อุดมคติใหม่ของชีวิต

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

อุดมคติใหม่ของชีวิต

 

คุณวีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ จบสถาปัตย์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรมจากลาดกระบัง ตัดสินใจกลับบ้านลำปาง เพื่อเป็นสล่าโคม ศึกษาหาความรู้จากสล่ารุ่นครู และนำความรู้สมัยใหม่ที่เรียนมา ไปเสริมงานช่างศิลป์ให้ดึงดูดใจคนสมัยใหม่ จนทำให้โคมล้านนากลายเป็นสินค้าที่นิยมของคนทั่วไป

คุณฮุสนีย์ สาแม จบเอกภาษาอังกฤษจาก ม.อ.ปัตตานี แต่เพราะหลงใหลเสื้อผ้าประดับรอยปะ จึงเข้าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ของตนเอง พร้อมทั้งจ้างแรงงานเป็นผู้หญิงในยะลาบ้านเกิดให้เย็บตามแบบที่คุณฮุสนีย์เป็นผู้วางไว้ ให้ค่าจ้างแรงงานในราคาที่เขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ธุรกิจเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับจนเป็นที่พึ่งของตนเองและแรงงานได้ ซ้ำยังมีท่าทีว่าอาจขยายต่อไปได้อีกในอนาคต

คุณกรกนก พิทยะปรีชากุล เพิ่งเรียนจบด้านการออกแบบจาก มช.ไม่นาน กลับมาที่แพร่ และทำงานเป็นผู้ประสานงานขับเคลื่อนโครงการ “เมด อิน เจริญเมือง” อันเป็นโครงการที่รวบรวมธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ของผู้ค้าบนถนนเจริญเมืองของเมืองแพร่ สร้างสรรค์สินค้านานาชนิดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ของผู้ผลิตหรือของเมืองแพร่ และทำท่าจะขายดีจนกลายเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของผู้ค้ารายย่อยได้อย่างยั่งยืน (ในขณะที่พ่อค้ารายย่อยกำลังสูญสิ้นความมั่นคงไปทั่วประเทศ)

 

ข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมเอามาจากนิตยสารสารคดีฉบับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งท้องเรื่องหลักของเล่มคือ “คนรุ่นใหม่… มาให้บ้านเกิด” นอกจากบุคคลที่ผมเอ่ยนามมาแล้ว ยังมีเรื่องของคนรุ่นใหม่อื่นๆ อีกมาก

ผมไม่ทราบหรอกว่า มีคนรุ่นใหม่ที่ทำอย่างนี้อีกมากน้อยเพียงไร ไม่จำเป็นต้องกลับบ้านเกิดทุกคนนะครับ เพียงแต่เลือกจะใช้ชีวิตอีกทางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากความคาดหวังของสังคม, ของ “ผู้ใหญ่” และอาจจะของรัฐด้วย

ผมใช้คำว่า “ใช้ชีวิต” เพราะอยากให้เราคิดให้กว้างกว่าการทำมาหากิน ในโลกทุกวันนี้ อาชีพกำหนดการใช้เวลาของเราเข้าไปไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังกำหนดว่าเพื่อนเราเป็นใคร กำหนดข้อมูลที่ไหลเข้ามาหาเราอย่างหลี่กเลี่ยงไม่ได้จำนวนมาก ค่านิยมที่ “ครอบงำ” เราโดยไม่รู้ตัว นับตั้งแต่อาหารที่กิน, หนังสือที่อ่าน, เพลงที่ฟัง, คนที่เราเคารพ, คนที่เราเกลียด ฯลฯ และอื่นๆ อีกมาก ทำให้เราไม่ได้เลือกชีวิตเราเองจริงๆ หรอกครับ มี “มือที่มองไม่เห็น” มากมายปั้นแต่งตัวเราให้เป็นนายนั่นนางนี่ อันเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์ร่วมกับคนอื่นๆ นับล้าน

คนรุ่นใหม่ที่เลือกใช้ชีวิตเองเช่นนี้คงมีมากขึ้น ถ้าเราบวกคนที่ “อยาก” เลือกชีวิตเอง แต่ไม่กล้า, ยังทำไม่ได้, ขอดูไปก่อน, รอจังหวะ ฯลฯ เข้าไปด้วย ผมคิดว่าก็คงมีเป็นจำนวนมหึมาทีเดียว กองบรรณาธิการสารคดีก็คงคาดอย่างเดียวกัน คือมีตลาดใหญ่พอจะรองรับสารคดีเกี่ยวกับคนประเภทนี้ได้ฉบับหนึ่งแน่

ถึงแม้สารคดีเล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่เหล่านี้จากเรื่องของบุคคล แต่ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมไทย ซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่ง ทางเลือกไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีคนเลือก แต่ทางเลือกเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจ-สังคมอนุญาตหรือเอื้อให้เกิดทางเลือกเพิ่มขึ้น

แน่นอนคนเลือกก็มีความสำคัญ แม้กระนั้นมีคนเลือกแต่ไม่มีทางเลือก ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น หรือมีทางเลือก แต่ไม่มีคนเลือกก็ไม่เกิดอะไรเหมือนกัน

 

เมื่อสมัยผมเป็นเด็กจนเป็นหนุ่ม มักจะพูดกันว่าเด็กไทยไม่รู้จักตนเองและ/หรือ “โลก” พอจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเด็กอเมริกัน แต่ในปัจจุบันผมเชื่อว่าคติเรื่องเด็กไม่รู้จักตนเองและโลกนี้ เป็นคติสำหรับรอนอำนาจของฝ่ายซึ่งมีอายุหรือสถานะต่ำกว่าในความสัมพันธ์ระหว่างกัน แท้จริงแล้วโลกเมืองไทยสมัยนั้นก็ไม่มีอะไรให้เลือกมากนัก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แหละครับ ไม่ว่าจะดูจากอาชีพการงาน, การใช้ชีวิต, รัฐบาล, โครงสร้างอำนาจหรือใครใหญ่ใครเล็ก ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น ทำให้ทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย

ที่เรารู้ๆ เห็นๆ กันมานานแล้วก็เช่น ราชการไม่ใช่ตลาดงานที่มีความสำคัญแก่คนรุ่นใหม่ไปนานแล้ว (ยกเว้นตำรวจและครู)

เหตุผลที่มักให้กันก็คือ อาชีพราชการให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภาคเอกชน แต่นอกจากเรื่องเงินแล้ว ผมยังได้ยินคนที่ไม่อยากรับราชการอธิบายเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น ไม่อยากมีเจ้านาย – ความหมายของเขาคงไม่ได้หมายเพียงผู้บังคับบัญชาเพื่อทำให้งานมีเป้าหมายร่วมกัน แต่หมายถึงผู้มีอำนาจที่ใช้กฎระเบียบตามใจชอบ และปฏิบัติต่อลูกน้องเหมือนไม่ใช่มนุษย์เสมอกัน) – งานไม่ท้าทาย และอื่นๆ อีกมาก แต่กลับไม่ค่อยพูดถึงกัน

ผู้ที่เลือกใช้ชีวิตนอกแบบแผนซึ่งยอมรับกันในสังคมตามตัวอย่างของผม ล้วนเลือกอะไรอื่นที่ไม่ใช่เงินทั้งนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธจะมีรายได้เป็นเงินที่พอจะทำให้ชีวิตยังพอเลือกได้ต่อไปนะครับ แต่เงินเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกอันหลากหลายที่ชีวิตต้องการ ไม่ใช่มั่งคั่งอู้ฟู่ อันเป็นเป้าหมายในชีวิตของคนหนุ่มสาวเมื่อสอง-สามทศวรรษที่แล้ว

อุดมคติชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ดังกล่าวนี้ จะมองว่าเป็นผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดแก่บุคคลก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันสะท้อนความกว้างและลึกของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยด้วย เพราะที่บุคคลคิดเปลี่ยนหรือกล้าเปลี่ยนได้เช่นนี้ ย่อมเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงด้านระบบค่านิยมและอุดมคติทางสังคม

 

เมืองไทยอาจเปลี่ยนด้วยตึกรามบ้านช่อง, ด้วยรายได้ประชาชาติที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว, ด้วยการสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ หรือด้วยอะไรที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ แต่เมืองไทยก็ยังเป็นเมืองไทย แตกต่างจากเมื่อใดเมืองไทยเปลี่ยนด้วยระบบค่านิยมและอุดมคติว่าชีวิตที่ดีคืออะไร เมืองไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผมคิดว่าเรากำลังยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และจุดนั้นคือ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่ที่ผ่านมาในเมืองไทย ได้ทำให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนอุดมคติของชีวิต จากการมีเงินมั่งคั่ง เพื่อประกันความมั่นคงของตนเองและครอบครัว ไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิตจากปัจจัยหลายๆ อย่าง นับตั้งแต่ความสัมพันธ์กับคนอื่น… โดยตรงหรือผ่านสัญลักษณ์ ความสามารถในการหาความสุขจากสิ่งที่เรียบง่าย สนุกกับการปรับเปลี่ยนและทดลอง วางเป้าหมายความสำเร็จในการงานไว้ที่ผลอันเกิดแก่คนในกลุ่มทั้งหมด มากกว่าไว้ที่ตัวเพียงคนเดียว (ทำให้รางวัลและเกียรติยศที่ให้ๆ กันในเมืองไทยเกือบทั้งหมด ไร้ความหมาย เพราะเป็นการยกย่องบุคคลเท่านั้น)

และอะไรอื่นๆ ในแนวนี้แหละครับ

ถ้าคนรุ่นใหม่มองว่าชีวิตที่ดีคืออย่างนี้ สถาบันทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง, กระบวนการ, กฎระเบียบ, ศิลปกรรมและวรรณกรรม ฯลฯ ที่เคยมีในเมืองไทยย่อมจะสูญเสียความหมายในชีวิตผู้คนในอนาคตอันใกล้ข้างหน้าไปด้วย เว้นเสียแต่จะรู้จักปรับตัวให้ทันกับอุดมคติและค่านิยมของคนรุ่นใหม่

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว เช่นคณะสงฆ์ซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงในทางสังคมและการเมืองไทย

 

น่าสังเกตนะครับว่า คนรุ่นใหม่ที่สารคดีนำเสนอในเล่มนั้น ไม่มีใครอ้างถึงหลักธรรมของศาสนาใดเลยสักคำ แต่จากการใช้ชีวิตหรือเป้าหมายในการทำงานของพวกเขา กลับเป็น “ท่าทีต่อชีวิต” ที่ใกล้เคียงกับพุทธธรรม หรือพูดให้ถึงที่สุดคือศาสนธรรมในศาสนาอื่นๆ ด้วย เช่น ความรู้สึกถ่อมตน (ความรู้สึกนะครับ ไม่ใช่แค่คำพูด), การมีใจที่เป็นสุข มีกำลังเงินพอจะทำให้กายไม่ทุกข์ทรมาน, ความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ยอมรับกันและกันอย่างเท่าเทียม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ท่าทีต่อชีวิตเช่นนี้กลับไม่อยู่ในธรรมเทศนาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน แกนกลางของคำเทศนายังเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความมั่นคงในชีวิตในความคิดของพระสงฆ์ยังเป็นฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าอื่น แม้แต่หมวดธรรมที่ถูกเรียกว่าคีหิปฏิบัติก็ส่งเสริมให้ยึดถือปฏิบัติกันเพื่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงพระใบ้หวยและเสกเป่าเพื่อความรุ่มรวยมั่งคั่ง ซึ่งมีอยู่กลาดเกลื่อนยิ่งกว่าเสียอีก

ในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อคนรุ่นใหม่อายุมากขึ้น ตั้งครอบครัวของตนเองจนกลายเป็นส่วนใหญ่ของประชากรไทย จะเหลือใครให้พระสงฆ์สั่งสอนอีก

 

ไม่เฉพาะเพียงคณะสงฆ์เท่านั้น คนรุ่นใหม่มองรัฐไทยด้วยความคาดหวังที่แตกต่างจากที่คนไทยเคยคาดหวังมาก่อน เช่น เสียงเรียกร้องให้เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เสียงเรียกร้อง “ดัดจริต” ที่เอาอย่างฝรั่ง (ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ รัฐสวัสดิการถูกฝรั่งล้มเลิกไปหลายรัฐแล้ว) แต่เพราะอุดมคติของชีวิตแบบใหม่ ต้องการหลักประกันความมั่นคงแบบรวมหมู่มากกว่าแบบต่างคนต่างหา เพราะหลักประกันที่ต่างคนต่างหาให้ตนเองนั้น พิสูจน์ให้เห็นมานานแล้วว่า ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงหลักประกันความมั่นคงเอาเลย

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ในหลายปีที่ผ่านมา ดูอาจจะสืบเนื่องเป็นเวลานานอย่างที่ไม่เคยเกิดกับความเคลื่อนไหวมวลชนในเมืองไทยมาก่อน แม้ว่าอาจซบเซาในบางช่วง แต่ก็ “สืบเนื่อง” แน่ เพราะประเด็นเรียกร้องไม่เปลี่ยน อีกทั้งข้อเรียกร้องก็ดูจะรุนแรงเด็ดขาด เพราะกระทบต่อสถาบันและกระบวนการที่ได้รับการ “ยกเว้น” มานาน เช่น การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตุลาการ

และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เข้ามามีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวมีอายุน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่น จากนักศึกษามหาวิทยาลัย ลงไปสู่นักเรียนมัธยม และท้ายสุดที่ได้ข่าวคือนักเรียนชั้นประถม ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า คือกลุ่มคนที่มี “อนาคต” ร่วมกัน ไม่ว่าอนาคตนั้นจะหมายถึงชีวิตจริงที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญข้างหน้า หรือชีวิตอันเป็นที่ใฝ่ฝันของคนเหล่านี้ก็ตาม

อย่างที่พูดกันเสมอว่า คนเหล่านี้สู้เพื่ออนาคตของเขาเอง

แต่ “อนาคต” ในที่นี้อาจมีความหมายมากกว่าอำนาจและทรัพย์จะไม่ถูกผูกขาดอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน เพื่อกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ แต่อาจจะหมายถึงชีวิตที่มีอุดมคติอันแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องการมากกว่ารัฐที่มีประสิทธิภาพ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีกหลายอย่างที่จะทำให้อุดมคติของชีวิตแบบใหม่เช่นนั้น เป็นไปได้แก่คนที่ต้องการ