การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นธรรม (2)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นธรรม (2)

 

ผู้เขียนได้เขียนบทความการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นธรรม เผยแพร่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2565-5 มกราคม 2566 โดยยกตัวอย่างการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาในอดีต เช่น กรณีมีพื้นที่ไม่ติดกันของเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สมุทรปราการ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2554 กรณีมีพื้นที่ติดกันในรูปนาฬิกาทรายและเป็นป่าเขา เป็นทางเดินบนเขา ไม่มีถนนเชื่อมต่อของเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สุโขทัย ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

และได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ กกต.ต้องใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง เช่น การต้องมีพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวและคมนาคมถึงกันโดยสะดวก การมีจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมาก การใช้เขตปกครอง คืออำเภอและตำบลเป็นหลักในการแบ่ง และการมีลักษณะทางภูมิประเทศที่ประชาชนสังเกตได้โดยง่าย เช่น แนวแม่น้ำ ลำคลอง ถนน เป็นต้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีในแต่ละจังหวัด รวมทั้งประเทศ 400 คน และได้แจ้งกำหนดการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดจะประกาศรายละเอียดของการแบ่งเขตในจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่รวมถึงผู้สมัครและพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 4-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

ก่อนที่สำนักงาน กกต.จังหวัด จะสรุปความเห็นส่งให้ กกต.กลาง เพื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสมเพียงรูปแบบเดียวในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

 

กติกาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2566 มีใจความสรุปได้ดังนี้

1) ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตภายใน 3 วัน (วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2566) โดยให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน แล้วประกาศอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด เป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ (วันที่ 4-13 กุมภาพันธ์ 2566)

2) ประกาศต้องมีรายละเอียด เกี่ยวกับอำเภอ ตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง มีเหตุผลประกอบการนำเสนอ และแผนที่แสดงรายละเอียด

3) จำนวนผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น ไม่ควรเกินร้อยละ 10 เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรสามารถเดินทางโดยสะดวก

4) ภายใน 3 วันนับแต่วันสิ้นสุดการรับฟังความเห็น (14 -16 กุมภาพันธ์ 2566) ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดรวบรวมความคิดเห็นเพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาประกาศแบ่งเขตในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

กติกาดังกล่าว แม้จะคล้ายว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ท้ายสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นท้ายที่อาจจะฟังหรือไม่รับฟังความคิดเห็นใดๆ ก็ได้

 

เอาคนไม่มีสัญชาติไทยมารวม

ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

การคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 นั้น อาจจะมีปัญหาในเรื่องการดำเนินการว่า เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้เพราะ กกต.ไปนำราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยมารวม

ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ได้ลงประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ว่ามีราษฎรทั่วประเทศ แยกเป็นสัญชาติไทย 65,106,481 คน และไม่ได้สัญชาติไทย 983,994 คน รวมเป็น 66,090,475 คน

เมื่อ กกต.เอาตัวเลขที่รวมราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยมารวม จำนวนที่เพิ่มขึ้นจึงมีความหมายทั้งในเรื่องค่าเฉลี่ยในการคำนวณ ส.ส. 1 คน และมีปัญหาต่อเนื่องไปยังจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดที่อาจได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง และต่อไปยังการแบ่งเขตภายในของแต่ละจังหวัด

ในจำนวนราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยเกือบล้านคน จังหวัดที่มีตัวเลขดังกล่าวสูง คือ เชียงใหม่ เชียงราย และตาก ซึ่งส่วนใหญ่คือคนบนพื้นที่สูง ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชียงใหม่มีจำนวน 161,567 คน ตากมี 137,410 คน และเชียงรายมี 132,515 คน

จำนวนเหล่านี้ คือ จำนวนที่ทำให้สามจังหวัดดังกล่าว มีจำนวน ส.ส.ในจังหวัดเพิ่มขึ้นจังหวัดละ 1 คน และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการรอนสิทธิจังหวัดอื่นที่ควรจะได้ ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน ของอีก 3 จังหวัด เป็นต้น

ในขั้นของการแบ่งเขตภายในจังหวัดก็มีผลกระทบตาม คือ เขตเลือกตั้งใดที่มีราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เช่น สมมุติว่า เขตเลือกตั้งที่ 8 ของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 2 อำเภอ คือ แม่อายและฝาง (บางตำบล) มีจำนวนราษฎรโดยประมาณ 148,000 คน หากเป็นคนไม่ได้สัญชาติไทยเสีย 7-8 หมื่นคน ก็จะเหลือคนที่มีสัญชาติไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึงครึ่งของจำนวนดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้คะแนนของผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตดังกล่าวอาจมีเพียง 20,000 เศษ ในขณะที่เขตอื่นอาจต้องมีถึง 50,000 หรือ 60,000 คะแนน

และหากเป็นประเด็นที่มีการร้องกันภายหลังการจัดการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งอาจเสียเปล่าและนำไปสู่ความวุ่นวายในอนาคตได้

 

การรับฟังความเห็นที่อาจว่างเปล่า

การจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตในแต่ละจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นอาจเป็นเพียงพิธีกรรมที่ว่างเปล่าได้

เนื่องจาก หากทั้งสามรูปแบบหรือมากกว่านั้น เป็นการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับประชาชน เช่น เลือกแบบไหนก็ยังแย่ ถึงแม้ประชาชนจะมีความเห็นอย่างไร แต่ กกต.กลางก็ยังคงสิทธิในการเลือกหนึ่งในสามรูปแบบนั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร แม้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครเป็น 33 เขต ถึง 5 รูปแบบ แต่ทุกรูปแบบล้วนมีความแตกต่างในจำนวนราษฎรที่ต่างไปจากค่าเฉลี่ยกลางมากกว่าเกณฑ์ร้อยละ 10 เป็นอย่างมาก

บางเขต เช่น เขตเลือกตั้งที่ 22 สวนหลวง ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) ของรูปแบบที่ 5 มีจำนวนราษฎรถึง 217,818 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยไปถึง 51,305 คน หรือบวกร้อยละ 30.81 ในขณะที่เขต 10 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 47,082 คน หรือลบร้อยละ 28.28

เขตมากสุด คือ เขต 22 จึงมากกว่าเขต 10 ที่มีราษฎรน้อยสุดถึง 98,387 คน หรือเกือบหนึ่งแสนคน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคือ 166,513 คน

สำหรับกรุงเทพมหานครที่มีถึง 5 รูปแบบ จึงกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบใด รูปแบบนั้นก็ขัดกับประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดว่า แต่ละเขตไม่มีควรมีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้นเกินกว่าร้อยละ 10 ทั้งสิ้น

จึงเป็นคำถามว่า จะเป็นการมัดมือชกสำหรับประชาชนหรือไม่ เพราะต้องเลือกภายใต้รูปแบบที่ กกต.เสนอ และทั้งหมดที่เสนอล้วนไม่ใช่ของดี

โจทย์การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นธรรม จึงยังคงเป็นปัญหาโลกแตกของการเลือกตั้งในทุกประเทศ ที่ไม่ว่าจะแบ่งอย่างไรก็มีคนได้ มีคนเสีย การสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

แต่สิ่งนี้จะยิ่งยากขึ้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นฝ่ายทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเสียเองตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น