ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาลเปลี่ยนแปลง |
ผู้เขียน | ประจักษ์ ก้องกีรติ |
เผยแพร่ |
เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แล้วที่นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม สองเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการยื่นขอเพิกถอนประกันตัวเอง ทั้งสองประกาศอย่างแน่วแน่ว่าจะขออดอาหารและอดน้ำจนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาจะบรรลุผล
บทความชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งจะอธิบายและถกเถียงในประเด็นเรื่องวิธีการต่อสู้ของนักกิจกรรมทั้งสองคน เนื่องจากประเด็นนี้ได้ถูกกล่าวถึงและอภิปรายในสังคมไปมากพอสมควรแล้ว
แต่อยากจะมุ่งความสนใจไปที่ข้อเรียกร้องของเธอทั้งสองคน ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของสังคมการเมืองไทย
ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีอยู่สามข้อด้วยกัน คือ
1) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2) ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
3) พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
ข้อเรียกร้องข้อที่ 2 เป็นข้อเรียกร้องที่บทความนี้ต้องการอภิปรายขยายความ โดยข้อเรียกร้องนี้เกี่ยวพันกับแนวคิดเรื่องนักโทษทางการเมือง (political prisoner) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผู้คนในสังคมไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยหรือรู้จักกันดีนัก
แนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายในโลกตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 (ตรงกับช่วงยุครัฐบาลเผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์-ถนอม กิตติขจร ของไทย) เพื่อกล่าวถึงคนที่ดำเนินคดี จับกุม หรือคุมขังเพียงเพราะการแสดงออกทางการเมืองและความคิดความเชื่อทางการเมืองของพวกเขานั้นมีความแตกต่างจากผู้กุมอำนาจรัฐ
นักโทษการเมืองจึงไม่ใช่อาชญากรในความหมายทั่วไป เพราะพวกเขาไม่ได้ติดคุกจากการไปฉกชิ่งวิ่งราว ฉ้อโกง ปล้นฆ่าข่มขืน หรือทำร้ายใคร
พวกเขาสิ้นอิสรภาพเพราะกิจกรรมทางการเมืองที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้อง และความคิดทางการเมืองของพวกเขาถูกมองจากผู้มีอำนาจว่ามันท้าทายและสั่นคลอนอำนาจรัฐ
นักโทษทางการเมืองถูกคุมขังเพราะรัฐไม่ต้องการให้ความคิดของพวกเขาถูกเผยแพร่ในวงกว้าง
ผู้มีอำนาจหวาดกลัวว่าอุดมการณ์หลักของรัฐจะอ่อนแอลงหากปล่อยให้ประชาชนแสดงออกทางความคิดโดยเสรี
บางครั้งจึงมีศัพท์เรียกนักโทษการเมืองอีกคำหนึ่งว่า นักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) (ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าทั้งสองคำนั้นใช้แทนกันได้อย่างแท้จริงหรือไม่ แต่บทความนี้จะขอไม่ลงรายละเอียดไปถึงจุดนั้น)
เหตุที่คำและแนวคิดว่าด้วยนักโทษทางการเมืองแพร่หลายอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2550 ก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศในภูมิภาคเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา กระทั่งยุโรปบางประเทศต่างตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ
รัฐบาลเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน คือ ปราบปรามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เซ็นเซอร์สื่อมวลชน และสืบทอดอำนาจอย่างยาวนานโดยไม่สนใจหลักการประชาธิปไตย
เครื่องมือหลักที่รัฐอำนาจนิยมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในบราซิล อูกันดา เกาหลีใต้ ชิลี ฯลฯ ใช้ในการคุมสังคมให้สยบยอมอย่างราบคาบนั้นก็คือ กลไกทหารและตำรวจ ซึ่งเปรียบเหมือนกลไกอาวุธหนักที่ใช้ทุบตีผู้คนให้หวาดกลัว
แต่เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่มีความแยบยลกว่าและถูกใช้ควบคู่กับการใช้กำลังรุนแรงอย่างเปิดเผย ก็คือ กลไกทางกฎหมาย
รัฐเผด็จการตั้งแต่อดีตใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมพลเมืองให้เชื่อง เครื่องมือทางกฎหมายนั้นมีข้อดีที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้นำอำนาจนิยม เพราะมันไม่โจ่งแจ้งมาก ไม่ชัดเจนเหมือนใช้กระสุนยางและกระบองทุบตีประชาชน จึงสามารถหลบเลี่ยงจากการถูกประณามโดยประชาคมโลกได้ง่ายกว่าสังหารประชาชนบนท้องถนน
การใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้ต่อต้านท้าทายอำนาจและอุดมการณ์หลักของรัฐจึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบอย่างแพร่หลาย ภายใต้วาทกรรม “เราทำทุกอย่างตามกฎหมาย” ที่ถูกสร้างมาเคลือบคลุมการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของรัฐ
หากสื่อและนานาชาติไม่ติดตามพฤติกรรมการใช้อำนาจเช่นนี้อย่างใกล้ชิด รัฐเผด็จการก็จะสามารถลอยนวลจากการใช้ความรุนแรงเหนือประชาชนผ่านกฎหมายนี้ไปได้
ในสังคมไทยหลายยุคหลายสมัย ก็ปรากฏว่ามีนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดที่ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม
ยิ่งช่วงใดที่ประเทศตกอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการเข้มข้น จำนวนนักโทษทางการเมืองก็มักจะมีมากตามไปด้วย
เช่น ในยุค “พ่อขุนปถัมภ์แบบเผด็จการ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2501-2506) ที่ขึ้นมาสู่อำนาจจากการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
การเมืองภายใต้จอมพลสฤษดิ์ ผู้สถาปนาการเมือง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” เป็นยุคมืดที่สุดยุคหนึ่งของสังคมไทยในด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของพลเมืองอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นที่นายกฯ สามารถสั่งประหารชีวิตคนได้โดยใช้คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันขึ้นสู่อำนาจ จอมพลสฤษดิ์ยังประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมือง และจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง ทนายความจำนวนมากที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนั้น
นักโทษทางการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐของสฤษดิ์จำนวนมากเป็นคนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในยุคหลัง อาทิ อุทธรณ์ พลกุล (นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและบรรณาธิการที่มีชื่อเสียง) ทองใบ ทองเปาด์ (ทนายความรางวัลแม็กไซไซ) อิศรา อมันตกุล (นักเขียน) กรุณา กุศลาศัย (นักเขียน นักแปล) แคล้ว นรปติ (อดีต ส.ส.) และจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น
การใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐเช่นนี้ ทำให้สังคมไทยถูกปกครองด้วยความกลัว นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ถูกจับกุม บ้างก็ต้องหลบลงใต้ดิน ลี้ภัยไปต่างประเทศ หรือบางคนจำต้องยุติบทบาททางการเขียนลงชั่วคราว
เช่น เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของศักดิชัย บำรุงพงศ์) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศผู้เขียนนิยายอันโด่งดังเรื่อง ปีศาจ และ ความรักของวัลยา หรือ ลาว คำหอม (คำสิงห์ ศรีนอก) เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นอมตะ ฟ้าบ่กั้น ก็หันไปทำไร่ที่ต่างจังหวัด เป็นต้น
นักโทษทางการเมืองในยุคสฤษดิ์ถูกคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาที่ชัดเจน หรือไม่ก็เป็นข้อหาที่คลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง คือ เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ
สิทธิการประกันตัวยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาถูกกักขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่นานหลายปี โดยยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด จนกระทั่งสฤษดิ์ตายไปและทายาททางการเมืองอย่างจอมพลถนอมขึ้นมาปกครองประเทศต่อ การพิจารณาคดีก็ยังไม่แล้วเสร็จ
เหตุผลที่การไต่สวนคดีเป็นไปอย่างล่าช้าก็เพราะว่ารัฐบาลไม่ได้มีหลักฐานที่จะมาลงโทษคนเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง เป้าหมายหลักอยู่ที่การปิดกั้นไม่ให้บรรดานักโทษทางความคิดสามารถแสดงออกทางการเมืองที่จะท้าทายอำนาจรัฐได้อีกต่อไป จึงเน้นการกักขังไปโดยไม่มีกำหนดเวลา
กว่าที่นักโทษทางการเมืองในยุคสฤษดิ์-ถนอมจะได้รับการทยอยปล่อยตัว ก็เมื่อระบอบทหารเตรียมรักษาอำนาจผ่านการเลือกตั้งในปี 2512 จึงทยอยปล่อยนักโทษการเมืองเพื่อลดทอนภาพลักษณ์ความเป็นเผด็จการของตนเองในสายตาประชาคมโลก และเพื่อลดแรงเสียดทานภายในประเทศ
อีกยุคหนึ่งที่จำนวนนักโทษการเมืองพุ่งขึ้นสูง คือ หลังการรัฐประหารและการสังหารหมู่นองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ซึ่งรัฐบาลอนุรักษนิยมขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร จับกุมนักศึกษาหลายพันคน และดำเนินคดีกับผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น
พวกเขาถูกรัฐกล่าวหาว่ามีความผิดฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ในช่วงแรกพวกเขาไม่ถูกอนุญาตให้มีทนายความสู้คดี จนต้องต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว
เนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นข่าวดังทั่วโลก การดำเนินคดีต่อนักศึกษาถูกมองจากนานาชาติว่าขาดความเป็นธรรมและเป็นการทำลายหลักนิติรัฐอย่างรุนแรง นำไปสู่กระแสเรียกร้องจากนักฎหมาย รัฐบาล นักวิชาการ องค์กรทางศาสนา และองค์กรสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกรณรงค์ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาเป็น “นักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด” มิใช่อาชญากร
ปรากฏว่ามีจดหมายนับแสนฉบับจากทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการ
และในเวลาต่อมา รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เร่งออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม นำไปสู่การปล่อยตัวแกนนำนักศึกษาและถอนข้อหาทั้งหมดที่มีการฟ้องร้องกล่าวหาพวกเขา
ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่รัฐบาลในเวลานั้นตัดสินใจยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ก็เพราะผู้มีอำนาจรัฐในเวลานั้นตระหนักดีว่า ทั่วโลกกำลังจับตามองกระบวนการยุติธรรมของไทย และยิ่งการพิจารณาคดีในศาลลากยาวไปเท่าใด ความจริงกลับยิ่งเปิดเผยมากขึ้นเท่านั้นว่านักศึกษาและประชาชนเป็นฝ่ายที่บริสุทธิ์และตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมของรัฐ
การปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองจึงไม่ได้มาจากเมตตาธรรมของรัฐ แต่มาจากการประเมินทางการเมืองแล้วว่าการดึงดันที่จะดำเนินคดีกับแกนนำนักศึกษามีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้มีอำนาจมากกว่าผลดี
ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ ดูเหมือนว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐจะไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
บทเรียนที่ว่านั้นก็คือ สังคมใดที่มีนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดมากย่อมเป็นดัชนีสะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองและความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมในสังคมนั้น
การที่ผู้กุมอำนาจรัฐใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อปราบปรามและปิดกั้นการแสดงความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ส่งผลเสียต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการและสถาบันยุติธรรมที่ควรเป็นเสาหลักของประเทศ
ทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศตกต่ำลงในสายตานานาชาติ รัฐบาลในอดีตไม่ว่าจะในยุคเผด็จการเต็มใบของจอมพลถนอม และประชาธิปไตยครึ่งใบของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ต่างตระหนักถึงประเด็นนี้ จนนำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น
หากผู้มีอำนาจรัฐในยุคปัจจุบันพิจารณาข้อเรียกร้องของ “ตะวันและแบม” อย่างถี่ถ้วนและปราศจากทิฐิ ย่อมจะเห็นได้ว่า การยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง เป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล ปฏิบัติได้จริงทั้งในทางกฎหมายและการเมือง เคยทำมาแล้วในสังคมไทย
และที่สำคัญ เป็นข้อเรียกร้องที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมถึงผู้มีอำนาจรัฐเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022