‘บอลลูน’ ปริศนา สาเหตุจีน-สหรัฐตึงเครียด

ความสัมพันธ์ที่ทำทีทำท่าว่ากำลังจะดีขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสาธารณรัฐประชาชนจีน กลับคืนสู่ความตึงเครียดและคลุมเครืออีกครั้งในทันทีที่เอฟ 22 ของสหรัฐอเมริกาสอยบอลลูนปริศนากระจัดกระจายร่วงลงสู่น่านน้ำนอกชายฝั่งรัฐเซาธ์แคโรไลนา ด้วยจรวดไซด์ไวน์เดอร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่จีนยอมรับว่า บอลลูนดังกล่าวมาจากจีน และ “เสียใจ” ที่ “พลัดหลง” เข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกา

แต่ก็อ้างว่า วัตถุประสงค์ของการปล่อยบอลลูนดังกล่าวก็เพื่อ “การวิจัย” สภาพภูมิอากาศ

4 กุมภาพันธ์ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แถลงยกเลิกกำหนดการเยือนจีนที่เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะมีขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์

โดยระบุว่า การปรากฏของบอลลูนจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐเป็นเรื่อง “ละเมิดอำนาจอธิปไตย” ที่ “รับไม่ได้”

สะท้อนให้เห็นว่าทางการสหรัฐมั่นใจว่า บอลลูนปริศนาดังกล่าวถูกใช้เพื่อ “สอดแนม” มากกว่า “การวิจัย”

การพบหารือกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศก็ล้มเลิกไปโดยปริยาย ความตึงเครียดคืบคลานเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว

สหรัฐออกมากล่าวหาจีน ในขณะที่ทางการปักกิ่งก็ออกมาตำหนิฝ่ายตรงข้ามว่า “กระทำการเกินกว่าเหตุ” และขอสงวนสิทธิ์ในการ “ตอบโต้” หลังแสดง “ความไม่เห็นด้วย” อย่างแรงกล้าและยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการ

 

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่สหรัฐกำลังเร่งกู้เศษซากของบอลลูนในทะเลเพื่อพิสูจน์ยืนยันข้อสันนิษฐานของตนเอง จีนกลับปิดปากเงียบไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับบอลลูนลูกนี้ ทั้งในประเด็นที่ว่าเป็นของหน่วยงานหรือเอกชนรายใด และมีอะไรติดตั้งอยู่บ้าง

นักวิเคราะห์เองก็มีความเห็นแตกต่างออกไปเป็นสองทาง ทั้งที่เชื่อจีนและเห็นด้วยกับสหรัฐในเรื่องเกี่ยวกับบอลลูนปริศนาลูกนี้

เจมส์ ลูอิส ผู้อำนวยการแผนกเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ของศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (ซีเอสไอเอส) ชี้ว่า บอลลูนใช้สอดแนมได้ก็จริง แต่ “ไม่ใช่เครื่องมือสอดแนมในอุดมคติ” ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่มีขนาดใหญ่พบเห็นง่าย ซ่อนยาก แล้วก็ควบคุมตำแหน่ง บังคับทิศทางไม่ได้ ต้องปล่อยให้ “ลมพาไป” เท่านั้น

เขาชี้ว่าจีนมีดาวเทียมจารกรรม 4 ดวงที่โคจรผ่านสหรัฐทุกวัน ไม่จำเป็นต้องใช้บอลลูนอีกแต่อย่างใด

 

แต่ไบรอัน บาร์ริตต์ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ “อาลายเรีย” บริษัทในเครือกูเกิล ผู้รับผิดชอบ “โปรเจ็กต์ลูน” โครงการบอลลูนเพื่ออินเตอร์เน็ตของกูเกิล ระบุว่า ความเข้าใจในทำนองนั้นเป็นความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเดิมๆ ของบอลลูน

เขาชี้ว่า โปรเจ็กต์ลูน ซึ่งตั้งใจใช้บอลลูนให้ทำหน้าที่เป็น “ดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณสื่อสารในชั้นบรรยากาศ” แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” (เอไอ) ทำให้บอลลูน “รักษาตำแหน่ง” ของตนในพื้นที่ที่กำหนดได้โดยอัตโนมัติ ไม่ลอยไปตามกระแสลม ตามยถากรรมแต่อย่างใด

วิเนกข์ ภัต นายทหารยศพันเอกเกษียณอายุของกองทัพบกอินเดียเห็นด้วย และระบุว่า สหรัฐอาจแปลกใจและตกใจกับบอลลูนแบบนี้ของจีน แต่กองทัพอินเดียคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นมามาก ทั้งเหนือน่านฟ้าพอร์ตแบลร์ ฐานทัพในอันดามัน หรือบนท้องฟ้าเหนือหมู่เกาะนิโคบาร์ ดินแดนของอินเดียในอ่าวเบงกอล เพราะจีนใช้บอลลูนสอดแนมอินเดียมานานเต็มทีแล้ว

พันเอกวิเนกข์ชี้ว่า จีนใช้เทคโนโลยีทำนองนี้สอดแนมมานานไม่น้อย รวมทั้งการใช้ “เรือเหาะ” แบบผูกโยงจากพื้นดินติดเรดาร์ (Tethered Aerostat Radar Systems – TARS) ปล่อยขึ้นท้องฟ้าเหนือทิเบตที่ความสูง 5,000 กิโลเมตร สอดแนมชายแดนอินเดียได้สบายๆ

มีภาพถ่ายผ่านดาวเทียมยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

รายงานของสื่อในอินเดียระบุว่า จีนซื้อระบบสถานีเรดาร์ลอยฟ้าแบบนี้มาจากรัสเซียหลายลำในปี 2011 ก่อนที่จะนำมาพัฒนาเป็นของตนเอง สามารถปฏิบัติการได้ในระดับสูง 7,000 เมตรเหนือพื้นดินโดยมีสัมภาระหนัก 2 ตันติดขึ้นไปด้วย

 

ไบรอัน บาร์ริตต์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า จริงๆ แล้ว บอลลูนมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้ดาวเทียมจารกรรมอยู่ในบางแง่มุม เขาระบุว่า บอลลูนลอยตัวอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าชั้นไอโอโนสเฟียร์ อันเป็นแหล่งที่มาของสัญญาณรบกวนเมื่อใช้ดาวเทียมซึ่งอยู่ในอวกาศตรวจจับการปล่อยสัญญาณจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในภาคพื้นดิน

บาร์ริตต์ระบุด้วยว่า ในปัจจุบัน บอลลูนไม่ได้ทำด้วยวัสดุบอบบางเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ใช้โลหะบางเบาแทน ส่งผลให้สามารถลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศระดับสูงได้ สูงกว่าเพดานบินของเครื่องบินพาณิชย์ 3 เท่า

และในกรณีที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่จำกัดเวลา โดยที่สามารถจ่ายพลังให้กับอุปกรณ์ภายในบอลลูนได้ตลอดเวลาอีกด้วย

นักวิเคราะห์บางคนระบุว่า ไม่ว่าบอลลูนปริศนาลูกที่ถูกยิงตกจะเป็นบอลลูนตรวจอากาศทั่วไปหรือเป็นบอลลูนสอดแนม เป็นเรื่องหนึ่ง

การที่มัน “พลัดหลง” เข้าไปในน่านฟ้าสหรัฐ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำถามก็คือ เป็นการพลัดหลงเข้าไปโดย “ไม่เจตนา” หรือเกิดจากความตั้งใจจะให้เป็นไปเช่นนั้น

พิลาฮารี เกาสิกาน อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์เชื่อว่า บอลลูนลูกนี้อาจเป็น “เจตนา” ของจีนเพื่อทดสอบ “ปฏิกิริยา” ของฝ่ายตรงกันข้าม

ถ้าสหรัฐอเมริกายินยอมปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านเลยไป รัฐมนตรีบลิงเคนยังคงเดินทางไปตามปกติ จีนก็สามารถรู้ได้ว่า “สหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำ” จริงๆ

หากเป็นเช่นนี้จริง เกาสิกานเชื่อว่า จีนกำลัง “คิดผิด” อีกครั้ง ด้วยความดึงดันจาก “ความเข้าใจผิดๆ” ต่อวิถีอเมริกันเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งทำให้โลกตึงเครียดขึ้นมาโดยไม่จำเป็นแต่อย่างใด