เผด็จการทหารพม่า…จะเลียนแบบไทย ดีไซน์รัฐธรรมนูญ แล้วเลือกตั้ง

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

ครบรอบ 9 ปี
เกิดเหตุที่ประเทศไทย

1กุมภาพันธ์ 2557 มีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งใน กทม.โดยผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ และมีผู้ใช้อาวุธปืนสงครามกลางถนน ลุงอะแกว วัย 72 ปี ถูกลูกหลงกลายเป็นอัมพาตเกือบ 8 เดือน จึงเสียชีวิต (ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายวิวัฒน์ “มือปืนป๊อปคอร์น” 37 ปี 4 เดือน)

2 กุมภาพันธ์ 2557 วันเลือกตั้ง กลุ่ม กปปส.ปิดล้อมสำนักงานเขตดินแดง ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และยังมีอีกในหลายๆ พื้นที่ ทั้งใน กทม.และจังหวัดทางภาคใต้ เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.หาดใหญ่ ปิดล้อมศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถแจกจ่ายบัตรเลือกตั้งไปยังจังหวัดต่างๆ ในชายแดนภาคใต้ได้ กกต.จึงยกเลิกการลงคะแนนใน จ.ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากขาดบัตรเลือกตั้ง

กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 68 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิ 20,530,359 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.72 ของทั้ง 68 จังหวัด และยังมี 9 จังหวัด ที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้

21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

การชุมนุมของ กปปส. ยังดำเนินต่อไปตามแผน จนเกิดรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และก็ได้ปกครองประเทศต่อมากำลังจะครบ 9 ปี

หลังจากนั้น คสช.ได้สร้างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยหวังให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เลือกนายกฯ ร่วมกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์จึงสืบทอดอำนาจต่อได้อีก 4 ปี และตอนนี้ก็อยากลงเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะ ส.ว.แต่งตั้งยังโหวตเลือกนายกฯ ได้

เผด็จการทหารพม่า กำลังจะเลียนแบบ เลือกตั้งหลังรัฐประหารที่ดีไซน์โดย คสช.

 

ครบรอบ 2 ปี
รัฐประหารออง ซาน ซูจี

1กุมภาพันธ์ 2564 พม่าก็มีการรัฐประหาร หลายปีก่อนคนคิดว่าพม่าเปลี่ยน ทิ้งวงจรอุบาทว์ไปแล้ว เพราะหลังจากที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารในปี 2557 ในปีถัดมาที่ประเทศพม่ากลับมีการเลือกตั้งในปี 2558 ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้ง อย่างท่วมท้นได้เป็นรัฐบาลแม้ยังไม่มีอำนาจสมบูรณ์นัก แต่ก็สามารถบริหารประเทศต่อกันมาได้ถึง 5 ปี

และเมื่อเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2563 พรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ชนะแบบแผ่นดินทลายอีกครั้ง และสามารถครองเสียงข้างมากกว่า 396 จาก 476 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 83 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในรัฐสภาพม่าได้สำเร็จ

แต่เผด็จการทหารของทั้ง 2 ประเทศ อยากสืบอำนาจต่อ เผด็จการไทยสามารถแปลงกายจากคณะรัฐประหารผ่านการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน (1 ใน 3 ของรัฐสภา) มาช่วยให้สืบทอดอำนาจต่อไปได้ ส่วนของพม่าแม้มีเสียงของทหารในสภา 1 ใน 4 แต่เนื่องจากแพ้เลือกตั้งอย่างยับเยิน ได้ไม่ถึง 10% ดังนั้น ไม่มีโอกาสจะสืบทอดอำนาจผ่านระบบการเลือกตั้ง

ทหารพม่าเห็น คสช.รัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วแก้รัฐธรรมนูญ ลงเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจต่อได้ในปี 2562 จึงจะเอาอย่างบ้าง

การรัฐประหารรัฐบาลออง ซาน ซูจี 1 กุมภาพันธ์ 2564 ฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าหลายพันคนถูกกวาดล้างจับกุม หลายคนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน ไม่เว้นแม้แต่นางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำประเทศ ที่ถูกยัดคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นักเคลื่อนไหวจำนวน 4 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต และอีก 300 ชีวิตที่ต้องเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวในคุก

จนถึงขณะนี้ ยังมีนักโทษการเมืองประมาณ 14,000 คน ที่ยังคงถูกคุมขัง รวมทั้งรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล NLD นักเขียน ผู้นำนักศึกษาและพระสงฆ์

 

ยุทธศาสตร์เผด็จการ
คือเลือกตั้งผ่านรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เอง

ล่าสุด เผด็จการพม่าประกาศจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2566 พร้อมดีไซน์กฎหมายเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100,000 คน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ลงทะเบียน

และจะต้องมีสำนักงานอย่างน้อย 150 แห่งจากทั้งหมด 330 เมืองของพม่าภายในเวลา 6 เดือน

รวมทั้งจะต้องฝากเงินจำนวน 100 ล้านจ๊าตกับธนาคารของรัฐ

พรรคการเมืองใดไม่สามารถจดทะเบียนภายใน 60 วันก็จะต้องถูกยุบพรรค

ต่อให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทำได้ ผู้สมัครก็ต้องกล้าเปิดตัว แต่อาจจะถูกจับด้วยข้อหาอะไรก็ได้

เพราะตอนนี้ทหารพม่ากลายเป็นฝันร้ายของประชาชน ขนาดบุกเผาหมู่บ้านประชาชนยังทำได้

ฝ่ายเผด็จการยังคุมยุทธศาสตร์ทั่วด้าน ทั้งรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ กองทัพ ระบบราชการ อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาสนับสนุน เพราะได้หาผลประโยชน์จากงบประมาณมหาศาล

แต่พวกนิยมประชาธิปไตยของแท้ ใช้แนวทางการเลือกตั้ง เข้าต่อสู้อย่างเดียว ผลคือแพ้ เพราะโครงสร้างอำนาจจริง ไม่ได้วางอยู่แค่บนหีบบัตรเลือกตั้ง

ในประเทศไทยยังมีผู้นิยมชมชอบเผด็จการจำนวนหนึ่ง

คนกลุ่มนี้สนับสนุนการรัฐประหารมาตั้งแต่ 2549 และ 2557 เข้าทางของเผด็จการที่ใช้หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้การเคลื่อนไหวต้านเผด็จการทำได้ไม่เป็นเอกภาพ

บางทีอาจต้องรอให้เจ๊ง และจนทั้งประเทศแบบพม่า จึงจะมีสำนึก

 

ยุทธศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตย
ไม่ใช่เพียงแค่ชนะเลือกตั้ง

ถ้าจะให้ประเทศพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ จำเป็นที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของการสร้างกระบวนการยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยการเปลี่ยนโครงสร้าง

1. ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เลือกโดยประชาชน และกำหนดหลักการใหญ่ๆ ที่จะสามารถเลือกฝ่ายนิติบัญญัติให้มาจากฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง

มีการเลือกฝ่ายบริหารจากประชาชนโดยตรง

มีการเลือกสภายุติธรรมจากประชาชนเพื่อจะใช้สร้างระบบตรวจสอบดูแล กระบวนการยุติธรรม

ถ้ายังวนเวียนอยู่ตามโครงสร้างเก่า ระบบอุปถัมภ์และการคอร์รัปชั่นก็จะดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ

2. ต้องสร้างแนวร่วมของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และร่วมแคลื่อนไหว กับกำลังของฝ่ายประชาชนหรือองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ที่อยู่นอกสภา ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมจึงจะมีโอกาสต่อสู้ได้ มิฉะนั้นจะถูกทำลายไปทีละส่วน

แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องแข่งขันกันในระบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีด้านที่ร่วมมือกันก็จะพ่ายแพ้ทั้งสนามใหญ่และสนามเล็ก