เส้นทางเลือกตั้ง-เส้นทางวิบากประยุทธ์

วงค์ ตาวัน
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

มีแนวโน้มสูงมากว่า จะมีการยุบสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่สภาจะหมดวาระครบ 4 ปีเต็มในวันที่ 23 มีนาคม เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศครั้งใหม่ โดยวันเลือกตั้งก็น่าจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมนั่นเอง ใกล้เคียงกับที่ กกต.เคยตั้งตุ๊กตาเอาไว้ว่า น่าจะเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม

ดังนั้น อีกเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็จะถึงวันที่ประชาชนเดินเข้าคูหากาบัตร เพื่อตัดสินอนาคตประเทศชาติ ตัดสินว่าพรรคไหนควรจะได้เสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และใครควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าจะมีโอกาสถูกบิดเบือนด้วยเสียง 250 ส.ว. ที่มีอำนาจโหวตแต่งตั้งนายกฯ

แต่ถ้าหากประชาชนสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2562 ว่าถ้าหากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงรวมกันไม่เกิน 375 เสียง หรือเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยพรรคใดพรรคหนึ่งให้ได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง

นั่นก็คือชัยชนะของเสียงประชาชน โดยมีผลเป็นการปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ได้โดยอัตโนมัติ

ขณะที่กระแสพรรคฝ่ายประชาธิปไตยดูจะมาแรงมากขึ้นทุกที

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มีความครบเครื่องมากที่สุด กำลังคาดหมายกันว่าน่าจะได้ ส.ส.เกิน 200 เสียงแน่นอน ยิ่งถ้าหากเลือกกันแบบแลนด์สไลด์ ได้มากถึง 250 เสียง จะทำให้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล โดยเสียง 250 ส.ว.จะหมดความหมายในทันที

เพราะรู้กันดีว่า 250 ส.ว.เป็นกลไกในรัฐธรรมนูญ ที่เขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนๆ

เพียงแต่วันนี้ เมื่อ 2 ป.แยกกันเดิน อยู่กันคนละพรรค มีผลทำให้เสียง ส.ว.แตกออกเป็นเสี่ยงๆ จำนวนครึ่งหนึ่งอยู่กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกประมาณเกือบๆ 100 เสียงอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์

ถ้า 2 ป. หันกลับมาจับมือกันได้หลังเลือกตั้ง เสียง 250 ส.ว.ก็จะยังขึ้นกับ 2 ป.เต็มๆ ต่อไป

กระนั้นก็ตาม ท่าทีและจุดยืนของ พล.อ.ประวิตรในวันนี้ บ่งบอกว่า พลังประชารัฐเมื่อไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป กลายเป็นพรรคที่ดูเป็นกลางมากขึ้น

หลังเลือกตั้ง พลังประชารัฐสามารถจับมือกับเพื่อไทยก็ได้ หรือหันกลับไปจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้

ถึงที่สุดแล้ว ก็มีโอกาสเช่นกันที่ ส.ว.ครึ่งสภา ที่อยู่ในมือ พล.อ.ประวิตร อาจจะไม่จับมือ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้

ยิ่งพิจารณาดูสถานะของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูแล้วยังไม่มีความแข็งแกร่งอะไรมากนัก

จำนวน ส.ส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังน่าสงสัยว่าจะได้เข้ามามากน้อยแค่ไหน แถมเสียง ส.ว.ครึ่งหนึ่ง ก็อาจจะไม่ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้!

 

เซียนการเมืองล้วนมองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวชูโรง หากมีขุนพลหลักอยู่เพียงเท่านี้ ยังน่าสงสัยว่า จะได้ ส.ส.เพียงไม่กี่สิบเสียง บ้างก็วิเคราะห์ไปถึงขั้นจะถึง 25 เสียงหรือเปล่า

พรรคการเมืองใดก็ตาม ถ้าผลเลือกตั้งได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 เสียง ก็หมดสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา

ดูขุนพลของรวมไทยสร้างชาติ เริ่มจากหัวหน้าพรรค คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แม้จะเล่นการเมืองมาหลายสมัย แต่ก็อยู่กับพรรคใหญ่คือประชาธิปัตย์ และไม่ใช่มือหลักในสนามเลือกตั้งของประชาธิปัตย์แต่อย่างใด ส่วนเลขาธิการพรรค นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ยังไม่ใช่เบอร์ใหญ่ในทางการเมือง นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ยิ่งไม่ใช่ตัวจริงในสนามเลือกตั้ง

ทั้งหลายทั้งปวงในพรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าจะมีนักเลือกตั้งมืออาชีพตัวจริง ก็เพียงแค่ นายสุชาติ ชมกลิ่น เท่านั้น

ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ นายสุชาติจะดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออก ถิ่นของตัวเอง รวมทั้งภาคกลาง และภาคตะวันตก ตั้งเป้าหมายจะได้ ส.ส. 30-40 ราย

เชื่อว่านายสุชาติมีความแข็งแกร่งพอจะทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติมี ส.ส.เป็นน้ำเป็นเนื้อได้ แต่จะถึง 30-40 หรือไม่ ก็ต้องจับตากันต่อไป

แต่ยังมองไม่เห็นขุนพลรายอื่นของพรรคนี้ ที่จะมี ส.ส.เป็นน้ำเป็นเนื้อได้อีก!!

ที่น่าคิดอีกประการ เคยมีกระแสข่าวว่า นายสุชาติควรจะได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อเป็นขุนพลหลักในการขับเคลื่อนพรรคที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ

แต่สุดท้ายนายสุชาติปฏิเสธ ไม่ขอมีตำแหน่งใดๆ ในพรรคนี้ ขอทำหน้าที่เป็นแม่ทัพชิงชัยในสนามภาคตะวันออก ตะวันตก และภาคกลาง

ส่วนหนึ่งเพราะนายสุชาติ กับนายพีระพันธุ์ ยังจูนกันไม่ติด

อีกส่วน นายสุชาติอาจจะพร้อมเล่นการเมืองแบบเป็นกลุ่มอิสระ โดยถือว่าตนเองน่าจะมี ส.ส.ในกลุ่มเกินกว่า 20 เสียงได้แน่นอน

การที่นายสุชาติ ซึ่งพอจะถือได้ว่าน่าจะเป็นหลักสำคัญในการปั้น ส.ส.ให้กับพรรคนี้และให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เพียงรายเดียว กลับไม่ยอมรับตำแหน่งใดๆ ในพรรคนี้

อาจจะทำให้เห็นวี่แววอะไรบางประการได้

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เอง อุตส่าห์ตัดสินใจอำลา พล.อ.ประวิตร ย้ายออกจากพลังประชารัฐ แต่กลับไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดียวกัน

ขอเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น!?!

 

ความจริงแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยอมลาจากพี่ป้อม เพื่อมาเข้าพรรคการเมืองใหม่ ก็น่าจะมาพรรคใหม่รวมไทยสร้างชาติแบบมั่นอกมั่นใจ น่าจะพร้อมนำพรรคนี้ด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น

มีข่าวบางกระแสระบุว่า มีการเสนอตำแหน่งหัวหน้าพรรคให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันขอเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ ให้กับพรรคนี้เท่านั้น ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ

ขณะที่กลุ่มก่อตั้งพรรค หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์รับเป็นหัวหน้าพรรค จะทำให้พรรคมีแรงดึงดูด ส.ส.บิ๊กเนมเข้ามาได้มากกว่านี้

แต่ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่มั่นใจอะไรบางอย่าง อาจจะยังห่วงอนาคตในบางด้าน

จึงขอเลือกเป็นแค่ผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ แต่ไม่รับตำแหน่งใดๆ เหมือนยังไม่อยากผูกมัดตัวเองมากนัก

ต่อมาก็มีข่าวอีกว่า แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามจะหาทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคมากขึ้น โดยเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1

ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังปฏิเสธอีก

คาดกันว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจได้รับคำแนะนำทำนองว่า ถ้าหากผลการเลือกตั้งส่งผลให้พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ต่อไปอีก

ถ้าเป็นเช่นนี้ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาจากวงการการเมืองได้ไม่ยาก เร้นหายไปจากถนนสายนี้ได้ทันที

แต่ถ้าเผลอไปรับเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 แล้วได้เข้าในสภาในฐานะฝ่ายค้าน จะต้องไปนั่งเป็น ส.ส.คนหนึ่งในแถวที่นั่งซีกฝ่ายค้าน คงเป็นเรื่องลำบากยากเย็นกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก

ดังนั้น จึงไม่รับเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 แต่อย่างใด

ยืนยันเป็นแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น

เพราะถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้ว ไม่เป็นไปตามเป้า ก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตสงบได้ทันที

เส้นทางการเลือกตั้ง 2566 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงดูไม่แวววาวสักเท่าไหร่

กลายเป็นเส้นทางวิบากเสียมากกว่า!!