คณะทหารหนุ่ม (26) | ย่างก้าวของทหารประชาธิปไตย

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ย่างก้าวของทหารประชาธิปไตย

เมื่อนิตยสารตะวันใหม่อยู่ในความสนใจของประชาชนแล้ว ในระหว่างต้นปี พ.ศ.2521 จนถึงปลายเดือนตุลาคม 2521 ทหารประชาธิปไตยจึงเสนอความคิดที่เข้มข้นขึ้นผ่านบทความและบทนำซึ่งเน้นหนักไปที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

อธิบายให้เห็นว่าระบอบการปกครองของไทยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเรื่อยมาโดยขาดเสถียรภาพ ขาดความมั่นคง ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

ก็เนื่องจากมูลเหตุสำคัญคือการที่ระบอบการปกครองเป็นเผด็จการที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องบังหน้า

เมื่อมีการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ล้มล้างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยที่คณะปฏิวัติประกาศเจตนารมณ์ชัดแจ้งว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ทหารประชาธิปไตยจึงเห็นช่องทางที่จะผลักดันให้ผู้นำทางการเมืองขณะนั้นนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของชาติ

เนื่องจากนายทหารประชาธิปไตยมิได้เป็นนายทหารคุมกำลังดังกล่าว จึงไม่มีบทบาทในการปฏิวัติครั้งนี้ ต่างกับคณะทหารหนุ่มที่เป็นนายทหารคุมกำลังจึงมีบทบาทสูงเพราะได้ร่วมปฏิวัติและได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทหารประชาธิปไตยจึงขาดช่องทางการสื่อสารกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยตรง เพราะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ความสนใจแก่คณะทหารหนุ่มมากกว่า

วิถีทางเดียวที่เปิดให้คือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางนิตยสารตะวันใหม่โดยในบทนำของตะวันใหม่ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ได้ชี้ให้เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่สุดของความเป็นผู้นำทางการเมืองเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยคือ “แนวความคิดประชาธิปไตย” ที่จะชี้ว่าความเป็นผู้นำทางการเมืองถูกหรือผิด

และแนวคิดที่สำคัญคือ “อธิปไตยเป็นของปวงชน อธิปไตยจากปวงชน และประชาธิปไตยของประชาชน”

 

ปฏิกิริยา

ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยแถลงการณ์ 23 ตุลาคม พ.ศ.2521 ทหารประชาธิปไตยจึงมีการเคลื่อนไหวเป็นลำดับมาแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ผ่านนิตยสารตะวันใหม่

หลังจากแถลงการณ์เปิดตัวกลุ่มทหารประชาธิปไตยเมื่อตุลาคม พ.ศ.2521 ได้มีปฏิกริยาจากรัฐบาลและกองทัพบกดังนี้

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามจากสื่อมวลชนว่า ถ้านายทหารประชาธิปไตยมีตัวตนจริงก็ให้ปรากฏตัวออกมา

สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้วิจารณ์ว่าการออกแถลงการณ์ของทหารประชาธิปไตยเป็นการสร้างความแตกแยกในหมู่ทหาร เป็นการผูกขาดประชาธิปไตย และเป็นกโลบายคอมมิวนิสต์

บทความที่อ่านในโทรทัศน์กองทัพบกนี้ได้รับการถ่ายทอดออกอากาศโดยสถานีวิทยุของทหารทั่วประเทศในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากนั้น ยังมีผู้แสดงความสงสัยอีกด้วยว่าแถลงการณ์ที่ปรากฏในนิตยสารตะวันใหม่นั้นทหารเป็นผู้ร่างหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทหารเป็นผู้ร่างโดยอาศัยชื่อทหารประชาธิปไตยซึ่งทหารประชาธิปไตยต้องออกคำชี้แจงลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 ยืนยันว่าทหารเป็นผู้เขียนแถลงการณ์

นอกจากนี้ ยังได้ถือโอกาสชี้แจงข้อสงสัยเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อสงสัยที่ว่า “ยังเติร์ก” กับ “ทหารประชาธิปไตย” เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่

ทหารประชาธิปไตยได้โต้ตอบข้อกล่าวหาที่ว่าทหารประชาธิปไตยทำให้ทหารแตกสามัคคีว่า การที่ทหารทั้งหมดหรือส่วนข้างมากที่สุดนิยมระบอบประชาธิปไตยนั่นคือหลักประกันของความสามัคคีในหมู่ทหาร

เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นเหตุแห่งสามัคคี เผด็จการคือเครื่องทำลายสามัคคี

 

ทหารประชาธิปไตยถือว่าการแสดงตัวของทหารประชาธิปไตยคือการแสดง “หลักการ” ซึ่งสำคัญกว่าแสดง “ตัวบุคคล” เพราะวงการเมืองของเรายังแก้ปัญหาหลักการไม่ตก

เมื่อยังแก้ปัญหาหลักการไม่ตก ปัญหาหลักการก็เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาบุคคลเป็นระดับรอง ต่อเมื่อแก้ปัญหาหลักการตกแล้วปัญหาบุคคลจึงเป็นปัญหาสำคัญ

ในวงการทหาร พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ได้แสดงทัศนะในด้านลบต่อการเคลื่อนไหวของทหารประชาธิปไตยในบทความ “ผมเป็นทหารประชาธิปไตยหรือเปล่า” ในทำนองว่าทหารทุกคนเป็นทหารของชาติอยู่แล้วซึ่งก็มีความหมายเป็นนัยอยู่ว่า เมื่อเป็นทหารของชาติก็ไม่จำเป็นต้องประกาศตัวว่าเป็นอย่างอื่น

และกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยว่า ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จะต้องปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป

เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ท่าทีไม่ต้อนรับทหารประชาธิปไตย ทั้งของรัฐบาลและกองทัพบกล้วนมีลักษณะ “เลือกปฏิบัติ” อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่เคยแสดงทัศนะไม่ว่าจะทางบวกหรือลบต่อคณะทหารหนุ่มซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ามีอยู่จริงและเพิ่งก่อการรัฐประหารเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 นี้เอง

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการเคลื่อนไหวของทหารสองกลุ่มนี้ ทหารประชาธิปไตยเสนอให้ผู้นำทางการเมืองมองปัญหาในระยะยาวและเร่งสร้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

ขณะที่คณะทหารหนุ่มมองปัญหาในระยะสั้นคือการสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้ฝ่ายบริหาร

ความแตกต่างทางความคิดระหว่างทหารสองกลุ่มนี้จะเริ่มมีมากขึ้นโดยเฉพาะต่อปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิกของคณะทหารหนุ่มในสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีส่วนร่วมและแสดงท่าทีพอใจเพียงแค่การมี “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

 

รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2521 ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ บทนำในนิตยสารตะวันใหม่ สนับสนุนให้คณะทหารหนุ่มสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และพยายามชี้ให้เห็นว่ากลุ่มทหารหนุ่มเป็นคนละส่วนกับทหารประชาธิปไตย

บทนำนี้ชี้ยังแนวทางแก้ไขปัญหาของชาติตามหลัก “อธิปไตยเป็นของประชาชน” และคัดค้านกระแสความเคลื่อนไหวที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น

“ความหมายของการปฏิวัติภายใต้สถานการณ์ยุคปัจจุบันของไทย หลักการที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ‘ระบอบเผด็จการ’ มาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นปัจจัยอันจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาทั้งปวงของชาติให้ตกไป”

“ถ้ายังเติร์กจะสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เปลี่ยน ‘ระบอบเผด็จการ’ ให้เป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็น ‘การปฏิวัติ’ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”

“ยังเติร์กคือ ‘นักปฏิวัติเสรีนิยมวัยหนุ่ม’ ต้องสนับสนุนการปฏิวัติจึงจะเป็นยังเติร์ก”

“ถ้าสนับสนุนอย่างอื่นที่มิใช่การปฏิวัติก็ไม่ใช่ยังเติร์ก”

เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญคืบหน้ามากขึ้น ทหารประชาธิปไตยก็เห็นถึงความจำเป็นในการเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ โดยหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่น่าจะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าว ประกอบกับกระแสการเมืองในระหว่างปลายปี พ.ศ.2521 เกี่ยวกับปัญหารัฐธรรมนูญสูงขึ้นเป็นลำดับ

ทหารประชาธิปไตยจึงได้แสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ