ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
‘น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง’
ภาพยนตร์ปลอบขวัญชาวไทย (2)
สงครามโลกกับการสร้างภาพยนตร์ไทย
หลังจากที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้ไทยงดฉายภาพยนตร์จากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ให้ฉายภาพยนตร์ข่าวจากบริษัทภาพยนตร์โตโฮและบริษัทเองะไฮคิวชะ ที่สอดคล้องความต้องการของญี่ปุ่น และมีรายงานข่าวชัยชนะของการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นให้สังคมไทยทราบอย่างต่อเนื่อง (สรศัลย์, 165)
นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งสงคราม ภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดที่ฉายในโรงภาพยนตร์ไทยมีแต่เรื่องที่เคยฉายแล้ว หรือซื้อค้างเก่ามาตั้งแต่ก่อนสงคราม ไม่มีภาพยนตร์ใหม่ตกเข้ามา เพราะไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ความสัมพันธ์ต่างๆ จึงสิ้นสุดลง มีแต่ภาพยนตร์จากญี่ปุ่นเท่านั้น เขาเห็นว่า ภาพยนตร์ของญี่ปุ่นนั้น “เหลือรับประทานจริงๆ” (บุศย์ สิมะเสถียร, 2550)
สอดคล้องกับสง่า อารัมภีร ที่ร่วมเปิดกรุความทรงจำว่า ในช่วงสงคราม ภาพยนตร์จากตะวันตกขาดแคลนมาก เนื่องจากการขนส่งถูกปิดกั้น ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยจึงมีแต่ภาพยนตร์ญี่ปุ่น และภาพยนตร์ของไทยที่สร้างโดยศรีกรุง ที่ผลิตภาพยนตร์ออกมาฉายในช่วงนั้นหลายเรื่อง แต่การสร้างภาพยนตร์ครั้งนั้นมีความติดขัดมาก เนื่องจาก ขาดแคลนฟิล์มที่มาจากยุโรป อเมริกา (สง่า, 2509, 116-117)
ศรีกรุงกับ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”
คอลัมน์ภาพยนตร์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้รายงานการสร้างภาพยนตร์น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ไว้ว่า ระหว่างสงครามและเกิดน้ำท่วม ช่วงนั้นจึงมีการสร้างภาพยนตร์เพียง 2 เรื่อง คือ บ้านเก่า-เรือนรัก ของ “ทิดเขียว” หรือสิน สีบุญเรือง (2436-2491) นักพากย์แห่งยุคสมัย และ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แม้นเวลานั้นจะเกิดความขาดแคลนฟิล์มถ่ายทำมากก็ตาม
ภาพยนตร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้าง ดังนี้ ประการแรก ส่งเสริม สนับสนุน การปรับปรุงวัฒนธรรมของชาติตามนโยบายของรัฐบาล
ประการที่สอง บันทึกภาพเหตุการณ์น้ำท่วมของบางจังหวัดในไทยที่ “ประสบมาอย่างสดๆ ร้อนๆ” สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นหรือเห็นไม่ทั่วด้าน จน “บางทีที่ผู้ดูอาจพบตนเองในภาพนั้นๆ”
และประการที่สาม เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้สำหรับอนาคต โดยภาพยนตร์นี้ไม่ใช่ภาพยนตร์ข่าวจึงมีนักแสดง มีบทภาพยนตร์เป็นเรื่องรัก กินใจและตลกขบขัน (ศรีกรุง, 21 พฤศจิกายน 2485)
กล่าวได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจึงสร้างขึ้นสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลขณะนั้นและมุ่งบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญอีกด้วย
นักแสดงที่ร่วมแสดงมีหลายคน เช่น จำรัส สุวคนธ์ พระเอกชื่อก้องของค่ายศรีกรุง รับบททั้งแสดงและร้องเพลง มี น.ส.ทวีวรรณ ธรรมลักษณ์ เพิ่ม เมษประสาท ผู้ชำนาญเวทีละครและการแสดงภาพยนตร์ นายถนอม ทักษ์ศิริ แสดงร่วม พร้อมนักแสดงประกอบมากมาย (ศรีกรุง, 21 พฤศจิกายน 2485)
สำหรับบทบทของจำรัส พระเอกของเรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาที่เขามักรับบทชายหนุ่มผู้มั่งคั่งร่ำรวย โก้เก๋ แต่งตัวภูมิฐาน
แต่ในเรื่องนี้ เขารับบทตรงข้ามจากที่ผ่านมาทั้งหมด กล่าวคือ เขารับบทเป็นกรรมกรแจวเรือจ้างรับส่งผู้โดยสารตามถนนที่กลายสภาพเป็นคลอง และลำคลองที่น้ำเจิ่งนองกลบตลิ่ง
บทของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้ พลิกบุคลิกจากชายหนุ่มผู้กลัวภริยาเสียจนลนลาน มาเป็นกรรมกรเข้มแข็งดุดัน เด็ดเดี่ยวที่ต้องผดุงเกียรติของกรรมกร นอกจาก บทเข้มแข็งดุดันแล้ว ยังแซมไปด้วยความอ่อนหวานยามที่เขาร้องเพลงประกอบอย่างอ่อนหวานในภาพยนตร์อีกด้วย (ศรีกรุง, 28 พฤศจิกายน 2485)
ในห้วงเวลานั้น จำรัสเป็นทั้งนักแสดงและนักร้องชื่อดัง เพลงประกอบภาพยนตร์ของเขามีการอัดแผ่นเสียงของค่ายศรีกรุงขายอย่างกว้างขวางด้วย
ดังตัวอย่างเพลงที่เขาร้องโด่งดังอย่างมากในครั้งนั้น เช่น “ตะวันยอแสง” (2479) จากภาพยนตร์เรื่องเลือดชาวนา “ฉันหาหวานใจ” (2480) จากภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ “น้ำใจรัก” (2481) จากภาพยนตร์ในสวนรัก “เมื่อฉันคอยเธอ” (2481) จากภาพยนตร์เรื่องหวานใจนายเรือ เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านปัจจุบันสามารถหาฟังได้ในยูทูบ
“น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ชั้นนำในต้นปี 2486 จากโฆษณาจะเห็นว่า ภาพยนตร์นี้พากย์โดย ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในกรุงเทพฯ ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ซึ่งเป็นอุปสรรคในการถ่ายทำเป็นอย่างมาก ทั้งกองถ่ายและนักแสดงต้องถ่ายทำกลางน้ำท่วม
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อปลอบใจประชาชน จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 2485 ตามนโยบายของท่านผู้นำ จอมพล ป. บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเริ่มถ่ายทำช่วงน้ำท่วมพระนคร และเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของบริษัทด้วย ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ขาวดำ เสียงในฟิล์ม กำหนดการเข้าฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง ราววันที่ 3-10 กุมภาพันธ์ 2486 โดยโฆษณาว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ให้คติยุคสร้างชาติ มีทั้งเรื่องรัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมผู้คนได้อย่างดี มีพระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1, 2557,130)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังค้นไม่พบฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวว่า เนื้อหาภาพยนตร์และบทเพลงประกอบเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดเป็นเช่นไร
นอกจากภาพในหนังสือพิมพ์ 2 ภาพและข้อความโปรยจูงใจสรุปสาระภาพยนตร์ถึงชีวิต เกียรติของกรรมกรคนยากไร้ ที่มีมุขตลกเคล้าเรื่องรักที่ซาบซึ้ง ทว่า ภาพยนตร์นี้ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากสังคมไทยขณะนั้นน่าคงพะวักพะวนกับสงครามที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นจนมิอาจเพลิดเพลินเริงใจดังช่วงก่อนสงครามนั้นได้
ควรบันทึกด้วยว่า ในครั้งนั้น จำรัส คือพระเอกแห่งยุค โดยมีมานี สุมนนัฏ นางเอกแห่งยุคเช่นกัน ทั้งคู่คือนักแสดงคู่ขวัญของภาพยนตร์ศรีกรุง เมื่อเธอหันหลังให้กับวงการออกไปใช้ชีวิตคู่ในเวลาต่อมาแล้วนั้น จำรัสยังมีผลงานภาพยนตร์ต่ออีกเพียง 3 เรื่องคือ ในสวนรัก (2481) ไม่เคยรัก (2483) และ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485) อันเป็นเรื่องสุดท้ายของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก่อนจะปิดโรงถ่ายลงเพราะประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่และต้องภัยจากสงคราม
สงครามครั้งนั้นส่งผลให้บริษัทภาพยนตร์ไทยซึ่งมีโรงถ่ายอันดับหนึ่งกลายเป็นอดีต พร้อมกับจำรัส พระเอกแห่งยุคสมัยสิ้นชีวิตลงอย่างอาภัพในช่วงปลายสงครามนั่นเอง
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก่อตั้งเมื่อ 2478 เป็นของพี่น้องตระกูลวสุวัต ผู้เป็นทั้งเจ้าของโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์รายวันด้วย บริษัทสามารถอัดเสียงลงฟิล์มขณะถ่ายทำพร้อมกัน และมีโรงถ่ายภาพยนตร์มาตรฐานสากลแห่งแรกที่ทุ่งบางกะปิ บริษัทมีผลงานถ่ายทำหนังข่าวและสารคดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทยหลายเรื่อง
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง
ภาพยนตร์สุดท้ายของศรีกรุง
อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของบริษัทหลังจากยุติบทบาทการสร้างภาพยนตร์ลงเมื่อเสร็จสิ้นการสร้างภาพยนตร์เรื่องน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485) แล้ว ก็ไม่ปราฏว่าบริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่องใดอีกเลย
จวบกระทั่งบริษัทเปลี่ยนกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงไปเป็นโรงภาพยนตร์แทน
และเปลี่ยนจากบริษัทสร้างภาพยนตร์มาเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียงในช่วงหลัง และปิดตัวลงช่วงปลายทศวรรษ 2510 นั่นเอง (thaibunterng.fandom.com)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกล่อมขวัญคนไทยภายใต้บริบทน้ำท่วมใหญ่ในช่วงสงครามโลก
เนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม กังวลว่า บรรยากาศผีซ้ำด้ำพลอยที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อจิตใจของชาวไทยให้หดหู่หรือหวั่นไหวไปกับสถานการณ์ที่ทอนกำลังขวัญของชาติ
ในยามที่ไทยต้องการจิตใจเข้มแข็งคราวไทยก้าวเข้าสู่สงครามที่เข้มข้นเข้าด้ายเข้าเข็ม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022