วงค์ ตาวัน : ริป แวน วิงเคิล 2559

วงค์ ตาวัน

เมื่อพูดถึงการย้อนเวลาหาอดีต เราต้องนึกถึงการ์ตูนดัง “โดเรม่อน” กับ “ไทม์ แมชชีน” อันสร้างความสนุกสนานได้อย่างมากมาย หรือภาพยนตร์โด่งดัง แบ๊ก ทู เดอะ ฟิวเจอร์” หรือ เจาะเวลาหาอดีต ที่ตรึงคนดูหนังได้ทั่วโลก จนต้องสร้างต่อเนื่องอีกหลายภาค ดูกันไม่มีเบื่อ

แต่ที่เป็นวรรณกรรมอมตะ ต้องยกให้ “ริป แวน วิงเคิล” ซึ่งนักเขียนดังของอเมริกัน “วอชิงตัน เออร์วิง” เขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1819 เป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก ในบ้านเราก็มีแปลมาตีพิมพ์กันหลายรอบหลายสำนัก

พล็อตเรื่องที่ติดหูติดตาผู้อ่านอย่างดี เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ชื่อ “ริป แวน วิงเคิล” ซึ่งวันหนึ่งได้จูงหมาออกจากบ้านไปเดินเล่นบนภูเขา เพราะเบื่อเสียงบ่นของภรรยา แล้วไปเจอกลุ่มคนแคระชวนให้ดื่มจนหลับสนิทและยาวนานถึง 20 ปี

ตื่นมาอีกที ชายหนุ่มพบว่าตัวเองกลายเป็นคนแก่ เครายาวเฟื้อยจนถึงเท้า เมื่อกลับไปยังหมู่บ้าน พบว่าอะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนแปลงไปหมด เพราะตัวเองหลับไปนานมาก

“ความเป็นอมตะของวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้ชื่อ ริป แวน วิงเคิล กลายเป็นสัญลักษณ์เมื่อพูดถึงคนที่ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ทำนองว่าไปหลับมา 20 ปี แบบ ริป แวน วิงเคิล หรือไง!?”

ถ้าจะเอาเรื่อง ริป แวน วิงเคิล มาใช้เปรียบเทียบกับการเมืองไทยในยุคสมัยที่กำลังจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่

คงต้องบอกว่า ริป แวน วิงเคิล มานอนหลับในเมืองไทย ให้หลับนานถึง 40 ปีเลยก็ได้ พอตื่นมาอีกทีในปี พ.ศ.2559 นี้ ริป แวน วิงเคิล จะรู้สึกว่า หลับไปแค่งีบเล็กๆ เอง เพราะแม้ตื่นมาแล้วหนวดเครายาวไปถึงขา แต่บ้านเมืองเราก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“สมมติ ชายคนนี้เริ่มหลับไปตอน พ.ศ.2523 สมัยที่ประเทศเรามีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พอตื่นมาในวันนี้ก็ได้ยินการพูดถึงป๋าเปรมโมเดลอยู่ แล้วไปนั่งอ่านสาระของรัฐธรรมนูญ ก็ให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้เหมือนเดิม”

ตอนที่เขาหลับไปนั้น ได้ผ่านช่วง พ.ศ.2535 ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้จนล้มตายเลือดนองแผ่นดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ จากการเลือกตั้ง จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดชัดเจนว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น

ใครจะนึกว่าในปี 2559 เรากำลังย้อนกลับไปมีนายกฯ จากคนนอกดังเดิมอีก

ชนิดที่ ริป แวน วิงเคิล มานอนหลับมาราธอนในประเทศไทย ให้นอนยาวถึง 40 ปีเลยก็ได้ พอตื่นมาอีกทีพบแต่ว่าตัวเองแก่ชราไปมาก แต่สังคมการเมืองยังเหมือนเมื่อตอนก่อนหลับ


เมื่อตอนที่ชัตดาวน์ประเทศ เพื่อล้มรัฐบาลเลือกตั้งและต้องการหยุดประชาธิปไตย โดยทำทุกอย่างเพื่อสถานการณ์เข้าสู่ตัน เพื่อให้ทหารต้องออกมายึดอำนาจ โดยบนเวทีนกหวีดประกาศชัดตั้งแต่เริ่มชุมนุมแล้วว่า จะไม่เอาเลือกตั้งเร็วไว ด้วยการใช้คำว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

สุดท้ายที่ว่าต้องปฏิรูปการเมืองใหม่ มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ บอกว่าเขียนเพื่อให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่

“ผลก็คือปฏิรูปเพื่อไปสู่การเมืองในปี 2523”

นี่แหละเจาะเวลาไปสู่อดีตจริงๆ

ปฏิรูปกันอย่างไรก็ไม่รู้ ปฏิรูปแล้วถอยหลังย้อนยุค

ทำให้การเมืองเป็นระบบที่นักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอ เปิดทางให้อำนาจอื่นที่อยู่นอกเหนือการเมือง สามารถกำหนดกดดันได้ทุกอย่าง และต้องได้นายกฯ จากคนนอก ไม่เกี่ยวกับ ส.ส. หรือพรรคการเมือง

ที่ตอนนี้ออกมาชูเปรมโมเดลนั้นถูกต้องที่สุด

“เพราะเป็นการเมืองย้อนหลังกลับไปสู่ยุคป๋าเปรมเป็นนายกฯ จริงๆ”

ป๋าเปรมเป็นนายกฯ ในปี 2523 โดยกลุ่มทหารยังเติร์กไปบีบนายกฯ ก่อนหน้านั้นก็คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ลาออกกลางสภา จากนั้นพรรคการเมืองก็ถูกกำหนดให้เชิญป๋าเข้ามาเป็นนายกฯ อยู่อย่างมั่นคงถึง 8 ปี เพราะกองทัพหนุนหลังเต็มที่ แถมยังเข้ามามีบทบาททุกส่วนในการเมืองไทย

“เป็นดังที่กำลังเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อในสมัยหน้า แบบไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ต้องตั้งพรรคการเมือง แถมบอกด้วยว่าต้องอยู่ 8 ปีเหมือนป๋าเปรม”

รวมถึงอาจจะมีอีกสูตรที่พูดกันอยู่คือ การตั้งพรรคทหารขึ้นมาหนุนหลังในสภาแบบเต็มๆ

เหมือนกับที่เคยมีพรรคเสรีมนังคศิลา สมัยจอมพล ป.

พรรคสหประชาไทย สมัยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส

“ไปจนถึงพรรคสามัคคีธรรมเพื่อสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้เป็นนายกฯ แบบยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ”

นั่นก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาสูตรไหน ไม่ต้องมีพรรคเลยแบบป๋าเปรม หรือต้องมีพรรคเอาไว้เพื่อเป็นฐานเสียงอันแน่นหนา

แต่ที่แน่ๆ ทุกอย่างปูทางเอาไว้ชัดเจน กำหนดกระทั่งสูตรเลือกตั้งที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่อาจมีเสียงข้างมากในสภาได้ชัดเจนต่อไปอีกแล้ว แถมยังมี ส.ว. หรือที่เรียกกันว่าพรรค ส.ว. อีก 250 เสียงที่จะโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย

อย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเปรมโมเดลได้ใช้แน่ โดยใส่ชื่อนายกฯ คนต่อไปได้ล่วงหน้าเลย

 

หาก ริป แวน วิงเคิล มานอนหลับในไทย ก็จะไม่ได้เห็นเหตุการณ์ในช่วงปี 2535 ซึ่งประชาชนยอมเสียเลือดเนื้อชีวิตเพื่อให้ได้นายกฯ จาก ส.ส. เท่านั้น เพราะถ้าเขานอนตอนปี 2523 แล้วมาตื่นปี 2559 ก็จะข้ามช่วงนายกฯ จาก ส.ส. ไป ตื่นมาอีกทีก็ยังมีนายกฯ คนนอกเหมือนตอนที่เขาเริ่มหลับ

ประเด็นที่ต้องพูดถึงคือ คำว่านายกฯ จาก ส.ส. ที่ประชาชนต่อสู้กันเมื่อปี 2535 มาจากอะไร

จุดเริ่มต้นคือ ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญโดยให้นายกฯ มาจากไหนก็ได้ เท่ากับเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมืองได้ตลอด เข้ามากำหนดการเมืองได้ตลอด

“ดังตัวอย่างกรณีการเข้ามาสู่อำนาจได้ง่ายดายของ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น จนนำมาสู่การประท้วงใหญ่”

ทีนี้พรรคการเมืองหรือนักการเมือง ที่อยู่ในช่วงโดนประณามว่าเลวทรามต่ำช้านั้น ต้องเข้าใจตรงกันว่า ระบบนักการเมืองคือระบบที่ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ มีอำนาจการเมืองได้มากที่สุด

ประชาชนจะสามารถมีอำนาจเต็มที่ในทางการเมืองได้ก็คือระบบการเลือกตั้ง แล้วถ้าเราเลือก ส.ส. และพรรคการเมืองเข้ามาแล้วเข้มแข็ง นั่นแปลว่าอำนาจในมือประชาชนก็สามารถกำหนดอะไรได้มาก

“ยิ่งถ้ากำหนดตัวนายกฯ ว่าต้องมาจาก ส.ส. เท่ากับอำนาจในมือเราทุกคนก็สามารถเลือกตัวนายกฯ ได้ด้วย!”

แต่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทำให้การเมืองกลับไปสู่ยุคปี 2523 นั่นคือ ทำให้อำนาจในมือประชาชนลดลงไปมากโขทีเดียว

เลือกได้แต่ ส.ส. แถมเข้ามาแล้วทำอะไรไม่ได้มากนัก ไม่มีความแข็งแกร่ง การเมืองในสภาจะกำหนดจาก ส.ว. เป็นหลัก

จากนั้นการเลือกตัวนายกฯ ก็ไม่เกี่ยวกับอำนาจในมือประชาชนอีก เพราะนายกฯ มาจากไหนก็ได้

สรุปแล้วปฏิรูปกันเสียจนทุกอย่างถอยหลัง

“ที่สำคัญอำนาจในมือประชาชนก็หดหายไปเหลือน้อยนิดเต็มที”

ทุกวันนี้พูดกันว่า ประชาชนเขาเบื่อนักการเมืองเต็มทีแล้ว ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

ต้องถามว่า ประชาชนแบบไหนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อำนาจในมือประชาชนหดหายไป!?!