ตะวัน-แบม จุดประกายความหวังสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ตะวัน-แบม

จุดประกายความหวังสู่อนาคต

 

ในที่สุดการอดน้ำและอดข้าวเพื่อประท้วงศาลของ “ตะวัน” และ “แบม” ก็นำสังคมไทยไปสู่ดินแดนที่ไม่เคยเป็น

เพราะนับตั้งแต่ทั้งคู่ใช้ชีวิตตัวเองเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ เคารพกฎหมาย, ยุติยัดคดีคนเห็นต่างทางการเมือง และยกเลิก ม.112-116 ตอนนี้ข้อเรียกร้องทั้งหมดก็ถูกพูดในวงกว้างจริงๆ

การอดน้ำและอดข้าวของ “ตะวัน” และ “แบม” รวมทั้งคนอื่นๆ คือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่ใช้ร่างกายตัวเองเป็นเดิมพัน

ทันทีที่ทั้งสองคนนี้เริ่มปฏิบัติการนี้ในคุกในวันที่ 18 มกราคม ชีวิตของทั้งคู่จึงอยู่ในอุ้งมือของคนอื่นโดยแท้ว่าจะขานรับข้อเรียกร้องนี้ หรือจะปล่อยให้ทั้งคู่ตายไปฟรีๆ

คำสอนของทุกศาสนาและสามัญสำนึกของทุกคนรู้ว่าชีวิตคือสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตคนเรา มนุษย์ปกติจึงไม่อยากตาย เอาแค่ให้สละความสุขในชีวิตตัวเองเพื่อคนอื่นก็ยังยาก

การจงใจสละชีวิตตัวเองเพื่อคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่มีคนในทุกสังคมยกย่องเสมอ ไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการกระทำแบบนั้นก็ตาม

“ตะวัน” และ “แบม” รักชีวิตตัวเองเหมือนทุกคน แต่สิ่งที่ทั้งคู่มีมากกว่าทุกคนคือความอาทรในทุกข์ของคนที่รัฐบาลจับขังคุกโดยไม่มีคำตัดสินว่าผิด, ความโกรธที่ขังประชาชนโดยไม่ให้ประกัน

รวมทั้งความเชื่อว่าคนในสังคมจะอาทรในการเสียสละมากพอจะเห็นประเด็นที่คนคู่นี้กังวล

 

“ตะวัน” และ “แบม” อดน้ำอดข้าวเพื่อต่อสู้ทางการเมือง

แต่การเมืองในที่นี้ไม่ใช่การหาเรื่องด่ารัฐบาลแบบที่กองเชียร์คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวหา

รวมทั้งไม่ใช่เรื่อง “สู้ไม่เป็น” แบบฝ่ายต่อต้านประยุทธ์บางกลุ่มโจมตีเพื่อกลบเกลื่อนความกลัวไม่ได้เป็นรัฐบาลและความไม่กล้าพูดปัญหา 112 ของตัวเอง

ขณะที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าการเมืองคือการไล่รัฐบาลที่ตัวเองเกลียด และการเลือก ส.ส.เพื่อให้พวกตัวเองเป็นรัฐบาล

“ตะวัน” และ “แบม” คือคนกลุ่มที่คิดว่าการเมืองเป็น “กระบวนการ” ที่มีทั้งการเลือกตั้งรัฐบาล และทั้งการผลักดันให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเรื่องปัจจัย 4 ในชีวิตประจำวัน

ตรงข้ามกับคนที่พอใจแค่เลือก ส.ส.ไปทำงานแทน หรือรัฐบาลไปแก้ปัญหาปากท้องให้พออยู่พอกิน

“ตะวัน” และ “แบม” เป็นตัวแทนคนกลุ่มที่เชื่อว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่ “ระบอบ” และประชาชนสามารถเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นได้ด้วยการกดดัน “ระบอบ” หรือแม้แต่พูดเรื่องเปลี่ยนระบอบขึ้นมา

ถ้าย้อนไปช่วงที่แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามคุณประยุทธ์บางกลุ่มดูถูกว่า “ตะวัน” และ “แบม” ไม่มีเหตุผลและสู้ไม่เป็น

การที่ตอนนี้อาจารย์นิติศาสตร์, นักวิชาการหลายสาขา รวมทั้งศิลปินหลายกลุ่มออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้อง “ตะวัน” และ “แบม” ก็สะท้อนว่าทั้งคู่มีเหตุผลจนคนตัดสินใจไม่เงียบต่อไป

เมื่อพูดว่า “ตะวัน” และ “แบม” เป็นตัวแทนก็หมายความว่าทั้งคู่เป็นภาพสะท้อนของคนอีกมากที่คิดแบบนี้ คนแบบนี้มีมากแค่ไหนไม่มีใครรู้ เพราะจะรู้ก็ต่อเมื่อมีคนโดนคดีหรือติดคุก

แต่การที่รัฐบาล, รัฐสภา, ศาล และองค์กรอิสระต้องพูดเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าพลังแบบนี้มีพอสมควร

 

ไม่มีใครไม่รู้ว่าการพูดถึง “ระบอบ” เป็นเรื่องอันตรายในสังคมไทย

แต่ความสำนึกในอันตรายของ “ระบอบ” ยิ่งเป็นหลักฐานว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติมากที่สุด

เพราะมีไม่กี่สังคมในโลกที่ “ระบอบ” เป็นภัยคุกคามจนคนฝังหัวราวกับมี DNA ว่าแค่การพูดถึงระบอบก็เสี่ยงอันตราย

มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะเราพูดได้และสื่อสารได้ว่าคิดอะไร เมื่อใดที่รัฐ หรือ “ระบอบ” เป็นสาเหตุให้คนหุบปากเพราะกลัว หรือเพราะ “อยู่เป็น” เมื่อนั้น รัฐ หรือ “ระบอบ” ย่อมกลายเป็นภัยคุกคามคนในสังคมไปในที่สุด ไม่ว่าคนนั้นจะต้องการพูดหรือไม่มีแม้แต่ความคิดจะพูดเรื่องนั้นเลยก็ตาม

ภายใต้การเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อชี้ตีแผ่ปัญหาของกฎหมาย 112 และการขังคนโดยไม่ตัดสินคดี ตะวันและแบมเตือนสังคมไทยว่าประชาชนถูกละเมิดโดยรัฐ และกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาจนชีวิตคนไทยไม่ปลอดภัยในประเทศนี้ ทั้งที่รัฐเกิดโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชีวิตและเสรีภาพของทุกคน

ตรงข้ามกับรัฐบาลและฝ่ายต้านรัฐบาลที่ด้อยค่าตะวันและแบม คุณทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นคนทำงานด้านเด็กที่น่านับถือที่สุดคนหนึ่งบอกว่า “ตะวัน” และ “แบม” คือเยาวชนที่ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และไม่ควรมีใครติดคุกหรืออดข้าวอดน้ำประท้วงเพื่อเรียกร้องความปลอดภัยในชีวิตตัวเอง

คำอธิบายของคุณทิชาข้อนี้เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพราะขณะที่ “ตะวัน” และ “แบม” ถูกขังขณะอดน้ำอดข้าวจนไตเสื่อมและหัวใจอาจวายได้ตลอดเวลา

การต่อสู้ของทั้งคู่กลับมีพลังจนกดดันให้สภา, รัฐบาล, พรรคการเมือง, ศาล และองค์กรอิสระต้องทำอะไรเยอะเหลือเกิน

 

พลังของ “ตะวัน” และ “แบม” อยู่ที่ความกล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมและ “ระบอบ” ที่อยุติธรรม ยิ่งกว่านั้นคือความกล้าเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่ออิสรภาพในชีวิตของผู้อื่น รวมทั้งความเชื่อมั่นว่าคนในสังคมที่รักความเป็นธรรมมีมากจนทำให้ความเสี่ยงนี้ไม่สูญเปล่าหรือตายฟรี

แม้ “ตะวัน” และ “แบม” จะถูกต่อต้านจากกองเชียร์รัฐบาลและด้อยค่าจากฝ่ายต้านรัฐบาลบางกลุ่ม แต่ด้วยข้อเรียกร้องที่ถูกต้องว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิขังใครโดยพลการ และไม่มีสิทธิขังคนเห็นต่างจาก “ระบอบ” โดยไม่มีคำตัดสินว่าผิด สิ่งที่ทั้งคู่พูดก็ทะลุคุกมาเบ่งบานเป็นประกายไฟในใจคน

ทุกครั้งที่เรากินข้าวคือทุกครั้งที่เราสำนึกว่ามีวัยรุ่น 2 คนนอนขดตัวในคุกด้วยความทรมานเพราะไม่มีอะไรตกถึงท้องเกือบ 90 มื้อในระยะเวลาเกือบเดือน

แต่ทุกครั้งที่ฟังข่าว “ตะวัน” และ “แบม” จากทนายและพ่อแม่ก็คือการตระหนักว่าสองคนนี้แน่วแน่ในการสู้เพื่อคนอื่นจนยากจะเห็นในคนทั่วไป

ด้วยกระแสสูงของสังคมที่อยู่ข้าง 2 เยาวชน มีการตัดสินใจอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว “ตะวัน” และ “แบม” แต่สิ่งที่ “ตะวัน” และ “แบม” ทำคือไม่เซ็นรับคำสั่งดังกล่าว หากไม่มีการให้ประกันผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน

 

คนไม่เคยอดอาหารมักพูดว่าคนเราอดไม่กี่วันก็ตาย และแม้ไม่มีใครตอบได้ว่ามนุษย์แต่ละคนจะอดน้ำและอดข้าวเพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดขังคนอื่นโดยพลการได้กี่วัน นักโทษการเมืองชาวคิวบาชื่อ Orlando Zapata ก็เคยอดในโรงพยาบาลนานถึง 83 วันก่อนเสียชีวิตวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 หรือสิบสามปีที่ผ่านมา

การอดน้ำอดข้าวคือความทรมาน แต่การจงใจอดเพื่อใช้ร่างกายตัวเองปลุกให้สังคมตาสว่างอาจทำให้คนเรามีกำลังใจในการสู้กับความทรมานอย่างเหลือเชื่อ

เพราะทุกวินาทีของความเจ็บปวดที่ผ่านไปไม่สูญเปล่า แต่หมายถึงความสำเร็จในการดันเพดานให้สังคมเห็นหรือพูดถึงเรื่องที่ไม่กล้าพูดกัน

มนุษย์แน่วแน่ในการทำเพื่อคนอื่นไม่เท่ากัน ซ้ำนิยามว่าอะไรคือการทำเพื่อส่วนรวมก็ต่างกันด้วย บางคนคิดว่าการทำดีระดับปัจเจกคือการทำเพื่อส่วนรวม บางคนคิดว่าการด่าคนอื่นคือการทำเพื่อส่วนรวม บางคนคิดว่าการด่าคนที่ทำเพื่อส่วนรวมคือการทำเพื่อส่วนรวมกว่าทุกคน ฯลฯ

ตะวันและแบม อดน้ำอดข้าวเกือบเดือนจนไตอาจพัง และหัวใจอาจวายเพื่อสิทธิประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมือง ข้อเรียกร้องนี้ถูก และการทำเพื่อส่วนรวมแบบนี้ต้องคารวะ โดยเฉพาะในสังคมที่คนสิ้นหวังจนเหมือนยอมลดความเป็นคนให้ใกล้ความเป็นสัตว์ตามที่เจ้าของคอกต้องการ

ไม่มียุคไหนที่สังคมไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงเท่ายุคปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มียุคไหนที่ผู้มีอำนาจลงโทษคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเท่ายุคนี้

ความหวังที่จะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจที่ต้องการให้ประชาชนสิ้นหวังจนไม่กล้าเปลี่ยนประเทศในเรื่องสำคัญ

ความหวังคือพลังให้สังคมเดินหน้าสู่อนาคต แต่ความสิ้นหวังทำให้คนยอมจำนนจนจมปลักอยู่กับความจริงแสนห่วย และภายใต้การต่อสู้ระหว่างความเปลี่ยนแปลงกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง “ตะวัน” และ “แบม” บอกเราว่าประเทศนี้เปลี่ยนได้ และคนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลง