“ไม้น้ำนอง” คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับพิธีกรรมของล้านนา

ไม้นาฯํ้ฯนอฯง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไม้-น้ำ-นอง”

สำหรับ “ไม้น้ำนอง” ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับไม้ที่ลอยน้ำมา แต่ตรงกับภาษากลางว่า “กำแพงเจ็ดชั้น” เนื่องจากเนื้อไม้มีสีสลับแบบวงปีเป็นชั้นๆ ชัดเจน

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salacia chinensis L. เป็นสมาชิกในวงศ์กระทงลาย หรือมะแตกเครือ (Family CELASTRACEAE) เป็นไม้รอเลื้อย สูง 2-6 เมตร

ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปรี รูปไข่ หรือไข่กลับ ขอบหยักห่างๆ

ดอกออกกระจุกเป็นช่อสั้น 3-6 ดอก ที่ซอกใบ สีเหลืองหรือเหลืองออกเขียว ขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ รูปรีหรือไข่กว้าง ยาว 3-5 ม.ม. กลีบเลี้ยงเล็กมาก ฐานรองดอกนูนสีเขียว

ผลรูปไข่ป้อม เกือบกลม หรือรูปรี ผิวเกลี้ยง ขนาด 1-2 ซ.ม. เปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงอมส้มเมื่อสุก เนื้อผลค่อนข้างบาง ภายในมี 1-3 เมล็ด รูปเกือบกลม ผลกินได้

ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม

พบในจีน อินเดีย พม่า ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตั้งแต่ระดับน้ำทะเล จนถึง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ บริเวณริมแหล่งน้ำ และที่โล่ง

 

ไม้น้ำนองเป็นไม้ที่มีความสำคัญทางพิธีกรรมของล้านนา โดยใช้ในการฟังธรรมขอฝนในช่วงต้นฤดูทำนาหรือช่วงที่ต้นข้าวในนากำลังเติบโต

พิธีเริ่มจากหาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำธารขนาดใหญ่ หรือแม่น้ำที่อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของหมู่บ้าน

แล้วขุดสระจำลอง ให้มีเกาะกลางสระสำหรับประกอบพิธี

รอบๆ สระมีการขัดราชวัติประดับธงทิว พร้อมต้นกล้วย อ้อย ข่า ตะไคร้ ใบขิง และใช้ “ไม้น้ำนอง” แกะเป็นรูปสัตว์ปีก คือ กา นกกระยาง เหยี่ยว และแร้ง เกาะจับตามกิ่งไม้โดยให้แต่ละชนิดอยู่ตามทิศต่างๆ ดังนี้

– กา อยู่ทิศตะวันออก

– นกกระยาง อยู่ทิศใต้

– เหยี่ยว อยู่ทิศตะวันตก

– แร้ง อยู่ทิศเหนือ

พร้อมแกะเป็นรูป “ปลาช่อน” และจัดหาปลาช่อนตัวใหญ่ไว้สองตัว พร้อมสัตว์น้ำนานา อาทิ กุ้ง ปู หอย ไว้จำนวนหนึ่ง

สืบเนื่องจากในสมัยพระพุทธองค์เสวยชาติเป็นราชาปลาช่อน ครั้งหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่วจนเหล่ามัจฉาชาติและสัตว์น้ำถูกบรรดาแร้ง เหยี่ยว กา และนกกระยางโฉบลงมาจิกกินเป็นอาหาร ราชาปลาช่อนจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “แม้นตนจะเกิดมาในฐานะที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิด”

หลังจากประกาศคาถา ด้วยอานุภาพแห่งสัจจาธิษฐานทำให้แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ร้อน และแข็งกระด้าง

เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุก็บัญชาให้เทพบุตร วลาหกเทพบุตรลงมาบันดาลให้ฝนตก โดยห่มคลุมกายด้วยผ้าสีเขียวเหมือนเมฆ ขับเพลงอันมีชื่อ “เมฆคีตะ” ผินหน้าเฉพาะทิศตะวันตก

พลันเหล่าเมฆก็แตกเป็นเสี่ยงเกิดเสียงกึกก้อง เกิดฝนห่าใหญ่เนืองนองทั่วปฐพี

การใช้ประโยชน์ทางยาหมอพื้นบ้านของไทย ใช้เนื้อไม้ต้มดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต ดองเหล้าร่วมกับสมุนไพรอื่นแก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง เข้ายาระบาย ขับปัสสาวะ และแก้ริดสีดวงทวาร

ในต่างประเทศ เช่น ในฟิลิปปินส์ ใช้รากเข้ายาแก้ปวดประจำเดือนหรือประจำเดือนผิดปกติ กัมพูชาใช้ลำต้นต้มดื่มแก้เบาหวาน อินเดียใช้รากรักษาเบาหวานร่วมกับใบแพงพวยฝรั่ง พอกรักษาแผลงูกัด รักษาหนองใน ข้อรูมาติก และโรคผิวหนัง

รายงานทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำจากลำต้นออกฤทธิ์ได้ดีกว่าราก สารที่ออกฤทธิ์ได้ดี คือ salacinol และ kotalanol และพบสารกลุ่มลิกแนนจากใบ 2 ชนิด คือ eleutheroside E2 และ 7R,8S-dihydrodehydrodi coniferyl alcohol 4-O-?-D-glucopyranoside มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับหนูในหลอดทดลอง

นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียด้วย •

 

กำแพงฯเจดฯะชั้นฯคํ่คือฯไม้นาฯํ้ฯนอฯง กำแพงเจ็ดชั้นก็คือไม้น้ำนอง