บอลลูนสายลับ | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ในขณะที่ความตึงเครียดจากสถานการณ์สงครามยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ความตึงเครียดชุดใหม่ก่อตัวขึ้นอย่างไม่คาดคิดจากกรณี “บอลลูนสายลับ” (spy ballon)

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีรายงานการตรวจพบบอลลูนขนาดใหญ่ที่เข้าสู่พื้นที่เขตน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกา บอลลูนเคลื่อนตัวมาจากทางอลาสกา เข้ามาทางด้านตะวันตกของแคนาดา และลอยต่อมาเข้าสู่พื้นที่ทางอากาศของสหรัฐ ผ่านเข้ามาทางรัฐไอดาโฮ และลอยมายังพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์เหนือรัฐมอนตานาในระยะสูงประมาณ 60,000 ฟุต

จุดที่บอลลูนนี้ลอยเหนือรัฐมอนตานานั้น มีนัยสำคัญในทางทหาร เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่เป็นตั้งของ “กองบินจรวดที่ 341” ซึ่งก็คือ ที่ตั้งฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีปของสหรัฐ การมาของบอลลูนจีนเช่นนี้ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างมากว่า บอลลูนดังกล่าวทำภารกิจอะไรในเขตน่านฟ้าของสหรัฐ หรือนี่คือ การ “ลองของ” จากปักกิ่ง!

ในเบื้องต้น ทางการสหรัฐสงสัยอย่างมากว่า บอลลูนนี้เป็นของชาติใด ต่อมารัฐบาลจีนได้ออกมายอมรับถึงความเป็นเจ้าของ และยืนยันว่า บอลลูนมีภารกิจในการสำรวจ ไม่ใช่ภารกิจทางทหาร โดยจีนไม่มีเจตนาที่จะส่งบอลลูนเข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐ ขณะเดียวกันกับการพบบอลลูนในน่านฟ้าสหรัฐ บอลลูนลูกที่ 2 ของจีนถูกพบในน่านฟ้าละตินอเมริกา และเจ้าหน้าที่อเมริกันยืนยันว่า มีบอลลูนลูกที่ 3 ที่กำลังทำภารกิจในการเก็บข้อมูลข่าวกรองในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก แต่ยังไม่เปิดเผย

ผลจากบอลลูนจีนที่ละเมิดน่านฟ้าอเมริกันครั้งนี้ ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันยกเลิกการเดินทางเยือนจีน อันเป็นสัญญาณที่ตกต่ำลงของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม การใช้บอลลูนในภารกิจทางทหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การสงครามในอดีต เมื่อฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการคิดค้นบอลลูนแล้ว กองทัพฝรั่งเศสจึงใช้บอลลูนในการลาดตระเวนทางอากาศและติดตามการเคลื่อนกำลังของกองทัพดัตซ์และกองทัพออสเตรีย หรือในสงครามสมัยใหม่ อาจเห็นถึงการใช้บอลลูนในสงครามโลกทั้งสองครั้ง แต่เมื่อ “บอลลูนจีน” ปรากฏเป็นหัวข้อข่าวสำคัญในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่า โลกในศตวรรษที่ 21 ยังมีการใช้บอลลูนในภารกิจทางทหารอีกหรือ?

คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณมีกล้องถ่ายรูป หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ คุณจะสามารถบันทึกภาพต่างๆ ตามที่ต้องการได้ ดังเช่นที่เราดูภาพยนตร์สายลับ พวกเขาจะทำภารกิจด้วยการบันทึกภาพบุคคล อาคารสถานที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ในอีกด้านหนึ่งก่อนการวางระเบิด ผู้ก่อการร้ายก็ทำเช่นเดียวกันด้วยการเก็บภาพพื้นที่เป้าหมายเพื่อใช้ในการวางแผน การทำเช่นนี้ในทางความมั่นคงคือ การเก็บข้อมูลในแบบ “ข่าวกรองภาพ”

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคสงครามเย็น ข่าวกรองภาพถ่ายจึงดำเนินการผ่านอากาศยานสมรรถนะสูง เช่น เครื่องบินถ่ายภาพระยะสูงแบบ “ยู-2” หรือที่เรียกว่า “เครื่องบินสายลับ” อันทำให้งานข่าวกรองบางส่วนไม่ได้พึ่ง “สายลับตัวบุคคล” ที่ปฎิบัติการเก็บภาพบนพื้นดินด้วยการถ่ายรูปแบบเก่า เนื่องจากเครื่องบินสามารถเก็บภาพได้อย่างแม่นยำ และถ่ายภาพเป็นจำนวนมากในแต่ละเที่ยวบิน ดังเช่น การถ่ายภาพของเครื่องบินยู-2 ต่อที่ตั้งขีปนาวุธโซเวียตที่กำลังถูกติดตั้งที่คิวบาในปี 1962 แต่การใช้เครื่องบินสายลับก็เสี่ยงต่อการถูกยิงตกได้ ดังเช่นเครื่องยู-2 ถูกยิงด้วยอาวุธต่อต้านอากาศยาน และตกในคิวบา เป็นต้น

ความก้าวหน้าของงานข่าวกรองภาพถ่ายมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อ “ดาวเทียมสายลับ” ออกปฎิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการติดตามและเฝ้าตรวจโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงข้าม ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการด้านความมั่นคง “สายลับอวกาศ” จึงดำเนินภารกิจมาอย่างยาวนาน และอยู่สูงเกินเขตอธิปไตยทางอากาศของรัฐ และเป็นที่รู้กันถึงการใช้ดาวเทียมในภารกิจเก็บข้อมูลข่าวกรองภาพ ภาพสนามรบในยูเครนจากดาวเทียมพลเรือนที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เป็นตัวอย่างในกรณีนี้

บอลลูนก็อาจใช้ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน คือ การเก็บข้อมูลภาพถ่าย หากมีการติดตั้งกล้องที่มีความคมชัด และติดตั้งกล้องอินฟราเรดที่สามารถถ่ายภาพในตอนกลางคืนได้แล้ว บอลลูนนี้อาจเปลี่ยนสถานะเป็น “บอลลูนสายลับ” ได้ทันที คือสามารถเก็บข้อมูลข่าวกรองภาพถ่ายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีการติดตั้งระบบเดินอากาศ พร้อมกับมีหางเสือเพื่อการควบคุมทิศทางแล้ว บอลลูนเช่นนี้จะกลายเป็น “สายลับในอากาศ” ได้อย่างดี (อดคิดเปรียบเทียบไม่ได้กับการเตรียมการใช้ “เรือเหาะ” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย ในภารกิจของการลาดตระเวนถ่ายภาพ แต่โครงการต้อง “ล้มละลายสูญสลาย” ไปกับการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารบางส่วนในกองทัพบกไทย จนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนถึงการล้มละลายที่เกิดขึ้น จนต้องเรียกใหม่ว่า “โครงการเรือไม่เหาะ” !)

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของบอลลูนจีนในครั้งนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในทางความมั่นคง เพราะแต่เดิมเชื่อกันว่า การใช้บอลลูนในภารกิจทางทหารเป็น “ของตกยุค” ไปแล้ว แต่ด้วยการมาของเครื่องบินและดาวเทียม ที่สามารถดำเนินการทำภารกิจเก็บข้อมูลข่าวกรองภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี และอาจจะปลอดภัยกว่า เพราะไม่เป็นเป้าหมายที่เด่นชัด แต่บอลลูนมักมีขนาดใหญ่ และสามารถถูกตรวจจับได้ง่าย ฉะนั้น ปัญหาในเรื่องประโยชน์ของการใช้บอลลูน (และอาจรวมถึงเรือเรือเหาะ) ในภารกิจทางทหาร/ความมั่นคงจึงเป็นข้อถกเถียงอย่างมาก

แต่ในทางการเมือง บอลลูนนี้คือ “บททดสอบสหรัฐ” … นี่คือ การทดสอบประธานาธิบดีไปเดนโดยตรงว่า จะกล้าตัดสินใจตอบโต้จีนเช่นไร … ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวตัดสินจึงใช้เครื่องบินรบยิงบอลลูนดังกล่าว ดังนั้น บอลลูนจีนลูกนี้คือ สัญญาณความเข้มข้นของสงครามเย็นสำหรับปีใหม่ที่เริ่มต้นขึ้น!