อุษาวิถี (15) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (15)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ดังนั้น ในปลายราชวงศ์โจว จีนก็ได้เข้าสู่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อราชวงศ์เกิดความอ่อนแอลง ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า ในความอ่อนแอนี้หามีผู้ใดสามารถปราบดาภิเษกเพื่อตั้งตนขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ไม่ สังคมจีนจึงแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ

ความเสื่อมถอยปกคลุมไปทั่วเป็นเวลานานหลายร้อยปี และในห้วงที่ตรงกับพุทธกาลนั้นเอง ที่กลียุคที่เกิดขึ้นได้เรียกร้องต้องการในอันที่จะหาทางออกให้กับตัวเอง และเป็นเหตุให้จีนได้เกิดยุครุ่งเรืองทางปัญญาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นักปราชญ์ราชบัณฑิตจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายหลายสำนัก ประดุจกับการเบ่งบานของมวลดอกไม้นานาพรรณนับร้อยนับพันดอก

จนมีการเรียกยุคนี้ว่า “ยุคปรัชญาร้อยสำนัก”

แต่เนื่องจากการศึกษาในที่นี้มุ่งเจาะจงเฉพาะความคิดทางสังคมหรือการเมือง ที่ทรงอิทธิพลเป็นกระแสหลักอยู่ในสังคมจีนอย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งก็คือ อิทธิพลของลัทธิขงจื่อนั้น การอธิบายต่อไปจึงใช้ห้วงก่อน ห้วงระหว่าง และห้วงหลังชีวิตขงจื่อเป็นเกณฑ์ตั้งในเชิงระยะเวลา

 

ก. จีนวิถีก่อนยุคขงจื่อ

ราชวงศ์โจวก็เช่นเดียวกับสองราชวงศ์ก่อนหน้านี้ ที่ก้าวขึ้นมาได้ก็ด้วยมีผู้นำที่ทรงคุณธรรมและความสามารถ แล้วเสื่อมถอยล่มสลายลงด้วยมีผู้นำที่ไร้คุณธรรมและด้อยความสามารถ

ความรุ่งโรจน์และความเสื่อมสลายของสองราชวงศ์ก่อนหน้านี้มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เป็นการล่มสลายลงเพราะมีผู้นำทรราชปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยความทารุณโหดร้าย การเกิดกบฏเพื่อโค่นล้มราชวงศ์จึงเป็นเหตุผลที่อ้างอิงได้อย่างชอบธรรม

ในประการต่อมา การก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำคนใหม่มีที่มาอยู่สองทาง

ทางหนึ่ง มาจากการเลือกบุคคลที่มีคุณธรรมและความสามารถ โดยไม่เกี่ยวข้องกับภูมิหลังทางสังคมของบุคคลนั้น

อีกทางหนึ่ง มาจากการสืบทอดอำนาจผ่านญาติวงศ์ในทำนอง “สืบสันตติวงศ์”

ที่มาของผู้นำทั้งสองทางนี้มักก่อให้เกิดความขัดแย้งในบางเวลา โดยมีขุนนางผู้ดีและอาณาประชาราษฎร์เป็นพลังในการตรวจสอบที่สำคัญ

จะอย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผันผ่านมาถึงยุคของราชวงศ์โจว รูปรอยทางเศรษฐกิจการเมืองก็ปรากฏเป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจน สังคมแบบชนเผ่าเริ่มสลายไป การแบ่งปริมณฑลการปกครองแบบนครรัฐได้เข้ามาแทนที่

ทั้งนี้ โดยมีกษัตริย์ (หวัง) เป็นผู้นำสูงสุด

กล่าวเฉพาะในสมัยราชวงศ์โจวแล้ว ที่มาของกษัตริย์หากไม่นับองค์แรกแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นไปโดยการสืบสายโลหิต และทั้งก่อนและระหว่างนั้น ชั้นชนต่างๆ ในสังคมจีนเริ่มปรากฏความชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจแบ่งอธิบายได้ดังนี้

หนึ่ง ชนชั้นกษัตริย์ ชนชั้นกษัตริย์นับเป็นชนชั้นสูงสุดและมีพัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย กล่าวคือว่า ในช่วงที่ราชวงศ์เซี่ยและซางปกครองอยู่นั้น ความเชื่อเรื่องเทพ หรือ ซ่างตี้ ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว

คำว่า ซ่างตี้ นี้โดยทั่วไปจะหมายถึง เทพเจ้าผู้สูงศักดิ์หรือเทพเจ้าผู้อยู่เบื้องบน (Lord on High) แต่ในบางกรณีก็หมายถึง ผู้ปกครองสังคมมนุษย์ เพราะคำว่า ตี้ ในอีกความหมายหนึ่งหมายถึง จักรพรรดิ

แต่ความหมายตามนัยนี้จะใช้กันหลังจากที่เกิดระบบสมบูรณาญาธิราชย์แล้ว

 

ดังนั้น ซ่างตี้ ในยุคสมัยที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้จึงหมายถึง สิ่งที่อยู่เบื้องบนซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ และสามารถใช้อำนาจลิขิตการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ในแง่นี้ ซ่างตี้ จึงเป็นความคิดที่เป็นนามธรรมอยู่ไม่น้อย และนามธรรมนี้ของ ซ่างตี้ นี้เองที่ต่อมาถูกนำมาสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเหนือมนุษย์ขึ้นไป นั่นก็คือ ฟ้า หรือ สวรรค์ ที่เรียกว่า เทียน

ด้วยเหตุนั้น ผู้ซึ่งสามารถปกป้องชนเผ่าฮั่นให้ปลอดภัยจากการคุกคามของชนต่างชาติพันธุ์ก็ดี สามารถเข้าจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมก็ดี หรือสามารถปกครองของชนเผ่าตนจนเป็นที่ยอมรับกันก็ดี ย่อมได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำเผ่าบนฐานของการเป็นตัวแทนของเทพเจ้าผู้สูงศักดิ์ไปด้วย

ผู้นำในสมัยราชวงศ์ซางที่มีฐานการอธิบายที่ว่านี้ถูกเรียกว่า หวัง ที่หมายถึง กษัตริย์

และด้วยเหตุที่ หวัง มีความสัมพันธ์กับ ซ่างตี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสวรรค์หรือเทียนอีกชั้นหนึ่ง พอตกมาถึงสมัยของราชวงศ์โจว ผู้ที่เป็น หวัง ของราชวงศ์นี้จึงเปลี่ยนการอ้างอิงถึงที่มาของตนจากการเป็นตัวแทนของเทพเจ้า หรือ ซ่างตี้ มาเป็นตัวแทนของสวรรค์หรือเทียนในที่สุด

และนั่นก็คือที่มาของความคิดความเชื่อเกี่ยวกับ “อาณัติแห่งสวรรค์” หรือ “เทียนมิ่ง” (Mandate of Heaven)

ซึ่งก็คือ การอ้างอิงอำนาจของกษัตริย์หรือหวัง ว่าเป็นความชอบธรรมที่ได้รับมาจากฟ้าหรือสวรรค์ ซึ่งไม่มีใครสามารถฝ่าฝืนได้

และเช่นเดียวกัน เมื่อมี หวัง คนใหม่มาแทนที่คนเดิม คนใหม่ก็สามารถอ้างอิงถึงที่มาของตนแบบเดียวกันนี้เพื่อความชอบธรรมได้เช่นกัน

 

แม้ว่าการอ้างอิงที่มาทางอำนาจของหวังเกี่ยวกับอาณัติแห่งสวรรค์ดังกล่าว จะดูเป็นนามธรรมอยู่บ้างก็ตาม (เพราะมิอาจสัมผัสจับต้องหรือเห็นด้วยตาได้) แต่กล่าวสำหรับในสมัยราชวงศ์ซางแล้ว กลับมีความหมายในเชิงรูปธรรมที่ลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะความเป็นอักษรภาพของคำคำนี้ในสมัยดังกล่าว เป็นภาพของคนที่ยืนแยกขาคร่อมลงบนพื้นที่ และทำให้คำว่า หวัง มีความหมายว่า หัวหน้าเขตแดน

ซึ่งตรงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ผู้ที่เป็น หวัง หรือ กษัตริย์นี้มีอำนาจที่แน่นอนของตนเหนือหัวหน้าเผ่าหรือชุมชนอื่นๆ

อำนาจนี้สัมพันธ์แนบแน่นกับการจัดการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “พื้นที่” หรือ “เขตแดน” ทางการเกษตร และเป็นอำนาจที่สร้างขึ้นมาโดยผ่านกองกำลังทางทหารที่เข้มแข็ง