วิรัตน์ แสงทองคำ : “ตุลาคม” กับสังคมธุรกิจไทย (5)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเป็นไปช่วงสำคัญเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้วกับพลังต่อเนื่อง ไม่เพียงเป็นแรงปะทะพลิกโฉมหน้าธุรกิจไทย หากขยายวงสู่ภูมิภาคด้วย

ยุคสงครามเวียดนาม ฉากการต่อสู้กับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของกองทัพสหรัฐ ตามมาด้วยผลพวงว่าด้วย “ทฤษฎีโดมิโน” อันเนื่องมาจากอิทธิพลคอมมิวนิสต์ขยายตัวสู่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นระลอกคลื่น จากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เชื่อกันว่าเป้าหมายต่อไปคือไทย คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ กรณี 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องกับกระแสอิทธิพลคอมมิวนิสต์ไทยพุ่งขึ้นช่วงสั้นๆ

เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนพลิกโฉมสังคมธุรกิจไทย ด้วยภาวะผันแปรอย่างมากๆ ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจการบริหารรัฐ สถานการณ์นั้นย่อมมีทั้งผู้ได้ และสูญเสียโอกาส มีทั้งผู้ล่าถอย และผู้มาใหม่

ว่าไปแล้ว เป็นเพียง “ชิ้นส่วน” ของปรากฏการณ์ในระดับภูมิภาค ในช่วงเวลานั้น เหตุการณ์ผันแปรในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางสังคม ทั้งเชื่อมโยงกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ถือเป็นห้วงวิกฤตการณ์ทางสังคมทั้งภูมิภาคเลยทีเดียว

 

เรื่องราวของ ชิน โสภณพนิช ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ซึ่งช่วงนั้นบริหารกิจการอยู่ในช่วงเติบโตอย่างมาก จากโอกาสใหม่ เชื่อมโยงกับโฉมหน้าใหม่ของการค้าส่งออกข้าวในยุคต้นสงครามเวียดนาม [โปรดกลับไปอ่านข้อเขียนในตอนก่อน “ตุลาคม” กับสังคมธุรกิจไทย (3)] จำต้องไปปักหลักพำนักที่ฮ่องกงช่วงหนึ่ง (2501-2507) ซึ่งเป็นแผนการปรับตัวทางธุรกิจอันแยบยล

“หลังปี 2500 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลต่อสถานภาพธนาคารกรุงเทพ ทำให้ธนาคารต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการเปลี่ยนประธานกรรมการธนาคารใหม่ โดยได้ตัดสินใจเชิญ จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งขณะนั้นมียศพลโท เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่หนึ่งมาเป็นประธานกรรมการสืบแทน พลตรีศิริ สิริโยธิน” หนังสือซึ่งถือเป็นประวัติธนาคารกรุงเทพอย่างเป็นทางการเล่มหนึ่ง (หนังสือ “ชิน โสภณพานิช” เรียบเรียงโดย กมลลักษณ์ โตสกุล มี สาธิต อุทัยศรี เป็นบรรณาธิการ ปี 2530) กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกันไว้

“ฮ่องกง เปรียบเสมือนบ้านที่สองของเขา… ขยายธุรกิจด้านต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพให้กว้างขวางออกไปในหมู่พ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล…สร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ…” อีกบางตอนของหนังสือ “ชิน โสณพนิช” ได้ให้ภาพความเป็นไปเชื่อมโยงภูมิภาคในภาพใหญ่ขึ้นด้วย

เรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ เริ่มต้นที่จีนแผ่นดินใหญ่ และมีบางฉากบางตอนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันอย่างมีสีสัน อย่างรายละเอียดควรกล่าวถึง

 

การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยเหมาเจ๋อตง เริ่มขึ้นในปี 2509 เพื่อกวาดล้างอิทธิพลทุนนิยม ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวายอย่างมากมาย แม้ว่าประกาศให้สิ้นสุดลงในปี 2512 แต่ยังมีผลขยายวงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเหมาเจ๋อตงถึงแก่อสัญกรรม และการจับกุมกลุ่มผู้นำที่เรียกว่า “แก๊งสี่คน” ในปี 2519 ต่อมาไม่นาน มีบทสรุปว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรม เป็นภาวะการเสื่อมและการสูญเสียอย่างหนักที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลกระทบต่อเครือข่ายธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

“ในตอนนั้นประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากเดิมในช่วงเริ่มก่อตั้งชาติในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนเคยสนับสนุนนักธุรกิจบริษัทเอกชนและต้อนรับชาวจีนโพ้นทะเล แต่ภายหลังมีนโยบายแปรเปลี่ยนมาต่อต้านบริษัทเอกชนและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รัฐบาลเริ่มเวนคืนที่ดินของเอกชน และสนับสนุนเกษตรกรรมแบบคอมมูนแทน ด้วยเหตุนี้คุณพ่อซึ่งมีบริษัทและสวนเกษตรที่ซัวเถาจึงกลับกลายเป็นนายทุนและเจ้าของที่ดินที่รัฐบาลต้องการโค่นล้ม

แต่ถือว่าคุณพ่อยังโชคดี เดิมทีคุณพ่อไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่คุณพ่อเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร จำเป็นต้องเดินทางมารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่ฮ่องกง คุณพ่อจึงได้ออกจากประเทศจีน ประจวบกับตอนนั้นฮ่องกงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จีนไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการปกครองฮ่องกงได้ ฮ่องกงจึงถือว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย คุณพ่อจึงรอดพ้นมาได้ ถ้าวันนั้นคุณพ่อออกจากจีนช้าไปนิดเดียว ท่านอาจไม่มีชีวิตรอดออกมาก็ได้

ภายหลังบริษัทที่ซัวเถาและสวนเกษตรถูกรัฐบาลเวนคืนทั้งหมด คุณพ่อสูญเสียทรัพย์สินที่มีอยู่ที่เมืองจีน ผมก็ไม่สามารถเดินทางจากฮ่องกงไปซัวเถาและกวางเจาได้อีก เพราะเกรงว่าจะถูกกักอยู่ที่ประเทศจีน จนกระทั่งช่วงปลายยุคทศวรรษ พ.ศ.2510 หลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ผมจึงได้กลับไปเมืองจีนอีกครั้ง”

เรื่องเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ข้างต้น (ชีวประวัติ ธนินท์ เจียรวนนท์ Nikkei My Personal History แปลและเรียบเรียงโดย ภรณี จิรวงศานนท์ และ หวงเหวยเหว่ย) เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการธุรกิจซีพีซึ่งมีฐานอันมั่นคงในประเทศไทย

 

เรื่องเล่าบางตอนที่ว่า “ตอนนั้นฮ่องกงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จีนไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการปกครองฮ่องกงได้ ฮ่องกงจึงถือว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย” อาจเกี่ยวข้องกับ “Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง” ซึ่งอ้างไว้ในเรื่องราว ชิน โสภณพนิช

Ng Teng Fong ชาวจีนอพยพมาจากมฑลฟูเจี๋ยน มาก่อร่างสร้างตัวในสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เขาเชื่อมั่นฮ่องกง ได้ขยายธุรกิจไปที่นั่น ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับ ชิน โสภณพนิช อยู่ที่นั่นด้วย

กิจการที่เรียกว่า Sino Group ก่อตั้งขึ้น และดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นไปด้วยดี ต่อมาได้เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง (ปี 2515) ด้วย (ปัจจุบันยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง)

ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในช่วงความวุ่นวายอย่างมาก หลังได้รับเอกราช เป็นช่วงผ่านจากยุคประธานาธิบดีซูการ์โน ไปสู่ยุคซูฮาร์โตอย่างเบ็ดเสร็จในช่วงปี 2511 ตามมาด้วยนโยบายต่อต้านอิทธิพลคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก พร้อมๆ เปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมถึงการแปรรูปธุรกิจด้านพลังงาน เปิดช่องให้กับธุรกิจอเมริกันเข้ามาลงทุน เป็นช่วงเศรษฐกิจเติบโต ก้าวกระโดดของอินโดนีเซียช่วงหนึ่ง เช่นเดียวกับประเทศไทย

ตำนาน Union Oil Company of California (เปลี่ยนมาเป็น Unocal ในปี 2528 ต่อมาในปี 2548 Chevron Corporation แห่งสหรัฐซื้อกิจการ Unocal ทั่วโลก จึงเปลี่ยนเป็น Chevron) มาลงทุนและเป็นบริษัทอเมริกันรายแรกเข้ามาจุดประกาย “โชติช่วงชัชวาล” ให้กับสังคมไทย (ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วยปริมาณเชิงพาณิชย์แหล่งแรกของประเทศปี 2516) นั้น เป็นเหตุการณ์อาจเรียกได้ว่าคู่ขนานกับที่อินโดนีเซีย Union Oil เข้าสู่อินโดนีเซียในปี 2504 ขณะที่มาเมืองไทยปี 2505 กว่าจะได้สัมปทานใหญ่ที่สุดในอาเซียน ได้ผ่านเข้ายุคซูฮาร์โตอย่างเต็มตัวแล้ว

ส่วน “Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย” หรืออีกชื่อหนึ่ง Sudono Salim สามารถปรับตัวเข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าขณะนั้นการต่อต้านชาวจีนในอินโดนีเซียเป็นไปอย่างรุนแรง เขามาปักหลักที่ Jakarta ในปี 2495 เริ่มต้นผลิตสบู่ให้กองทัพ ในช่วงเวลาสำคัญต่อเนื่อง อินโดนีเซียประกาศอิสรภาพจากดัตช์ เขาสร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ขยายกิจการสู่สิ่งทอ และธนาคาร ปัจจุบันคือ Salim Group ยังคงเป็นธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในระดับภูมิภาค

ที่น่าเสียดายคือ Bank Central Asia ซึ่งก่อตั้งขึ้น (2498) โดย Liem Sioe Liong ในช่วงเดียวกันกับ ชิน โสภณพนิช เข้ามาบริหารธนาคารกรุงเทพ ต่อมาได้กลายเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของอินโดนีเซียด้วย แต่เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในปี 2540 โชดไม่ดีเท่าธนาคารกรุงเทพ Bank Central Asia เผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง จนทางการอินโดนีเซียเข้ามาเป็นเจ้าของ

ในช่วงเวลาเดียวกับคาบสมุทรมลายูอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญด้วย สหพันธรัฐมลายาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2500 ต่อมา มลายารวมกับบอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์ เปลี่ยนเป็นมาเลเซียเมื่อในปี 2506 ซึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนในปี 2508 สิงคโปร์ถูกขับออกจากสหพันธ์ มาก่อตั้งประเทศใหม่

เป็นช่วงเวลาเกี่ยวข้องของ “Robert Kwok แห่งมาเลเซีย และ Robin Loh แห่งสิงคโปร์” ด้วยเช่นกัน

 

Robert Kwok ได้อาศัยช่วงเวลาวิกฤตการณ์ในช่วงกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองในภูมิภาค ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงเวลามาเลเซียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ (2500) เป็นจุดเริ่มต้นสร้างธุรกิจ จากสายสัมพันธ์กับญี่ปุนซึ่งต่อมาเป็นขบวนการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศไล่หลังธุรกิจสหรัฐ [ตามที่เสนอไว้–

“ตุลาคม” กับสังคมธุรกิจไทย (1)] สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สร้างเครือข่ายธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ จากอุตสาหกรรมน้ำตาล และธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม เขาได้สร้างเครือข่าย Shangri-La Hotel ครั้งแรกขึ้นที่สิงคโปร์ และได้ขยายธุรกิจวางรากฐานปักหลักที่ฮ่องกง (ปี 2514)

“Robin Loh แห่งสิงคโปร์” นั้นแม้จะเกิดที่อินโดนีเซีย แต่เขาไม่ได้เป็นอย่าง Liem Sioe Liong ได้ตัดสินใจมาที่สิงคโปร์ เริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับฐานทัพอเมริกันที่นั่น จนสามารถสร้างกิจการท่าเรือในช่วงกลางๆ สงครามเวียดนาม เป็นจุดตั้งต้นสำคัญก่อนจะขยายธุรกิจใหญ่ไปยังประเทศออสเตรเลีย

โอกาสและการปรับตัวทางธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤตการณ์และความผันแปร สะท้อนย้อนกลับไปสู่ภาพใหญ่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่ทางสังคม เป็นไปได้ไหมว่า นี่คือบทสรุปบทเรียนว่าด้วยมุมมองสถานกาณ์ต่างๆ รวมทั้งปัจจุบัน