเขาจะสุ่มเสี่ยงกับการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกพรรคอาวุโสที่มีฐานเสียงมั่นคงเข้มแข็ง

การให้สภาต้องมีมติเสียงข้างมากเด็ดขาดถึงจะยุบสภาได้ ส่งผลให้เกิดการต่อรองของ ส.ส. กลุ่มนี้กับสมาชิกอาวุโสในพรรครัฐบาลผสมมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลผสมจะไปไม่รอด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ส.ส. กลุ่มนี้จะพยายามซื้อเวลาเท่าที่จะกระทำได้ในการแสวงหาการเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่มากกว่าที่จะเสี่ยงกับการยุบสภาและการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน ในบางประเทศได้กำหนดเงื่อนไขว่า สภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้เสียงข้างมากแบบพิเศษ (supramajority) ถึงจะยุบสภาได้

เช่น ประเทศลิธัวเนีย กำหนดไว้ว่าจะต้องได้เสียงข้างมากสามในห้าของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด

 

หลังจากที่ผู้เขียนได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาในการเมืองอังกฤษที่เป็นประเทศต้นแบบของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รวมถึงการสรุปหลักการและแนวทางของการยุบสภาที่ IDEA ได้นำเสนอไว้ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2559

จากนี้ ผู้เขียนจะขอนำผู้อ่านเข้าสู่ความเป็นมาของการยุบสภาในการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบการยุบสภาของเรากับต่างประเทศว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และเกิดปัญหาอะไร

ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของการยุบสภาที่เป็นข้อมูลที่ใครๆ สามารถเข้าถึงได้ ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีกล่าวถึงการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยว่าคือ การทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร

อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ

ทั้งนี้ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่

การยุบสภาเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอาจนำมาใช้แก้ปัญหาทางตันทางการเมือง นอกจากทางอื่น เช่น รัฐบาลลาออก

อนึ่ง เหตุผลในการยุบสภานั้น หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติไว้ไม่

ดังนี้ จึงเป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

อาทิ เกิดความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การใช้เป็นเครื่องมือในการชิงความได้เปรียบทางการเมือง

เช่น ขณะที่ตนมีคะแนนนิยมสูงมาก การที่สภาวการณ์ต่างๆ สุกงอมพอสมควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบอายุสภา เช่น ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว

 

ขณะเดียวกัน เราจะพบว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมิได้กำหนดหรือวางเกณฑ์ของสาเหตุในการยุบสภาไว้

อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาไว้ในมาตรา 35 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 มาตรา 32 ได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาต้องมีกําหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 มาตรา 40 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องมีกำหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะยุบได้ครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2492 มาตรา 97 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มาตรา 93 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน เป็นต้น

และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กำหนดไว้ไม่ต่างกัน นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ!

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร