เสียรู้ หรือจะสู้ ‘เสียมวย?’

อภิญญา ตะวันออก

ให้บังเอิญวิวัฒนากีฬาชนิดนี้ นำพานามว่า ‘มวยไทย’ ไปสู่กระแสจดจำนานาชาติทั้งด้านความเป็นกีฬาเชิงสากลและอัตลักษณ์ของชนชาติผู้ให้กำเนิด

และจวบจนวันนี้ ฉันได้เสียเพื่อนบางคนไป

“ชาวเขมรควรละอายกับเรื่องนี้บ้าง?”

นั่นคือคำกล่าวทั่วไปในทันทีที่ประเด็น “กุนแขมร์” ลุกเป็นไฟ

“มวยหนึ่ง” ความคิดของฝ่ายคอมวยไทยที่เชื่อกันว่า เราถูกคุมคาม

นัยที ฉันเองรู้สึกตกใจในความห่างหายความเข้าใจไปนาน โดยเฉพาะการที่เราไม่เคยเห็นความเป็นกุนแขมร์ทุกร่างทรงของมวยไทย

ลืมไปเถอะว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเขาเรียกกันว่าอะไร? เพราะมิฉะนั้น เราจะจดจำรายละเอียดบางอย่างที่น่ารื่นรมย์ไป

ยถากรรมบันดาล ที่ทำให้ฉันรำลึกถึงมวยเขมรยุค 90

และนั่นต่างหากที่เราจดจำได้ในหลายปีก่อน! ในมวยไทย-มวยแขมร์ที่ประจักษ์สายตา!

 

นั่นคือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกเขมรภูมินทร์ช่อง 5 ที่บุกเบิกเมื่อ 20 ปีก่อน

สมัยที่ “มวย-ปรอด่าล” คือรายการยอดฮิตที่สุดจะเฟื่องฟูในตอนนั้น อย่างไม่นึกจะเล่าสู่

ฉันเองก็เคยจับผลัดจับผลูไปนั่งขายตั๋วดูมวยกับเขาด้วยตอนนั้น น่าตื่นเต้นอย่างมากที่มีผู้คนล้นหลามมาเข้าคิวกันตั้งแต่เช้าเพื่อกลับมาดูมวยอีกรอบในตอนเย็น ซึ่งเฮกันลั่นสนั่นห้องบันทึกซึ่งเป็นโรงยิมนีเซียมเก่าของกองทัพ และเนื่องจากเป็นสตูดิโอที่ไม่ได้มาตรฐาน มวยเขมรจึงต่อยกันแต่เฉพาะตอนกลางวัน

ดังนั้น วันอาทิตย์บ่ายๆ เย็นๆ ถนนเส้นนั้น หากเราผ่านไป เราจะได้ยินเสียงเชียร์มวยอึกทึกไปตลอดสาย

และหากเราได้ไปนั่งชมสดๆ ด้วยแล้ว เราจะได้เห็นการโฆษณาจากนักพากย์สดๆ เร้าใจในขณะถ่ายทอดสด ใกล้เคียงกับยุคหนังกลางแปลงที่อาศัยการพากย์สด และมักจะโฆษณาขายยา

อย่างที่รู้กัน มวยตู้เขมรสมัยนั้นทั้งในจอโทรทัศน์และออกอากาศทางวิทยุก็คล้ายกันอย่างนั้นแล

นั่นทำให้ฉันรู้สึกรักน้ำใจโปรโมเตอร์-เฮียไทย หรือที่ชาวเขมรพากันเรียกอย่างเคารพรักว่า “โลกประเธียร” ท่านประธาน

 

เฮียทำให้ฉันรู้จักความเป็นนักสู้ เฮียเป็นสุภาพบุรุษและรักลูกน้อง ใครที่ทำงานหนัก เฮียรักหมด และมองออกถึงความเป็นนักสู้ น่าเสียดายที่โลกให้เวลาเรารู้จักกันน้อยไป

โลกประเธียรไทยคนนั้นไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะนักมวยไทยหรือเขมร เฮียยังเป็นเซียนเรื่องการจับคู่ชกทุกสัปดาห์ เฮียเก่ง ใจกล้า เวลามีมวยยักษ์ชกกันในต่างแดน เฮียงัดข้อทุกฝ่ายขอให้ซื้อลิขสิทธิ์

และชาวกัมพูชาก็ได้ประสบการณ์ชมคู่มวยโลก ตามที่ทราบ พวกเขมรแทบจะไม่เคยได้ชมมาก่อน นี่คือเรื่องลือลั่นสนั่นเมือง “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เกือบทุกสัปดาห์ของพนมเปญเวลานั้น

ส่วนนักมวยท้องถิ่นก็เช่นกัน พวกเขาพากันมาคัดตัวที่ช่อง เฮียก็ขอให้ลองตั้งการ์ด ออกท่าชกลม สักพักก็บอกครูมวยว่า กลับไปฝึกอีกหน่อย แล้วค่อยมาจับคู่ใหม่

นักมวยเขมรบางคนเคยโนเนม แต่พอได้ขึ้นชกที่เวทีเฮียไม่กี่ครั้ง ก็มีชื่อเสียงกลายเป็นคนดัง และบางคนก็ถูกยกระดับชกกับนักมวยไทย

เป็นอันว่า วิกแทบแตก!

 

ภาพจำเก่ามวยเขมร “ปรอด่าลแขมร์” ที่ถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกกัมพูชา-เขมรภูมินทร์ ซึ่งคลาคล่ำมากมายด้วยผู้คนที่สุดคลั่งมวยตู้มากมายขนาดไหน

ทุกวันนี้ ก็ยังคงยังคลั่งรักอย่างมากมายเช่นนั้น แม้ว่าวิกมวยตู้จะตามมาเปิดมากขึ้นเช่นเดียวกับค่ายมวยดังๆ

มวยเขมรมีเสน่ห์ตรงนี้ ตรงที่ความคลั่งไคล้ในคนดูต่อกีฬาที่จะเห็นกันในกุนแขมร์ทุกเวทีและทุกนัด แต่แน่ล่ะ เมื่อวิถีกีฬาไม่เหมือนอดีต

โดยเฉพาะระหว่างนักมวยไทยกับเขมรที่มักเตะต่อยกันตามแรงเชียร์ ส่วนใหญ่นักพนันท้องถิ่นอยากเห็นถึงสลบหรือน็อกเอาต์ทุกๆ นัด ไม่ว่าจะเป็นนักมวยนอกหรือใน

เช่น หลายปีก่อนตอนเห็นแก้ว รุมจอง เอาชนะอิกคิวซัง-นักมวยไทย พลัน ความคลั่งมวยเขมรแบบเดิมๆ ก็กลับมาในจิตใจ

แก้ว รุมจอง ดังกระฉ่อนอยู่หลายปี แต่ในที่สุดอายุของหมาล่าเนื้อมวยเขมร/กุนแขมร์ก็หมดอายุขัยรวดเร็วกว่าที่คิด และยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของนักมวยเขมรเสมอ สำหรับนักมวยเขมรที่ต้องลาสังเวียนไปก่อนเวลาอันควร

ถ้าเฮียยังอยู่ เฮียคงรู้สินะว่าปัญหามันมีที่มาจากอะไร?

 

แต่นั่นแหละ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในลมหายใจของนักประด่าลหรือกุนแขมร์ ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการเติบโตของค่ายมวยกัมพูชาซึ่งดูเหมือนว่า พวกเขาไม่มีฐานรากที่มั่นคงในวิทยาศาสตร์การกีฬาและอื่นๆ

แต่นั่นก็ไม่ใช่ธุระกงการที่ประชาชนกัมพูชาจะออกมาปกป้องในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “เกียรติภูมิความเป็นชาติ” ที่กระทรวงกรมทุกฝ่ายจะนำพาไปให้ถึงจุดนั้น นัยที ถ้าไม่มีคำว่า ‘มวยไทย’ ในเวทีนานาชาติที่ดูจะรุดหน้าไป

เรื่องแบบนี้ ระหว่างบทสนทนา 2 มิตรสหาย และหลังจากผ่านความคับข้องใจมายาวนาน นายสาราเพื่อนฉัน ก็หมดความอดทน

วันหนึ่ง ในกรุงเทพฯ อย่างไม่สบอารมณ์ จู่ๆ ปูมักขญมก็โพล่งออกมา

“บอง! บองว่า มันยุติธรรมไหม? ทำไมถึงมีแต่มวยไทย?”

จบคำถาม นายสาราก็คร่ำครวญออกมาราวกับเจ็บปวดเวทนา

“มันไม่ยุติธรรมเลยบอง กัมพูชาก็เมียนปรอด่าล เราก็มีมวยเขมรเหมือนกัน!”

โชคดีที่นายสาราลี้ภัยไปประเทศที่ 3 แต่อย่าหมายว่าเขาลืมมวยเขมร ไม่ว่ามันจะลือลั่นในชื่อไหน “กบัจคุน-กุนแขมร์-ลบกกะตอ” (สะกดตามภาษาเขมรต้นทาง)

สาราเอ๋ย-มิงั้น เราคงวางมวยกัน 3 ยกในกติกาแบบมวยไทย!

 

แปลกดี เมื่อพบว่า ณ ตำนานมวยไทยวิกราชดำเนิน-ตรงถนนเส้นนั้น ซึ่งมีแต่ภาพจำของการเมืองคือ พฤษภาทมิฬ/2535

ฉันไม่เคยดูมวยที่วิกนั้นหรือวิกใหม่ที่เมืองไทย แต่กลับไปย้อนเวลากับทุกอย่างในความเป็นมวยไทยๆ ในกัมพูชา!

อีกขณะนั้น ธุรกิจมวยอาชีพที่นั่นเพิ่งถือกำเนิด ฉันจึงเหมือนไปเรียนรู้ในวัฒนธรรมบ้านเมืองของตัวเอง ณ ที่นั้นซึ่งไม่ใช่มีแต่เรื่องเดียวเสียด้วย!

ตั้งแต่ได้เห็นมวยตู้วิกเขมรที่มีคนคลั่งดู ตีตั๋วเข้าชมกันแออัดยัดทะนานทุกวันหยุด ได้เห็นความเป็นโปรโมเตอร์มวยไทยในวงการมวยตู้ทีวีของกัมพูชา ซึ่งตามมาด้วยเม็ดเงินรายได้ให้สถานีโทรทัศน์อันดับ 1 เวลานั้น

และนั่นคือ จุดเริ่มต้นที่แสนหวานของความเป็นมวยเขมร โดยมิว่า ตัวตนมวยเขมรจะฝังรากมาช้านานแต่ปางไหน

คนประเทศนี้คลั่งมวยกันหมด ก็อย่างคราวที่แมนนี่ ปาเกียว ไฟต์กับฟลอยด์ เมย์เวตเธอร์ นั่นปะไร? สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน ยังเสียพนันไปถึงสองแสนบาท!

นั่นสินะ

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ไฉน วงการมวยกุนแขมร์กัมพูชา จึงพัฒนามาไกลถึงเพียงนี้ และจะไปไกลกว่านั้นบนเวทีกีฬาแห่งภูมิภาค ในพหุกีฬาสถานมรดกเตโชในอีกไม่กี่เพลาหน้า

ว่าแต่ ณ กำแพงแห่งคำถาม ต่อความเป็นอัตลักษณ์ “กุนแขมร์” กัมพูชาบนเวทีนานาชาติอันทับซ้อนกับมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน

สมเด็จฮุน เซน นั้นเคยเล่นละแบงพนันขันต่อและแทงมวยเป็นประจำ เสียอัฐไปก็มาก

แต่จะให้มาเสียมวย เสียหน้า เสียคะแนนนิยมผู้นำที่ผงาดยาวนาน 38 ปี

เห็นทียอมมิได้