‘น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง’ ภาพยนตร์ปลอบขวัญชาวไทย (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง’

ภาพยนตร์ปลอบขวัญชาวไทย (1)

 

“คนน้ำท่วม ไม่มีกิน ทางการช่วย พร้อมอำนวย อาหาร และฐานที่ อยู่อาศัย พ้นภัย ชั่วคราวมี น่ายินดี รัฐอำนวย ช่วยคนจน”

(พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 35-36)

 

ภาพยนตร์ไทยใต้เงาสงคราม

พลันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เกิดการปะทะกัน ต่อมา รัฐบาลไทยมีคำสั่งหยุดยิง ญี่ปุ่นขอให้ไทยเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่า อินเดียและมลายา ซึ่งไทยยินยอม ต่อมามีการทำสนธิสัญญาทางทหารต่อกัน

ในช่วงก่อนสงครามนั้น กรมโฆษณาการ รับข่าวสารผ่านวิทยุโทรเลขจากสำนักข่าวทรานโอชั่น (เยอรมนี) รักบี้และรอยเตอร์ (อังกฤษ) ราดิโอโรมาและสเตฟานี (อิตาลี) ดี.เอน.บี. (เยอรมนี) โดเม (ญี่ปุ่น) มาเผยแพร่ต่อสังคมไทย

ต่อมา เมื่อสงครามระเบิดแล้ว รัฐบาลสั่งห้ามรับฟังข่าวสารจากฝั่งตะวันตก แต่ให้รับฟังข่าวสารของกรมโฆษณาการที่รับข่าวสารจากสำนักข่าวญี่ปุ่นและเยอรมนีเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนมีความคิดเห็นตรงกัน (ไพโรจน์ ชัยนาม 2538, 33 : แถมสุข นุ่มนนท์, 2544, 75)

ในช่วงสงครามนั้น สำนักข่าวโดเม (Domei) ซึ่งเป็นของรัฐบาลญี่ปุ่น มักรายงานชัยชนะของการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นแก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง มีทั้งภาพยนตร์และภาพยนตร์ข่าวจากบริษัทภาพยนตร์โตโฮและบริษัทเองะไฮคิวชะมาฉายโฆษณาในโรงภาพยนตร์ไทย (สรศัลย์, 165)

หอภาพยนตร์แห่งชาติ

ต่อมา ภายหลังสงครามจบสิ้นแล้ว สำนักข่าวโดเมแปรสภาพเป็นสำนักข่าวจิจิ (Jiji) และสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo) (nippon.com/ wartime-domei-news-agency)

ช่วงเวลานั้น ข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “ขณะนั้น สงครามมหาเอเชียบูรพาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินการในอันที่จะปลุกใจให้คนไทยรักประเทศชาติและปลอบขวัญให้มั่นคงเพราะสินค้าทุกอย่างขาดแคลน รถยนต์ไม่ค่อยมีน้ำมัน ตกกลางคืนมีการพรางไฟมืด หนังละครไม่มี…” (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2520, 16)

ด้วยช่วงน้ำท่วม โรงภาพยนตร์หลายแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมจนไม่สามารถฉายภาพยนตร์ได้ ต้องประกาศงดฉายภาพยนตร์

ดังเช่น โรงภาพยนตร์ของสหสินีมาประกาศว่า เนื่องจากน้ำท่วมทำให้ผู้มาชมและโรงภาพยนตร์ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงของดฉายภาพยนตร์ที่เฉลิมกรุง เฉลิมนคร เฉลิมธานี เฉลิมรัฐ และเฉลิมราษฎร์ ส่วนโรงอื่นยังคงฉายตามปกติ (ศรีกรุง, 17 ตุลาคม 2485)

ควรบันทึกด้วยว่า นับแต่ภายหลังน้ำท่วมแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มโจมตีพระนครด้วยระเบิดอีกครั้ง ส่งผลให้ชาวพระนครออกมาใช้ชีวิตพักผ่อนยามค่ำคืนลดลงด้วยความหวาดวิตกในเรื่องความปลอดภัย

ครั้งนั้น หากใครต้องการไปชมภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ฉายแต่ภาพยนตร์ฝรั่งที่ค้างเก่า เพราะไม่สามารถซื้อภาพยนตร์เรื่องใหม่มาจากยุโรป อเมริกามาฉายได้ เนื่องจากไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ผนวกกับไทยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะด้วย ไทยจึงถูกปิดกั้นการขนส่งต่างๆ ทั้งทางน้ำและทางอากาศ

จึงมีแต่ภาพยนตร์จากญี่ปุ่นฉายในไทยจำนวนมาก เช่น ภาพยนตร์จากบริษัท เองะไฮคิวชะ (วีระยุทธ์ ปิสาลี, 2557, 123-124)

ตัวอย่างข่าวและตราสำนักข่าวโดเม เครดิตภาพ : The Jiji Press

หน้าที่ของภาพยนตร์ช่วงสงคราม

เมื่อไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นก็เข้ามาตกลงกับกรมโฆษณาการเกี่ยวกับกิจการภาพยนตร์ โดยขอให้ไทยงดฉายภาพยนตร์จากอังกฤษ อเมริกา และจีนที่มีเนื้อหาต่อต้านญี่ปุ่น (นิภาภรณ์ รัชตพัฒนากุล, 2559, 81)

ในห้วงเวลาแห่งสงคราม ภาพยนตร์กลายเป็นสื่อที่รัฐใช้สื่อสารทางการเมืองกับประชาชนเพื่อโฆษณาข่าวสาร โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นคล้อยตามหรือนิยมชมชอบไปในทางที่รัฐต้องการ รัฐบาลจึงมักใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้น

ในช่วงนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น สืบจากกองทัพญี่ปุ่นรุกรานจีน

“ค่ำคืนในจีน” เป็นภาพยนตร์ประโลมโลกที่บริษัทโตโฮสร้างขึ้น (2483) เป็นเรื่องรักระหว่างสาวจีนกับนาวิกโยธินญี่ปุ่นเพื่อสื่อถึงความปรารถนาดีที่ญี่ปุ่นหยิบยื่นให้จีน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเลือกฉายในไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน และระหว่างวันที่ 11-17 ธันวาคม 2485 ในช่วงต้นของสงคราม

เหตุกองทัพญี่ปุ่นจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นกังวลการต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนในพระนคร ความกังวลนี้มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นส่งกองกำลังเข้ารุกรานจีน กองทัพญี่ปุ่นรู้ดีว่าประชากรกว่าครึ่งของพระนครเป็นชาวจีนหรือผู้มีเชื้อสายจีน

ดังนั้น ค่ำคืนในจีนจึงเป็นภาพยนตร์ที่นำมาฉายในพระนคร เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับนางเอกที่ยอมรับความปรารถนาดีและจริงใจจากทหารญี่ปุ่น (นิภาภรณ์, 84-85)

ดังที่สง่า อารัมภีร เล่าว่า สมัยนั้นน้ำท่วมโรงละคร ที่นั่งชมน้ำท่วมด้วยจึงต้องปิดการแสดง บางโรงนั้นน้ำท่วมสูงถึงเวทีโรงภาพยนตร์เลยทีเดียว แคปปิตอลเป็นโรงภาพยนตร์เดียวที่เปิดฉายได้ และฉายแต่ภาพยนตร์ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม ภาพยนตร์จากยุโรป อเมริกาเข้ามาฉายไม่ได้ เพราะการขนส่งถูกปิดกั้น และเป็นชาติอริกันในสงคราม คนจะไปชมต้องพายเรือ จอดเรือตามถนนเจริญกรุงแถวหน้าโรงภาพยนตร์ (สง่า, 2509, 116-117)

น้ำท่วมหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

กำเนิด “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”

ภาพยนตร์ปลอบขวัญชาวไทย

จากความทรงจำของจอมพล ป. บันทึกว่า เมื่อค่ำคืนของวันที่ 26 ตุลาคม

“ฉันลงเรือไปราว 5 ทุ่ม…พายไปตามถนนราชดำเนิน พอจะข้ามถนนตรงมุมกระซวงสึกษา เพื่อลงสู่น้ำลึกของคลองผดุง เรือติดแห้งอีกข้ามถนนไม่ได้ ต้องเดินขึ้นที่สะพานมัควาน เพราะน้ำไม่ท่วม…เมื่อน้ำไม่ลึกพอ เรือก็เกยแห้ง ฉันเลยกลับบ้าน ผ่านพระบรมรูป เห็นพี่น้องของเราลอยเรือ เล่นเพลงใต้แสงจันทร์เปนแพใหย่ น่าสนุก ฉันนึกก็ดีเหมือนกัน ถ้าทุกคนเปนทุกข์หย่างชาวนา น้ำท่วมไปทุกหนทุกแห่ง เมืองไทยคงเปนเมืองเส้าเมืองโสกไปหมด…” (สามัคคีไทย, 122-123)

ความทรงจำข้างต้นสะท้อนว่า ท่านผู้นำตระหนักว่า ภาวะน้ำท่วมสร้างความเศร้าโศกโศกาอาดูร ความพลัดพราก ความสูญเสีย ความสิ้นเนื้อประดาตัวเหล่านี้ ล้วนสร้างความเครียดให้กับชาวไทย ดังนั้น หนทางหนึ่งในการลดความวิตกในจิตใจให้กับผู้คนคือ การส่งเสริมความบันเทิง ให้ประชาชนมีความสุขสนุกสาน

ดังนั้น เป็นไปได้ที่ภาพยนตร์ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” สร้างขึ้นเพื่อสนองตอบและขานรับนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง และเป็นได้ว่า ประชาชนคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่รัฐบาลมิอาจแก้ไขน้ำท่วมนี้ได้ นอกจากปลอบใจประชาชน

ด้วยเหตุนี้ บริษัทสร้างภาพยนตร์ศรีกรุง จึงรีบสร้างภาพยนตร์ออกมาปลอบใจประชาชน ขานรับนโยบายรัฐบาลท่านผู้นำครั้งนั้น (prachatai.com/41129)

ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 29 ตุลาคม 2485 ลงพิมพ์โฆษณาภาพยนตร์น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ว่า “เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ไห้คติสมัยส้างชาติ รักตลกขบขัน-เพลงไพเราะ สแดงโดย น.ส.ทวิ วรรนแสวงทรัพย์ น.ส.นรา สรีขุนทอง และจำรัส สุวคนธ์ ที่สาลาเฉลิมกรุงเร็วๆ นี้”

ด้วยคำโปรยในหนังสือพิมพ์ว่า เพียบพร้อมไปด้วยวัฒนธรรม คติสมัยสร้างชาติ หมายความว่าอย่างไร การสร้างภาพยนตร์ช่วงสงครามและวัตถุประสงค์ของภาพยนตร์เป็นเช่นไร โปรดติดตามในตอนหน้า

แผ่นป้ายสังกะสีกระตุ้นเตือนสติชาวไทยในครั้งสงคราม
ข่าวภาพยนตร์ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ศรีกรุง 28 พฤศจิกายน 2485 และใบปิดภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “ค่ำคืนในจีน”
โรงภาพยนตร์โอเดียนในช่วงสงคราม เครดิตภาพ : นิภาภรณ์ รัชตพัฒนากุล
โฆษณาภาพยนตร์ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ในศรีกรุง 29 ตุลาคม และศรีกรุง 13 พฤศจิกายน 2485
จำรัส สุวคนธ์ พระเอกแห่งภาพยนตร์เสียงศรีกรุง รับบทกรรมกรแจวเรือ