ระวังระยะต่อ-รักษาระยะห่าง! ปัญหาการต่างประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ได้หวนกลับมาเป็นอิทธิพลสำคัญในการเมืองโลกร่วมสมัยอีกครั้งแล้ว”

Nick Bisley (2017)

 

สังคมการเมืองยุคปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนถึงปัจจัยระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการเมืองภายในอย่างมาก

ยิ่งการเมืองโลกมีความเป็น “สงครามเย็นใหม่” มากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อการเมืองไทยมากเท่านั้นด้วย

ซึ่งในยุค “สงครามเย็นเก่า” ที่มีความเข้มข้นของการต่อสู้ของรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น ผลกระทบต่อการเมืองภายในเป็นสิ่งที่เห็นได้มาแล้ว

ฉะนั้น ในสภาวะปัจจุบันที่ความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่เห็นชัดในมิติต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสงครามยูเครน ที่เป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน เป็นภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับโลกตะวันตก

ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้คือภาพของความเป็นสงครามเย็นใหม่ที่มีความชัดเจนในเวทีโลก

ภาพรวมที่ไม่ต่างจากเดิมก็คือ สงครามเย็นครั้งนี้ยังเป็นภาวะ “โลกตะวันตก vs โลกตะวันออก” ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2566 จะกำหนดทิศทางการต่างประเทศไทยในท่ามกลางความผันผวนของการเมืองโลกอย่างไร…

หนึ่งในความท้าทายสำคัญของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

ขวานิยมตะวันออก!

หนึ่งในประเด็นการเมืองสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนของปีกขวาไทยในการเมืองโลกปัจจุบัน คือเรื่องของนโยบายต่างประเทศ

ดังเป็นที่รับทราบกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า กลุ่มอนุรักษนิยมหรือ “ฝ่ายขวา” ซึ่งในยุคสงครามเย็นเก่า มีความชัดเจนที่ยืนกับฝ่ายตะวันตกอย่างใกล้ชิด และกลัวว่ารัฐบาลไทยจะไม่อยู่กับค่ายตะวันตก

แต่ในยุคนี้ ปีกขวาที่มีทั้งชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และขบวนอนุรักษนิยมทั้งหลาย กลายเป็นฝ่ายที่เรียกร้องให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย พร้อมทั้งมีการประดิษฐ์วาทกรรมต่างๆ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนิน “นโยบายต่อต้านตะวันตก”

ในอดีตของยุคสงครามเย็น ใครที่แสดงความใกล้ชิดกับจีน หรือแสดงความสนับสนุนรัสเซีย ไม่เพียงจะถูกมองว่าเป็นพวก “แนวร่วมคอมมิวนิสต์” เท่านั้น หากยังอาจถูกจับกุมคุมขังในข้อหามี “การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” อีกด้วย

หรือที่กล่าวกันในยุคนั้นว่า เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบหนังสือของประธานเหมาจาก “สำนักพิมพ์ปักกิ่ง” ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะจับกุมในข้อหา “ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์” ได้แล้ว

โลกความมั่นคงไทยปัจจุบันดูจะกลับหัวกลับหางไปหมด โดยเฉพาะหลังการยึดอำนาจ 2557 แล้ว ผู้นำรัฐประหารไทยแสดงออกอย่างชัดเจนที่จะปรับยุทธศาสตร์ เป็นแบบ “ไกลตะวันตก-ใกล้ตะวันออก”

คำอธิบายในเบื้องต้นก็คือ รัฐมหาอำนาจตะวันออก ทั้งจีนและรัสเซียไม่มีท่าทีวิจารณ์การยึดอำนาจในไทย และทั้งยังแสดงอาการ “โอบอุ้ม” การจัดตั้งรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

ท่าทีต่อการรัฐประหารไทยของมหาอำนาจฝ่ายตะวันออกเช่นนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก ที่ไม่ตอบรับกับรัฐบาลทหาร ซึ่งว่าที่จริงรัฐบาลของฝ่ายตะวันตกไม่ยอมรับการยึดอำนาจตั้งแต่ครั้งก่อนที่เกิดขึ้นในปี 2549 แล้ว

ดังเป็นที่รับรู้กันในเวทีการเมือง-การทูตมาโดยตลอดว่า รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยนั้น ไม่เคยเห็นด้วยกับการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ และต้องการเห็นไทยเป็นประชาธิปไตย และสังคมมีความเป็นเสรีนิยม

แต่การจะกดดันรัฐบาลไทยก็มี “ข้อห่วงใยทางยุทธศาสตร์” เพราะหากรัฐบาลตะวันตกกดดันรัฐบาลกรุงเทพฯ เช่น การใช้มาตรการแซงก์ชั่นในแบบที่กระทำกับรัฐบาลทหารเมียนมาแล้ว

มาตรการดังกล่าวอาจกลายเป็นแรงผลักให้รัฐบาลไทยต้องวิ่งไปหาความสนับสนุนจากจีนและรัสเซียมากขึ้น อันอาจกลายเป็นการเปิดโอกาสอย่างดีให้ปักกิ่งแทรกตัวเข้ามาขยายอิทธิพลจีนในไทยมากขึ้น

ในทางกลับกันฝ่ายอำนาจนิยมในสังคมไทยก็ใช้เงื่อนไขเช่นนี้ในการปกป้องตัวเองจากกระแสโลก

ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ผู้นำทหารไทยรู้ดีว่าการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ แทบจะไม่เคยเจอ “ไม้แข็ง” จากเวทีสากล และแรงกดดันจากโลกตะวันตกก็ไม่หนักหน่วงมากนัก และไม่อาจทำให้รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ล้มลงได้แต่อย่างใด

จนอาจกล่าวได้ว่าการลงโทษของเวทีระหว่างประเทศต่อรัฐบาลทหารไทย มักจะเป็น “ไม้นวม” มากกว่า “ไม้แข็ง” อันกลายเป็นโอกาสอย่างดีสำหรับการคงอยู่ของรัฐบาลทหาร

ดังจะเห็นได้ว่าหากเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเมียนมาแล้ว รัฐบาลทหารกรุงเทพฯ ไม่เคยต้องเผชิญกับการแซงก์ชั่นอย่างจริงจังแต่อย่างใด (น่าสนใจว่า ถ้าเกิดการแซงก์ชั่นเกิดต่อรัฐประหารไทยจริงๆ แล้ว รัฐบาลทหารไทยจะดำรงอยู่ได้หรือไม่?)

ว่าที่จริงแล้วการกดดันของตะวันตกต่อรัฐบาลรัฐประหารในปี 2557 ไม่ได้รุนแรงมาก และไม่ต่างจากการยึดอำนาจในครั้งก่อนๆ

หากแต่การปลุก “กระแสขวาจัด” ที่ดำเนินต่อเนื่องในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 นั้น ทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ หรือที่เปรียบในเชิงภาพลักษณ์คือ ขวาไทยก้าวจาก “กระแสเสื้อเหลือง” ไปเป็นขวาจัดมากขึ้นด้วย “กระแสนกหวีด” จนไม่เหลือ “อนุรักษนิยมกระแสหลัก”

เพราะคนพวกนี้ขยับไปสู่การเป็น “อนุรักษนิยมสุดโต่ง” หรือเป็นฝ่าย “ขวาจัด” ไปแล้ว

 

ลัทธิสุดโต่ง

หากพิจารณาคู่ขนานกับการเมืองในโลกตะวันตกที่กระแสขวาปรากฏตัวชัดเจนทั้งในยุโรปและในสหรัฐแล้ว จะเห็นถึงความเป็น “ขวาสุดโต่ง” หรือที่เรียกในสำนวนการเมืองปัจจุบันคือ เป็นพวก “far right” เช่นตัวแบบความสุดโต่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือบรรดาปีกขวาจัดในยุโรป…

ปีกขวาจัดไทยก็มีลักษณะสุดโต่งไม่แตกต่างกัน คือ “เชื่อสุดโต่ง-คิดสุดโต่ง-ทำสุดโต่ง” และไม่เหลือพื้นที่ตรงกลางสำหรับรองรับความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็น “ลัทธิสุดโต่ง” ในทางการเมืองนั่นเอง

ความสุดโต่งของฝ่ายขวาในสังคมไทยและสังคมตะวันตกมีความเหมือนกัน คือรังเกียจประชาธิปไตย และมองประชาธิปไตยว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง

ส่วนต่างของขวาจัดไทยในประเด็นนี้คือ ความเกลียดชังประชาธิปไตย ทำให้พวกเขาไม่ชอบรัฐตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐและประเทศตะวันตก ที่มีท่าทีไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารกรุงเทพฯ

ภาวะของความสุดโต่งเช่นนี้พาให้พวกเขามีทัศนะแบบ “ต่อต้านสหรัฐ” ดังทัศนะจากการโพสต์ของคนในกลุ่มนี้ที่มองเห็นสหรัฐเป็น “Ugly American”

ผลพวงของกระแสขวาจัดเช่นนี้นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีทิศทางยุทธศาสตร์ของนโยบายแบบ “มุ่งตะวันออก” ด้วยการพาประเทศเข้าไปใกล้ชิดกับรัฐมหาอำนาจตะวันออก ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของบรรดาปีกขวาที่เป็นฝ่ายต่อต้านตะวันตกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ตัวอย่างการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จากจีนเป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมืองและความมั่นคง เพื่อบอกให้เวทีโลกรู้ว่า รัฐบาลไทยขยับตัวเป็น “รัฐผู้ใกล้ชิด” กับมหาอำนาจตะวันออก และจะ “ใช้อาวุธ” ตะวันออกมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตกในเวทีสากลต่อรัฐประหารกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นการเปิด “ช่องว่าง” ให้มหาอำนาจตะวันออก เช่น จีนขยายอิทธิพลในไทยได้มากขึ้น

และผู้นำไทยคิดด้วยความหวังแบบง่ายๆ ว่า จีนจะเข้ามาเป็น “หุ้นส่วนหลักทางยุทธศาสตร์” แทนที่อเมริกัน เพราะผู้นำในปีกอนุรักษนิยมสุดโต่งของไทยในระดับต่างๆ ล้วนแสดงท่าที “ชื่นชมจีน” พร้อมกับ “ชื่นชอบรัสเซีย” โดยเชื่อเอาเองง่ายๆ ว่า อนาคตของกรุงเทพฯ แขวนอยู่กับปักกิ่งเท่านั้น

หรือเชื่อแบบง่ายๆ ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะช่วยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยไม่ตระหนักถึงการขยายอิทธิพลเชิงลบของจีนในไทย

ความเชื่อเช่นนี้ ผู้นำไทยจึงไม่เปิดใจมอง “ปัญหาอิทธิพลของจีน” ในไทย และยิ่งนานวันอิทธิพลของจีนยิ่งขยายตัวมากขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และอาชญากรรม

จนดูเหมือนวันนี้รัฐไทยมีสภาพเป็น “รัฐอารักขา” ของจีนไปโดยปริยาย เพราะการตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงจะต้องถือเอา “ปัจจัยจีน” เป็นส่วนสำคัญ

ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงการให้น้ำหนักแก่จีนในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐไทย แต่อาจถูกตีความว่า “ไทยกลัวจีน” โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งมีความ “แอ็กเกรสซีฟ” มากขึ้น ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจแล้ว จีนอาจใช้อำนาจทางเศรษฐกิจคุกคาม/ลงโทษต่อการ “ไม่ยืนข้างจีน” จึงทำให้ผู้นำไทยมีท่าที “เอาใจจีน” อยู่เสมอ

ทั้งยังเชื่อใน “วาทกรรมบ้านพี่เมืองน้อง” ว่า “ไทย-จีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน” ตัวอย่างภาษากายของผู้นำไทยต่อผู้นำจีนในช่วงการประชุมเอเปคเป็นคำยืนยันที่ดีในเรื่องนี้

 

ชื่นชอบจีน-ชื่นชมรัสเซีย

ในสภาวะการเปลี่ยนจุดยืนของฝ่ายขวาจัด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ ฝ่ายขวาไทยที่มีนัยถึงรัฐบาลไทยในปัจจุบัน จะแสดงตนเป็น “แนวร่วมสงคราม” ของรัสเซีย ทั้งยังมีการสร้างวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ว่า รัสเซียไม่เคยคุกคามสยาม

ดังนั้น ไทยจึงควรสนับสนุน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของประธานาธิบดีปูติน จนละเลยความเป็นจริงของการสังหารหมู่ การข่มขืน การทำลายเป้าหมายพลเรือนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก ตลอดรวมถึงชาวยูเครนจำนวนมากที่กลายเป็น “ผู้ลี้ภัยสงคราม” เป็นต้น

ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนว่า นโยบายต่างประเทศไทยละเลย “ปัญหามนุษยธรรม” ในกรณียูเครน ไม่ต่างกับที่ไทยละเลยในกรณีเมียนมามาแล้ว

จนอาจกล่าวได้ว่านโยบายไทยขาด “ความกล้าหาญทางด้านจริยธรรม” ที่จะยืนกับฝ่ายที่ถูกกระทำในเวทีโลก เพื่อ “เอาใจ” จีนและรัสเซีย

สำหรับปัญหาในเอเชีย ฝ่ายขวาจัดไทยซึ่งรวมถึงทหารบางส่วนก็มีความเห็นไปในทางที่สอดรับกับจีน โดยมองว่าสหรัฐและฝ่ายตะวันตกเป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ต่อเอเชียและต่อไทยด้วย

พวกเขา “สมาทานวาทกรรมจีน” จึงไม่ต้องการให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะต่อต้าน “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” และตอบรับอย่างดีกับ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” ของจีน (BRI) และไม่สนใจแม้ผลกระทบด้านความมั่นคงจากการขยายฐานทัพเรือของจีนในกัมพูชา หรือปัญหาการขยายตัวของ “ทุนอาชญากรรม” ในเรื่องของบ่อน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยาเสพติดรอบไทย เป็นต้น

นโยบาย “มุ่งตะวันออก” ของรัฐบาลฝ่ายขวาไทย จึงละเลย “หลักการความยืดหยุ่น” (resilience) ด้านต่างประเทศ ที่ไทยต้องมีความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจทั้งหมด และต้อง “รักษาสมดุล” ของความสัมพันธ์นี้ให้ได้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ

ฉะนั้น ปัญหานี้จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลกรุงเทพฯ หลังเลือกตั้ง 2566 และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตจะต้องไม่ละเลยหลักการดังกล่าว

หลักการนี้มีข้อสรุปเพียงประการเดียวว่า นโยบายต่างประเทศไทยจะต้อง “ระวังระยะต่อ-รักษาระยะห่าง” ในความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจในเวทีโลกให้ได้ด้วยความยืดหยุ่น!