การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย : สร้างสรรค์หรือทำลายความเป็นไทย

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย

: สร้างสรรค์หรือทำลายความเป็นไทย

 

เมื่อราวเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ในแวดวงวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทยที่ผมได้ยินแล้วไม่ค่อยสบายใจนัก

นั่นคือ มีความพยายามผลักดันให้เกิดสิ่งที่ขอเรียกอย่างกว้างๆ ไว้ ณ ที่นี้ก่อนว่า “มาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย”

คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าความพยายามนี้ต้องการผลักดันไปไกลจนถึงระดับที่ต้องการให้มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางสถาปัตยกรรมไทย ที่หมายถึงว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป หากใครต้องการเป็นผู้ออกแบบวัดวาอารามหรืองานที่ต้องแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมไทย จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะแยกออกมาต่างหาก

หรือเป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการกำหนดมาตรฐานการออกแบบทางสถาปัตยกรรมไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะต้องทำการออกแบบงานที่แสดงออกถึงความเป็นไทย

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ผมมีความเห็นว่า จะไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยในระยะยาว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากปล่อยให้มีการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว คือ การฉุดรั้งและแช่แข็งความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกในอนาคตที่อยากจะพัฒนาและตีความต่อยอดความเป็นไทยในรูปแบบใหม่

 

ลองนึกเล่นๆ ดูนะครับ หากความคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 700 ปีก่อน สังคมไทยคงไม่มีโอกาสได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์” หรือ “เจดีย์ดอกบัวตูม” แน่ๆ

เพราะรูปแบบดังกล่าวช่างแสนประหลาดและแปลกแยกออกจากมาตรฐานการสร้างสถูปเจดีย์ในช่วงนั้นที่มีมาตรฐานคือการสร้าง “เจดีย์ทรงระฆังกลม” และ “เจดีย์ทรงปรางค์”

หรืองานออกแบบเชิงทดลองมากมายที่ออกนอกขนบประเพณีเดิมของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งหลายชิ้นต่อมาได้กลายเป็นตัวอย่างของงานสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ให้แก่วงการสถาปัตยกรรมไทย ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้

แน่นอน หลายคนเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้อาจแย้งว่า การนำงานออกแบบของพระองค์ไปเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะพระองค์เป็นผู้มีความรู้รอบและมีอัจฉริยภาพในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างดี ย่อมเข้าใจการสร้างสรรค์ใหม่ที่ยังคงรักษาจิตวิญญาณความเป็นไทยเอาไว้ได้

ไม่ปฏิเสธว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่อยากให้ลองคิดนะครับว่า หากบรรยากาศแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมไทยในยุคสมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ มีบรรยากาศของการกังวลและกลัวว่างานออกแบบจะไม่มีความเป็นไทย (แบบที่ตอนนี้กลัวกันจนอยากจะกำหนดมาตรฐานความเป็นไทยขึ้น) หรือมีการกำหนดแนวทางที่ควรจะออกแบบว่าอย่างไหนไทย อย่างไหนไม่ไทย พระองค์จะยังสามารถคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์งานได้มากแบบที่ปรากฏอยู่หรือไม่

ประเด็นของผมก็คือ งานที่สร้างสรรค์ใหม่ทั้งหลายในโลกนี้ (แน่นอนรวมถึงงานสถาปัตยกรรมไทยด้วย) จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของอัจฉริยะส่วนบุคคล

แต่เป็นเรื่องของสังคมที่จะต้องสร้าง “บรรยากาศของการสร้างสรรค์” ให้เกิดขึ้นด้วย

 

“บรรยากาศของการสร้างสรรค์” คือ บรรยากาศที่เปิดกว้าง พร้อมให้มีการลองผิดลองถูก ไม่ขี้กลัว ขี้กังวลว่าจะสูญเสียประเพณีเดิมมากจนกลายเป็นหวาดระแวง ไม่มีการเซ็นเซอร์ และต้องส่งเสริมเสรีภาพในการคิด การแสดงออก

แน่นอน การเปิดกว้างดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งงานออกแบบที่อาจจะดูแล้วแย่ในสายตาของใครหลายคน แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดกว้างนี้ย่อมทำให้คนที่เก่งจริง (ที่แม้อาจมีไม่มากนัก) สามารถฉายแสงของตัวเองออกมา และทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่ต่อยอดความเป็นไทยสู่อนาคตได้

แต่ถ้าสังคมกลัวและขี้ระแวงเกินไป สถาปัตยกรรมไทยก็จะไม่มีวันพัฒนาต่อได้ เหมือนภาษาที่ไม่ย่อมให้สร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะมองว่าเป็นภาษาวิบัติ และก็ต้องกลายเป็นภาษาที่ตายในที่สุด เหมือนประเพณีโบราณที่ไม่ย่อมเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยจนต้องสูญหายไป เพียงเพราะกลัวว่าจะไม่อนุรักษ์ของเดิม

ฉันใดก็ฉันนั้น ความพยายามในการกำหนด “มาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย” (ในทัศนะผม) คือการขุดหลุมฝังตัวเองของงานสถาปัตยกรรมไทย

 

ที่สำคัญ ด้วยความเคารพนะครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิชาการทางสถาปัตยกรรมไทยมานานพอสมควร เรียนตามตรงว่า ผมแทบจะไม่เคยเห็น ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมไทยท่านใด กล่าวชื่นชมงานออกแบบของผู้อื่น (ที่ก็ได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมไทยเช่นกัน) ว่าออกแบบสถาปัตยกรรมไทยได้ดี ถูกต้อง และสวยงาม

ดังนั้น หากฝืนดันเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวจนออกมาได้ สิ่งเลวร้ายที่จะตามมา นอกจากจะเป็นการแช่แข็งความคิดสร้างสรรค์แล้ว จะยังเป็นการผูกขาดความเป็นไทยโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม เฉพาะสายของตัวเอง ที่สามารถผลักดันตนเองให้กลายเป็นคนกำหนดเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว

ผมเชื่อนะครับว่า คนที่พยายามผลักดันแนวคิดนี้มีเจตนาที่ดีและต้องการรักษามาตรฐานความเป็นไทยเอาไว้ แต่ผมก็แปลกใจมากเช่นกันว่า ทำไมเขาถึงไม่ตระหนักเลยว่า การสร้างสรรค์ความเป็นไทยรูปแบบใหม่ ในทางสถาปัตยกรรม (รวมถึงในด้านอื่นด้วย) เป็นเรื่องรสนิยมเฉพาะของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันมากจนเกินกว่าที่จะมองหามาตรฐานที่แท้จริงได้

ต่อให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยอมประชุมตกลงและเห็นพ้องต้องกันเพื่อสร้างมาตรฐานกลางขึ้นมาได้จริง มาตรฐานชุดดังกล่าวก็มีค่าเป็นเพียงแบบมาตรฐานกลางอย่างกว้างๆ ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างกันเลยจากแบบพระอุโบสถมาตรฐาน ก ข ค ที่เมื่อครั้งหนึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งให้ทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับการออกแบบวัดทั่วประเทศ

การสร้างแบบมาตรฐานดังกล่าวของ จอมพล ป. ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทยทุกคนในปัจจุบันต่างมองตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ทำลายพัฒนาการของสถาปัตยกรรมไทย

แต่ก็น่าแปลกว่า สุดท้ายกลับมีแนวคิดที่จะทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกันเลยกับสิ่งตัวเองเคยวิจารณ์เอาไว้

 

ประเด็นสุดท้ายที่อยากกล่าว คือ เราต้องมองแยกให้ออกนะครับระหว่างความจำเป็นของการมี “ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม” กับความพยายามผลักดันให้มี “ใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางสถาปัตยกรรมไทย”

ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม มีความจำเป็นเพราะงานออกแบบอาคารเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำเป็นต้องรู้กฎหมาย

และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตผู้คน ไม่ต่างจากวิศวกร แพทย์ และทนาย

แต่ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย หรืออะไรก็ตามที่บางท่านพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตผู้คน

เป็นแต่เพียงเรื่องสุนทรียภาพเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล (ซึ่งในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมไทยด้วยกันเองก็ยังมองแตกต่างกันเลย)

ดังนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจนถึงขนาดที่จะต้องออกใบประกอบวิชาชีพเฉพาะขึ้นมา

ผมอยากใช้พื้นที่นี้เรียนไปยังผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสภาสถาปนิก ที่หากแนวคิดนี้สามารถถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงจะต้องเป็นหน่วยงานสำคัญหนึ่งที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ให้คิดทบทวนในประเด็นนี้อย่างจริงจัง

อย่านำสุนทรียภาพเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล (แม้ว่าสุนทรียภาพชุดนั้นจะอ้างอิงถึงสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทยก็ตาม) มาขยายความใหญ่โตเกินจริงจนกลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสถาปัตยกรรมไทยในอนาคต

หากพวกเราไม่โกหกตัวเองกันจนเกินไปก็น่าจะมองเห็นว่า “ความเป็นไทย” ในสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ) ก็มีเพียงแค่การนำหลังคาสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาปรับสัดส่วนรูปทรงและสวมครอบทับลงไปในอาคารสมัยใหม่ พร้อมทั้งใส่การประดับตกแต่งลวดลายไทยแบบประเพณี (หรือประยุกต์บางนิดหน่อย) ลงไปตามตัวอาคาร

แนวทางข้างต้น มิได้เสียหายอะไรนะครับ เพียงแต่ อยากถามว่า เราจะปล่อยให้มีการบังคับกะเกณฑ์แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในอนาคตให้มีแต่ทิศทางดังกล่าวเพียงอย่างเดียวจริงหรือ?

 

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวไว้ในบทความ “ไม้ กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นไทย’ ได้อย่างไร?” (ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 24-30 พฤษภาคม 2562) ไว้ว่า

“…อารยธรรมนั้นถือกำเนิดขึ้นได้เพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไป การแสวงหา ‘ความเป็นไทย’ จึงเป็นการค้นหาในความเปลี่ยนแปลง พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ควรค้นหา ‘ความเป็นไทย’ แต่ควรสร้างมันขึ้นมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของชีวิตบนโลกนี้…อย่างไม่มีวันหยุด ด้วยการสร้างและรื้อ แล้วสร้างใหม่ รื้อใหม่ ไปเรื่อยๆ…”

หากว่าตามข้อเสนอของ อ.นิธิข้างต้น แนวคิดว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย

ผมอยากถามดังๆ ว่า แน่ใจแล้วใช่ไหมว่าคือการส่งเสริมสถาปัตยกรรมไทย มิใช่การขุดหลุมฝังตัวเอง