โล่เงิน : เปิดคำตัดสิน “หาดเลพัง” ทวงคืนสมบัติชาติหมื่นล้าน ภาพถ่ายอากาศปี 2510 ชี้ชัด

ทวงคืนสมบัติชาติหาดเลพังหมื่นล้าน เป็นอีกคดีที่น่าสนใจและน่าศึกษา

เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีแพ่งให้ที่ดินชายทะเลกว่า 178 ไร่ มูลค่าหมื่นล้านบาท ตกเป็นของรัฐ หลังถูกกลุ่มเอกชนยื่นฟ้อง และมีการละเลยจนคดีขาดนัดยื่นคำให้การ

แต่ต่อมาอัยการยื่นคำร้องขอศาลไต่สวนจนอนุญาตและต่อสู้คดีมายาวนานนับสิบปี

รายละเอียดแห่งคดี เป็นคดีที่บุคคล กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรีสอร์ต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จ.ภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอถลาง อบต.เชิงทะเล กรมที่ดิน หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตส่วนแยกถลาง ร่วมกันเป็นจำเลย 1-7

กรณีที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันออกมติเห็นชอบปิดประกาศให้ที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโต้แย้งสิทธิครอบครอง โดยขอให้พิพากษาว่าโจทก์บางรายเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง และเพิกถอนประกาศอำเภอถลางและคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและจำเลยอื่น ให้บังคับจำเลยยุติการสงวนที่ดินของโจทก์ที่ให้ประชาชนใช้เป็นที่สาธารณะ

คำฟ้องสรุปว่า ที่ดินพิพาทที่บรรดาโจทก์ครอบครอง รวมทั้งหมด 178 ไร่ มีราษฎรเข้าถือครองใช้ประโยชน์มาก่อนปี 2489 และ 2494

ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินมาจากบุคคลอื่น และที่ดินมีการส่งมอบสิทธิครอบครองให้กับโจทก์เข้าทำประโยชน์ และที่ดินในการครอบครองบางส่วนได้รับสิทธิครอบครองมาจากราษฎรที่รับมรดกมาจากบิดาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้

มีการยื่นขอออกโฉนดตามระเบียบราชการและตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีคณะกรรมการตรวจสอบสรุปว่าที่ดินไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ หรือป่าประเภทอื่น

พวกจำเลยกลับเห็นชอบนำที่ดินไปเป็นสาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์และห้ามจำเลยขัดขวางการออกโฉนดที่ดิน

จําเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยมีพนักงานอัยการมาว่าความ และฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินโดยสุจริต จึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ เพื่อถือครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

จำเลยได้ปฏิบัติราชการกระทำการตามกฎหมาย จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2510 ไม่ปรากฏการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ ดินพิพาทย่อมกลับมาในครอบครองของรัฐ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้องโจทก์

และขอฟ้องแย้งให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินด้วย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดและให้โจทก์ที่ 1, 3, 4 และ 5 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน และให้โจทก์ทั้ง 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ ให้โจทก์ที่ 6 พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้โจทก์ทั้ง 6 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยรวม 15,000 บาท

คดีนี้ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยประกาศสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามความในประมวลกฎหมายที่ดิน แต่โจทก์อ้างว่าไม่ใช่ที่ดินของรัฐ บางส่วนเป็นที่ดินของโจทก์ทั้ง 6

มีปัญหาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทโจทก์ทั้ง 6 มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของรัฐตามข้อต่อสู้ของจำเลยหรือไม่

ฝ่ายโจทก์ทั้ง 6 อ้างว่า รับโอนที่ดินมาจากผู้ครอบครองที่ดินคนก่อนซึ่งครอบครองก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้ครอบครองที่ดินพิพาทคนก่อนได้สิทธิครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 หรือไม่

เห็นว่าพยานโจทก์หลายปากไม่มีการนำสืบให้เห็นว่าผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทว่าเริ่มครอบครองเมื่อใด และมีการโอนขายเป็นทอดๆ อย่างไร เป็นการนำสืบไม่สมฟ้อง เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย

ถึงแม้พยานบางปากสืบพอฟังได้ว่าข้อเท็จจริงมีราษฎรครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อน แต่ต้องถือว่ามีเจตนาสละการครอบครองตามบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่ปรากฏว่ามีการผ่อนผันให้เฉพาะราย

ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าราษฎรที่กล่าวอ้างมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้จะมีการโอนหลายทอดมาถึงโจทก์

ส่วนฝ่ายจำเลย มี น.ส.รุจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ กรมที่ดิน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม เบิกความประกอบรายงาน ผลการแปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ผลปรากฏว่าที่ดินทั้ง 8 แปลง 178 ไร่ บนระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายหาดมีน้ำทะเลขึ้นตามลำดับ บางส่วนมีเหมืองแร่

ส่วนในปี 2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ถึงมีปรากฏการณ์เพาะปลูกผลไม้ บางส่วนเป็นหมู่บ้าน เส้นทาง

แม้โจทก์จะมี พ.อ.ปิยะ จารุกาญจน์ หัวหน้าวิจัยและพัฒนา กรมเเผนที่ทหาร มาเบิกความประกอบภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 มีบ้านเรือนพักอาศัย แต่เป็นการเอาภาพถ่ายของกรมแผนที่ทหารมาถ่ายขยายเป็นเอกสาร เปรียบเทียบตีความ แตกต่างกับวิธีวิเคราะห์ของ น.ส.รุจิรา ว่าอ่านภาพถ่ายทางอากาศด้วยอุปกรณ์มองภาพสามมิติ ใช้ภาพ 2 ภาพเป็นลักษณะต่อเนื่อง มีส่วนทับซ้อนพันกันมา สร้างระวางแผนที่ อ้างอิงผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิธีการอ่านแปลตีความมีความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าวิธีการของ พ.อ.ปิยะ

ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ของรัฐหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงยังเป็นที่ดินของรัฐที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 นั้นชอบเเล้ว

ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 6 ในข้อกฎหมายฟังขึ้นบางส่วน ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนโจทก์ที่ 6 และโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

นายบัณฑูร ทองตัน รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงานภาค 8 อัยการแก้ต่างในคดี กล่าวว่า คดีนี้ตามศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชนะคดี และให้โจทก์ที่ 1, 3, 4 และ 5 ย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่

ส่วนโจทก์ที่ 2 และ 6 ที่ศาลฎีกาไม่ได้สั่งในส่วนนี้นั้น เนื่องจากมีข้อผิดพลาดตอนว่าความ ที่ไม่ได้ยื่นคำฟ้องแย้งไว้ เนื่องจากโจทก์ฟ้องแยกมา ทำให้สับสน คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้เอ่ยถึงในส่วนนี้ เราถือว่าชนะอยู่แล้ว เลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์

แต่พอชั้นอุทธรณ์ศาลหยิบประเด็นนี้มาพิจารณาว่าศาลชั้นต้นยังตัดสินไม่ครบเลย เลยตัดสินขับไล่ให้เราด้วย เเต่พอมาศาลฎีกามองว่าเป็นการเกินคำขอที่ไม่ได้ฟ้องมาแต่ชั้นต้นไม่สามารถทำได้

แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดความเสียหายเกินรูปคดี เพราะเมื่อศาลบอกเป็นที่ของแผ่นดิน ใครจะมาเอาก็ย่อมไม่ได้ ฟ้องขับไล่ก็จบ

คดีหาดเลพัง จึงเป็นคดีตัวอย่างของการสู้คดีเพื่อรักษาสมบัติชาติมิให้เอกชนชุบมือเปิบ!!