วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (8)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ประเทศจีนและชนชาติจีน

จีน เป็นคำที่ไทยใช้เรียกเพื่อให้หมายถึงชนชาติจีนหรือประเทศจีนมานานแล้ว แต่คำเรียกนี้ก็หาใช่คำที่ไทยกำหนดหรือบัญญัติขึ้นมาเองไม่ หากเป็นคำที่รับมาจากชาติอื่นที่ไทยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้จึงขอกล่าวถึงคำว่าจีนนี้ในแง่ที่มาและปฏิสัมพันธ์ทางภาษา ว่าจากเท่าที่มีการศึกษากันมานั้น ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคำเรียกนี้อย่างไร

คำตอบที่ได้ปรากฏว่า มีผู้รู้วินิจฉัยคำว่าจีน ไปต่างๆ นานาจนหาข้อยุติไม่ได้ แต่ที่ได้ประการหนึ่งคือ ข้อวินิจฉัยเหล่านี้ได้ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาคำว่าจีนนี้มีมาโดยต่อเนื่อง และที่ว่าหาข้อยุติไม่ได้นี้หมายความว่า เมื่อรวบรวมงานศึกษาของผู้รู้หลายท่านแล้วก็แยกข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “จีน” ได้เป็นสี่ทางด้วยกัน คือ

ทางแรก มาจากคำเรียกสินค้าหรือประดิษฐกรรมจำพวกชา ผ้าไหม เครื่องกระเบื้องเคลือบ

ทางที่สอง มาจากคำเรียกรัฐหรือประเทศที่โดยมากมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่ามาจากคำว่า ฉิน อันเป็นชื่อราชวงศ์แรกที่รวบรวมจีนเป็นจักรวรรดิ

ทางที่สาม มาจากคำเรียกของชาวต่างชาติที่ออกเสียงแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี ละติน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และเช็ก เป็นต้น ซึ่งมีเสียงที่ต่างกันไม่มากและทำให้สืบสาวได้ถึงคำว่าจีน

ทางที่สี่ มาจากชื่อรัฐหรือเมืองทางตอนใต้ของจีนอันเป็นทางผ่านของการค้าระหว่างจีนกับต่างชาติ

แม้จะสรุปได้เป็นสี่ทางจนหาข้อยุติไม่ได้ก็จริง แต่ก็ใช่ว่าทั้งสี่ทางนี้จะไม่มีทางใดที่น่าสนใจไปเสียเลยทีเดียว

 

ข้อวินิจฉัยที่น่าสนใจคือข้อที่ว่ามาจากคำเรียกของทางอินเดีย เพราะอินเดียเป็นรัฐที่มีเขตแดนติดกับจีน การที่จะรู้จักหรือไปมาหาสู่กับจีนย่อมเป็นเรื่องปกติ โดยคำเรียกของอินเดียคือคำว่า จีนา หรือ จิน ที่ปรากฏในคัมภีร์กับปกรณ์เก่าแก่ของอินเดีย และเป็นคำสันสกฤตที่ใช้เรียกรัฐจีนในยุคโบราณด้วยเห็นว่าชนในรัฐนี้มีความเจริญทางปัญญา คือเป็นพวกช่างคิดช่างทำ ซึ่งก็คือชาวจีนที่ชาวอินเดียได้พบเห็น

ข้อวินิจฉัยที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งคือข้อที่ว่า จีน มาจากคำว่า ฉิน อันเป็นชื่อรัฐหรือราชวงศ์ เพราะข้อนี้มีเหตุมาจากความพ้องเสียง มิพักต้องไปสืบค้นให้สลับซับซ้อนดังทางอื่น

 

นอกจากคำว่า จีน แล้ว ก็ยังมีคำหนึ่งที่ตะวันตกใช้เรียกจีนเช่นกัน คำแรกคือคำว่า คาเทย์ (Cathay)(1) อันเป็นคำในภาษาอังกฤษที่มาจากภาษาละตินว่า Cathaya

ชื่อคาเทย์นี้มาจากชนชาติคีตัน (Khitan) หรือที่จีนเรียกว่าชี่ตัน ชนชาตินี้อาศัยอยู่ในแถบเอเชียกลาง จนมาสมัยหนึ่งจึงได้ตั้งอาณาจักรของตนขึ้นในปี ค.ศ.907 พอถึง ค.ศ.916 จึงได้สถาปนาเป็นราชวงศ์ขึ้นมา โดยตั้งชื่อใหม่อีกครั้งใน ค.ศ.938 (บางที่ว่า ค.ศ.947) ว่า เหลียว และตั้งชื่อกลับไปมาในระหว่างสองชื่อว่าคีตันกับเหลียว ก่อนที่จะใช้ชื่อว่าเหลียวอย่างมั่นคงใน ค.ศ.1066

คำเรียกคีตันนี้มาจากภาษาของพวกสโลวานิก (Slovanic) เติร์ก (Turkic) และอาหรับ (Arabic) เพื่อเรียกพวกที่อยู่ในจีนว่า Kitaia หรือ Hitai ก่อนที่จะออกเสียงเป็นคาเทย์ในภาษาอังกฤษในที่สุด

ถึงกระนั้น การเรียกขานว่าคาเทย์ในเวลานั้นก็หมายเฉพาะจีนทางภาคเหนือเท่านั้น ส่วนจีนในทางภาคใต้จะเรียกว่าหมานจื่อ ซึ่งหมายถึงชนชาติหมาน โดยคำว่าหมานจื่อหมายถึง ลูกหลานของหมาน

กล่าวกันว่า คาเทย์ที่หมายถึงจีนทั้งหมดนั้นเกิดจากกวีบทหนึ่งของลอร์ดอัลเฟรด เทนนีสัน (Lord Alfred Tennyson, ค.ศ.1809-1892) ที่แต่งขึ้นใน ค.ศ.1842 ที่มีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพวกคาเทย์จนเป็นที่จดจำกัน

จากนั้นมา คาเทย์จึงถูกเข้าใจกันว่าคือจีนเรื่อยมา

 

โดยสรุปแล้ว ทั้งคำว่าคาเทย์และหมานจื่อที่หมายถึงชาวจีนทางภาคเหนือและภาคใต้ตามลำดับนี้ เอาเข้าจริงแล้วหาใช่ชาวจีนที่เป็นชนชาติฮั่นไม่ แต่เป็นชนชาติอื่นที่มิใช่ชนชาติฮั่น หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในทางวิชาการว่า ชนชาติที่มิใช่ฮั่น (Non-Han peoples) แต่ถึงแม้จะมิใช่ชนชาติฮั่น ชาวต่างชาติก็เรียกโดยเข้าใจว่าเป็นชนชาติจีนมาช้านาน

จนปัจจุบันที่แยกแยะชนชาติต่างๆ ในจีนได้แล้ว การเรียกที่เข้าใจคลาดเคลื่อนจึงหายไปจากการเรียกขานในที่สุด

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ใช่จีนที่เรียกกันว่า ไชน่า หรือ China ที่ทางตะวันตกเรียกกันในปัจจุบัน

คำว่าไชน่านี้เข้ามาอยู่ในภาษาอังกฤษในราวศตวรรษที่ 16-17 โดยเชื่อกันว่าน่าจะมาจากภาษาเปอร์เซีย (Persian) ในคำว่า Chini (ที่ให้บังเอิญพ้องเสียงกับภาษาฮินดีดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้)

นอกจากนี้ก็ยังกล่าวกันว่า คำว่าไชน่านี้มาจากการเรียกขานเครื่องเคลือบดินเผา (porcelain) ของชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 19 โดยให้หมายถึงเครื่องเคลือบดินเผาที่มาจาก “ไชน่า” หรือ “China” จนคำคำนี้หมายถึงชื่อประเทศจีนไปในที่สุด และเรียกขานเช่นนั้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ส่วนคำว่าคาเทย์ที่เรียกกันมาแต่เดิมก็ถูกใช้น้อยลงจนค่อยๆ เลือนหายไป

 

แต่ไม่ว่าชาวต่างชาติจะเรียกจีนว่าอย่างไร สำหรับจีนเองแล้วไม่เคยเรียกตัวเองด้วยคำว่า จีน หรือเสียงใดที่ใกล้เคียงกับคำนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วชาวจีนจะเรียกตนในฐานะชนชาติหนึ่งว่าฮั่น คำเรียกนี้มีผู้รู้ฝ่ายจีนทักท้วงว่าเป็นคำเรียกราชวงศ์หนึ่ง (หมายถึงราชวงศ์ฮั่น) ยังไม่น่าใช่ชื่อชนชาติ

คำเรียกชื่อชนชาติจีนนั้นจริงๆ แล้วมีพัฒนาการที่ยาวนานไม่น้อย การศึกษาเกี่ยวกับชนชาติจีนจึงเริ่มจากว่าเป็นชนชาติที่มาจากไหน ถ้าเริ่มจากนี้จะพบว่า ปกรณ์เก่าแก่ของจีนก็กล่าวถึงประเด็นนี้อยู่ในหลายที่ ว่าชนชาติจีนมีถิ่นฐานแรกเริ่มอยู่ที่อาณาบริเวณภูเขาคุนหลุน

คุนหลุนเป็นขุนเขาที่ตั้งอยู่ทางเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต มีความยาวจากตะวันออกถึงตะวันตกประมาณ 2,500 กิโลเมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 6,000 เมตร ยอดภูจะมีหิมะปกคลุมและมีธารน้ำแข็ง

ครั้นถึงฤดูใบไม้ผลิ ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้น้ำแข็งและหิมะละลายไหลลงสู่ลำธารหลายสาย หล่อเลี้ยงภาคตะวันตกเฉียงเหนือให้ชุ่มชื้น และเพิ่มน้ำให้กับแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำฮว๋าง (ฮว๋างเหอ) และแม่น้ำฉางหรือหยางจื่อ (แยงซีเกียง)

ปกรณ์เหล่านี้มิได้เอ่ยชื่อชนชาติที่มีถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว หากแต่แยกว่า ชนชาติอื่นที่มีถิ่นฐานพ้นไปจากบริเวณคุนหลุนล้วนเป็นคนละชนชาติกับที่อยู่ที่คุนหลุน แม้จะกล่าวไว้เช่นนี้ แต่ปกรณ์ก็มิใช่งานศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ดังที่ตะวันตกกระทำกัน

ฉะนั้น เมื่อฝ่ายตะวันตกมาศึกษาแล้วก็พบว่า ก่อนที่ชนชาติจีนจะมาอยู่ตรงบริเวณภูเขาคุนหลุนนั้น ชนชาติจีนเคยอยู่ในเอเชียตะวันตกหรือที่ราบสูงตะวันตกมาก่อน แต่ประเด็นการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่และยังหาข้อยุติไม่ได้

 

แต่สำหรับจีนแล้วกลับเป็นที่น่าสังเกตว่า งานศึกษาที่เป็นทางการของจีนปัจจุบันกลับไม่มีการกล่าวถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นของตน หากเมื่ออธิบายถึงที่มาของตนก็จะมุ่งไปที่หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในจีน เช่น มนุษย์ปักกิ่งหรือแหล่งวัฒนธรรมมากมายหลายแห่งที่ขุดค้นพบ

การอธิบายเช่นนี้เท่ากับบอกว่า ชนชาติจีนมีกำเนิดอยู่ตรงแผ่นดินจีนในปัจจุบัน โดยปริยายจีนจึงไม่ใช่ “ชนต่างชาติ” ที่อพยพมาจากที่อื่น แล้วก็มารุกรานแย่งยึดเอาดินแดนจากเจ้าของเดิม หากคือชนชาติดั้งเดิมเช่นเดียวกับอีกหลายชนชาติในจีน

ดังนั้น การสู้รบปรบมือกับคนอื่นที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกันเพื่อแย่งชิงดินแดนย่อมเป็นเรื่องปกติ ดังคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันแล้วมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันฉะนั้น

จะอย่างไรก็ตาม หากไม่นับหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว การกล่าวว่าชนชาติจีนมีถิ่นฐานที่ภูเขาคุนหลุนดูจะเป็นจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง โดยเป็นที่เข้าใจด้วยว่าจุดร่วมนี้ยังรวมไปถึงลุ่มแม่น้ำเหลืองอีกด้วย

จากนั้นสิ่งที่เรารู้กันต่อมาก็คือ การที่ชนชาติจีนต้องสู้รบปรบมือกับชนชาติอื่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมเพื่อแย่งชิงดินแดน

——————————————————————————
(1)เสียงทับศัพท์ คาเทย์นี้กำหนดโดยราชบัณฑิต แต่ที่พบโดยทั่วไปจะทับศัพท์ว่า คาเธ่ย์