หลักสูตรในโรงเรียนทหาร และ ‘กติกา’ บางอย่างในกองทัพ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลักสูตรในโรงเรียนทหารและ ‘กติกา’ บางอย่างในกองทัพ

คํ่าวันนี้มีรุ่นน้องส่งรายชื่อวิชาเลือกในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนในปีการศึกษาใหม่มาให้ผมอ่านประดับความรู้

ข้อมูลดังกล่าวทำให้ผมพบว่านอกจากวิชาพื้นฐานที่นิสิตทุกคนต้องเรียนเพื่อไปประกอบวิชาชีพเป็นนักกฎหมายในวันข้างหน้าแล้ว เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาแล้ว

วิชาเลือกที่มีความหลากหลายมากขึ้นก็เป็นเครื่องบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัยด้วย

ดูชื่อวิชาเลือกสมัยนี้แล้วตื่นตาตื่นใจครับ เช่น วิชากฎหมายกับอาชญากรรมไซเบอร์ วิชาการประเมินผลกระทบของกฎหมาย วิชาสัมมนากฎหมายกับเพศภาวะ หรือวิชากฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและผังเมือง เป็นต้น

วิชาเลือกเหล่านี้แค่อ่านดูชื่อก็น่าแอบเข้าไปนั่งฟังอยู่ท้ายห้องแล้ว

อย่างไรก็ดี วิชาเลือกที่เป็นวิชาเลือกเก่าแก่บางวิชาก็ยังยืนยงคงกระพันอยู่ได้ เพราะอย่างไรเสียก็ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ เช่น วิชากฎหมายธนาคาร หรือวิชาสัมมนาการร่างกฎหมายและกระบวนการทางนิติบัญญัติ ซึ่งผมเป็นผู้สอน

แหะ แหะ วิชานี้สำคัญมากครับ ฮา!

บางวิชาผมไม่แน่ใจนะว่ามีพัฒนาการมาจากวิชาเก่าที่ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ใช่ครับ ผมกำลังนึกถึงวิชาเลือกที่ชื่อว่า กฎหมายกับความมั่นคงของชาติ

อ่านดูแต่ชื่อวิชาแล้วก็รู้สึกว่าขอบเขตของวิชาคงจะกว้างขวางและครอบคลุมอะไรต่อมิอะไรมากมายพอสมควร ขึ้นต้นตั้งแต่ว่า “ความมั่นคงของชาติ” คืออะไร แค่นี้ก็สนุกเต็มทีแล้ว

 

เมื่อตอนผมอยู่ชั้นปีที่สี่ ยังเป็นเพียงนิสิตหน้าซื่อตาใสคนหนึ่ง ปีนั้นเป็นปีพุทธศักราช 2519 ผมเลือกลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายทหาร โดยอาจารย์ผู้สอนเป็นอาจารย์พิเศษ ชื่อ พล.ท.ประสิทธิ์ ใจชื่น

เหตุผลส่วนตัวที่ผมเลือกเรียนวิชาดังกล่าว เพราะเวลานั้นเป็นเวลาที่ทหารครองบ้านเมือง ศาลทหารกำลังมีบทบาทมากในกระบวนการยุติธรรม ผมเองมีความอยากรู้ว่ากฎหมายของทหารมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือพระธรรมนูญศาลทหาร ความรู้เหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจข่าวสารบ้านเมืองในเวลานั้นได้ดีพอสมควร

อีกประมาณสองปีต่อมาผมไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โรงเรียนกฎหมายที่นั่นมีวิชาเลือกมากมายให้เราเลือกเรียนได้ตามใจชอบ

วิชาหนึ่งที่เห็นชื่อแล้วสะดุดใจจนต้องลงทะเบียนเรียน คือ วิชา Military Law ตอนลงทะเบียนเรียนก็นึกในใจว่า วิชานี้น่าจะหวานหมูสำหรับเราเพราะเรามีพื้นฐานมาแล้วจากเมืองไทย

ปรากฏว่าโอละพ่อครับ เพราะในขณะที่วิชากฎหมายทหารเมืองไทยเรียนเพื่อจะรู้ว่าทหารมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างไร หน่วยทหารหรือศาลทหารมีอำนาจทำอะไรเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือฝ่ายพลเรือนอย่างไรได้บ้าง

ข้างฝ่ายวิชากฎหมายทหารเมืองอเมริกานั้น เขาเรียนเพื่อจะเน้นความรู้ว่าทหารมีบทบาทที่จำกัดอย่างไร การใช้อำนาจของฝ่ายทหารมีการควบคุมไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างไรบ้าง

เป็นอันว่าผมต้องเรียนรู้ของใหม่โดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบวิชา

 

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้เก่าแก่เกิน 40 ปีทั้งสิ้น แต่ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวอีกครั้งหนึ่งเพราะเห็นว่าเรื่องยังไม่ล้าสมัยเลย

ในขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนกฎหมายของเมืองไทยต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปให้ทันกับยุคสมัย ผมมีความสงสัยว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนทหารของเรามีการพูดถึงโลกสมัยใหม่ในแง่มุมใดบ้างหนอ

ประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเปราะบางแต่มีความสำคัญมากเช่นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเมื่อมาอยู่คู่กันแล้วจะเกิดผลอย่างไรบ้าง

ในสายตาของผม ความมั่นคงของชาติจะมีไม่ได้เลย ถ้าชาตินั้นปราศจากความยุติธรรม

ทหารเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียนทหารต่างๆ ถ้าได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวทั้งสำหรับการทำหน้าที่เป็นทหารผู้ถืออาวุธขณะเดียวกันก็เป็นประชาชนพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศด้วย

คราวนี้ก็เลยหวนมาห่วงทหารอายุมากสิครับ เพราะคนแก่วัยเกินเรียนนี้ยากที่จะรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ถ้าท่านเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยพร้อมกับผมเรียนอยู่ปีสี่ที่จุฬาฯ ก็ต้องไม่ลืมว่าเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปีแล้ว โลกของเราในช่วงเวลาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมาก มากเกินกว่าจะได้คำว่า “พอสมควร” เสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

กติกาบางอย่างในกองทัพที่ใช้มานานกว่า 70 ปีแล้ว เคยคิดกันบ้างไหมครับว่าสมควรหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อพูดคุยทบทวนกันสักครั้งหนึ่ง

ยกตัวอย่างให้ดูก็ได้ครับ ผมขออนุญาตพูดถึงข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ.2495 ซึ่งแน่นอนว่ามีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ไปเมื่อไม่นานมานี้

ก่อนจะไปไกลมากกว่านี้ ในฐานะคนสนใจภาษาไทยขอขยายความหน่อยครับว่า “เบี้ยหวัด” คำนี้ แต่เดิมหมายถึงเงินที่จ่ายเป็นรายปี เบี้ยนั้นแปลว่าเงินแน่ ส่วนหวัดนั้นมาจากคำว่า วรรษ หรือ พรรษา ซึ่งแปลว่าปีนั่นเอง แต่อยู่ไปอยู่มาคำว่าเบี้ยหวัดตามข้อบังคับที่ออกชื่อมาแล้วข้างต้นไม่ได้จ่ายเป็นรายปีนะครับ

หากแต่จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งก็มีสภาพปฏิบัติเหมือนเงินเดือนนั่นเอง

 

ใครเป็นคนได้เบี้ยหวัดบ้าง

ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดคือคนที่เคยเป็นนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารชั้นประทวนเป็นเวลาตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แล้วต่อมาพ้นจากราชการ บุคคลนั้นก็จะได้เบี้ยหวัดเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินเดือนไปอีกหลายปี หรือพูดให้ถูกก็เกินกว่าสิบปี จนกว่าจะเปลี่ยนฐานะเป็นทหารกองหนุนชั้นโน้นชั้นนี้ ซึ่งซับซ้อนยุ่งยากเกินกว่าความเข้าใจของชาวบ้านอย่างเรา จึงจะงดจ่ายเบี้ยหวัด

อ่านให้ดีจะพบว่าต้องเป็นนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารชั้นประทวนเท่านั้นนะครับ พลทหารไม่นับ นี่ก็ฮาเหมือนกัน

สมมุตินะครับ ว่ามีลูกของนายพลคนหนึ่ง น้ำใสใจคอของเจ้าตัวก็ไม่ได้อยากเป็นทหารหรอกครับ แต่คุณพ่ออยากให้ลูกเป็นทหาร เพื่อจะได้มียศติดตัวประการหนึ่ง และถ้าอยู่ในราชการเพียงแค่ปีเดียวก็จะได้เบี้ยหวัดไปอีกยาวนาน

เช่น เจ้าตัวจบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในระดับปริญญาโท เข้ารับราชการทหารก็น่าจะได้เงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท ทำงานไปหนึ่งปีแล้วลาออก แบบนี้ก็จะได้เงินเบี้ยหวัดในอัตราเดือนละ 6,000 บาท โดยไม่ต้องทำงานอะไรเลยไปอีกสิบกว่าปีจนกว่าจะอายุมากแล้วปลดกองหนุนอะไรทำนองนั้น

ล่าสุดเมื่อปีพุทธศักราช 2562 มีการออกกฎหมายใหม่มาฉบับหนึ่ง ใจความสำคัญคือใครที่ได้บำนาญหรือเบี้ยหวัดในอัตราเดือนหนึ่งไม่ถึง 10,000 บาทก็ให้ปรับขึ้นเป็น 10,000 บาททุกรายไป

เมื่อเป็นแบบนี้ คุณหนูลูกท่านนายพลคนที่ว่า ไปรับราชการทหารอยู่หนึ่งปี เมื่อลาออกก็จะได้เงิน 10,000 บาทไปอีกยาวนานเชียวครับ

หนึ่งปีมี 12 เดือน ก็ได้เบี้ยหวัด 120,000 บาท ถ้าได้เงินดังกล่าวอย่างน้อยสิบปี ก็จะรวมเป็นเงินเบี้ยหวัดถึง 1,200,000 บาท แลกกับการไปรับราชการทหารหนึ่งปี โดยในระหว่างนั้นมีตราภูมิคุ้มห้ามความเป็นลูกนายพลติดตัวอยู่ด้วย

อาจจะตั้งบริษัทค้าขายอยู่ที่บ้านของคุณพ่อซึ่งอยู่ในค่ายทหารก็เป็นไปได้

สบายเป็นบ้า

แต่ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ทำราชการมายังไม่ครบ 25 ปี อย่างไรเสียก็ไม่ได้บำนาญครับ อย่างน้อยต้องทำราชการมาสิบปีแล้วจึงจะได้บำเหน็จคือเงินที่จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียวตอนออกจากราชการ อย่าได้คิดใฝ่ฝันไปได้เบี้ยหวัดอะไรกับเขาทำนองนี้เลย

 

เพียงแค่นึกถึงเรื่องเบี้ยหวัดขึ้นมาเรื่องเดียว ก็ทำให้เข้าใจข่าวสารบ้านเมืองขึ้นมาได้ตั้งเป็นกอง ว่าเมื่อสองสามปีก่อนทำไมถึงมีลูกนายพล หลานนายพลคนหนึ่งไปรับราชการทหารแป๊บๆ แล้วลาออก เรื่องมันมีเหตุผลอย่างนี้นี่เอง

เหตุอย่างนี้แหละที่ทำให้เข้าใจแจ้งชัดว่าการปฏิรูปกองทัพก็ดี การปฏิรูปตำรวจก็ดีทำไมถึงได้ยากเย็นนัก เพราะ “การปฏิรูป” จะทำให้ของที่หมักหมมอยู่ใต้พรมผืนใหญ่มาช้านาน เป็นกองขี้ฝุ่นหนาเตอะถูกหยิบยกมาวางในที่แจ้ง ให้ทุกคนได้ช่วยกันปัดฝุ่นทำความสะอาดเสียที

เรื่องที่ผมหยิบยกมาพูดคุยในวันนี้ ผมอยากให้เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจผิดจะตายไป และถ้าผมเข้าใจผิดก็ขอความกรุณาท่านที่เข้าใจถูกได้โปรดชี้แจงมาด้วย

ผมจะได้นอนตายตาหลับครับ

ทุกวันนี้ก็นอนลืมตาโพลงไม่ได้หลับได้นอนอยู่แล้ว นึกว่าสงสารกันเถิดนะครับ